เอ็นจีโอจี้รัฐขยายประกันสุขภาพ ครอบคลุมเเรงงานข้ามชาติไม่ขึ้นทะเบียน
ภาคประชาสังคมเผยแรงงานข้ามชาติจำนวนมากเข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้เด็กผู้ติดตามหายจากระบบเกือบ 5 หมื่นคน ชูโมเดล รพ.วังจันทร์ ยกเลิกจำกัดเรื่องเอกสาร แนะเพิ่มล่ามในสถานพยาบาล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) จัดแถลงข่าว รายงานสถานการณ์เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล ปี2558 “Migrant Crisis to Protection” ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ณ บ้านเซเวียร์ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
โดยภายในเวทีเสวนามีการรายงานสถานการณ์ด้านผู้อพยพย้ายถิ่นและแรงงานข้ามชาติ ประจำปี 2558 เพื่อเสนอเเนะทางออกนั้น นายเสถียร ทันพรม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพบแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจ้างแรงงานอย่างเข้มข้น อาทิ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ตราด เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขถึงนโยบายการประกันสุขภาพให้แก่กลุ่มคนข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติก็ตาม
สำหรับปัญหาและสาเหตุที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อเเรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ประการเเรก คือ การขาดข้อมูลและการรับรู้ เพราะจากการตรวจสอบที่ผ่านมา พบมีแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลในเรื่องการดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพมากนัก โดยเฉพาะนายจ้างที่ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ลูกจ้าง รวมไปถึงการบิดเบือนข้อมูล
"หากไปทำประกันสุขภาพต้องเสียเงินเพิ่มหลายเท่า ทำให้แรงงานข้ามชาติเลือกที่จะไม่ไป และอีกอย่างคือ ข้อจำกัดทางด้านภาษา พบว่า อุปสรรคทางภาษาทำให้การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และแรงงานเป็นไปอย่างลำบาก" นายเสถียร กล่าวยกตัวอย่าง
ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การเข้าถึงการซื้อประกันสุขภาพ พบว่าจะจำกัดเฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ทั้งที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลมักมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ แต่กรณีนี้มีตัวอย่างที่ทำได้จริง โดยไม่ต้องอาศัยข้อจำกัดเรื่องเอกสาร คือ โรงพยาบาลวังจันทร์ จังหวัดระยอง
โรงพยาบาลเเห่งนี้ยึดตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 โดยเปิดช่องให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ โดยใช้เพียงการพิมพ์ลายนิ้วมือ ถามชื่อ-สกุล แล้วให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับรองเท่านั้น จึงอยากให้ทุกโรงพยาบาลยึดเป็นเเบบอย่าง เพื่ออย่างน้อยแรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าถึงการพยาบาลพื้นฐานได้
ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อเเรงงานข้ามชาติ กล่าวด้วยว่า กรณีกระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งยกเลิกสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กแรกเกิดกรณีป่วยหลังคลอด 28 วัน ตามสิทธิในหลักประกันสุขภาพของแม่ (ลงวันที่ 29 มิ.ย.2558) ทำให้พ่อแม่เด็กต้องซื้อประกันสุขภาพหลังคลอดทันที ประเด็นนี้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการบริการของกลุ่มเด็กข้ามชาติแรกเกิด เพราะพบว่าที่ผ่านมามีสถานพยาบาลจำนวนไม่น้อย มีเงื่อนไขไม่ขายประกันสุขภาพให้แก่ผู้ติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเอกสาร จากการสำรวจปี 2558 มีผู้ติดตามหายออกจากระบบมากถึง 40,000-50,000 ราย
"เรื่องนี้สร้างความกังวลใจอย่างมากเพราะ เด็กที่คลอด พ่อแม่จำเป็นต้องนำใบคลอดไปแจ้งเกิด เพื่อขอรับเอกสารในการซื้อประกันสุขภาพให้ลูก ซึ่งหากการดำเนินเอกสารรวดเร็วก็ดี แต่ส่วนมากแล้ว กว่าจะดำเนินเอกสารได้ ก็ผ่านไปหลายสัปดาห์ กรณีแบบนี้ จะส่งผลร้ายต่อเด็กที่คลอดออกมาไม่แข็งแรง เมื่อไม่มีประกันแรกคลอด ทำให้พ่อแม่แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลกันเอง ทำไมชีวิตที่ดีของเด็กเหล่านี้อยู่ตรงไหน เครื่อข่ายฯ จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวน”
นายเสถียร กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอวอนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องหันมาดูเเล เรื่องหลักประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง เบื้องต้นควรยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับเอกสารในการทำบัตรประกันสุขภาพ และสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ควรมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญในภาษาต่างประเทศ เช่น เขมร พม่า เพื่อให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลเกิดความเท่าเทียมกัน
ภาพประกอบจาก http://www.thaihealth.or.th/