เอ็นจีโอ ชี้กรณีพล.ต.ต.ปวีณ ตอกย้ำความล้มเหลวการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ไทย
เปิดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติปี 58 พบกว่า 4 แสนกว่าคนเข้าไม่ถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ด้านเอ็นจีโอ ซัดกรณีการลี้ภัยของ พล.ต.ต.ปวีณ ตอกย้ำความล้มเหลวในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ไทย แนะรัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คนเข้าเมือง - บังคับใช้กฎหมายจริงจัง
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) จัดแถลงข่าว รายงานสถานการณ์เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล 2558 “Migrant Crisis to Protection” ณ บ้านเซเวียร์ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ทางองค์สมาชิกได้ติดตามช่วยเหลือกลุ่มคนย้ายถิ่น และปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด แต่พบว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะกับผู้เสียหายที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย ทั้งในเรื่องความล้มเหลวในการคัดแยกผู้เสียหาย ซึ่งท้ายสุดผู้อพยพจำนวนมากถูกผลักดันออกนอกประเทศทั้งหมด กระทั่งเข้ามาอยู่ในวงจรขบวนการค้ามนุษย์
นายศิววงศ์ กล่าวถึงการใช้กำลังและความรุนแรงในการควบคุมผู้เสียหาย รวมไปถึงการควมคุมเด็กร่วมกับผู้ใหญ่ จนบางครั้งทำให้เด็กได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต อีกประเด็นที่ทำให้ภาพลักษณ์ด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยติดลบ อย่างกรณีที่มีการส่งตัวชาวอุยกูร์และนักกิจกรรมจีนกลับประเทศต้นทาง ซึ่งในทางปฎิบัติผิดหลักสากลอย่างรุนแรง เพราะเป็นการผลักดันให้พวกเขาไปสู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิต
"แนวทางที่รัฐบาลชอบใช้คือการผลัดดันให้ออกไปจากประเทศในช่องทางธรรมชาติที่ประเทศต้นทางไม่รับ โดยเฉพาะกรณีชาวโรฮิงญา ที่ผ่านมาเมื่อกลางปี กลายเป็นว่าเป็นการเปิดช่องทางให้มีการค้ามนุษย์และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแสวงหาผลประโยชน์ ฉะนั้นการให้สถานะทางกฎหมายชั่วคราว ให้สิทธิผู้อพยพแสวงหาความยุติธรรมเต็มที่ จะเป็นการช่วยหยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์ได้"
ทั้งนี้ นายศิววงศ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีการขอลี้ภัยของพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรงฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพล.ต.ต.ปวีณก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันที่มีต่อชุดสืบสวน เพราะคดีดังกล่าวมีทหารระดับสูงพัวพันอยู่ด้วย การขอลี้ภัยในครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลยังคงส่งเสริมให้ขบวนการค้ามนุษย์สามารถเติบโตได้อีกครั้งในวันที่สังคมไทยไม่ได้สนใจ ติดตามตรวจสอบเพียงพอ
ด้านนายอดิสร เกิดมงคล กล่าวถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ การต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ยังอยู่ภายใต้วังวนการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะมีมาตรการเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากแนวทางการดำเนินการแล้วยังมีช่องให้นายหน้าเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
สำหรับเรื่องการต่ออายุแรงงานข้ามชาติ นายอดิสร กล่าวว่า ตั้งแต่1 เมษายน- 30 มิถุนายน 2558 มีแรงงานที่มาต่ออายุ ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ หรือ OSS กว่า 1,049,326 คน และได้รับการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยเเล้ว 133,917 คน และมีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามมากกว่า 4 แสนคนที่ไม่ได้ต่อใบอนุญาต ซึ่งสาเหตุเกิดจากแรงงานส่วนใหญ่ยังมีความสับสนในขั้นตอนการดำเนินการและยังไม่มีข้อชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การยื่นขอตรวจสัญชาติซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เคยยื่นไปแล้วก่อนการต่ออายุ และที่ยังไม่ได้ยื่น รวมถึงไม่มีความชัดเจนว่าต้องยื่นซ้ำหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยังมีความสับสนในเรื่องหนังสือรับรองการเดินทางจากประเทศเมียนมาที่มีความล้าช้า และยังมีความสับสันในขั้นตอนการดำเนินการ แรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมส่งกลับประเทศต้นทาง รวมไปถึงการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์