“ทำต่อก็เจ๊ง ถอยหลังก็เจ๊ง” ดร.นวลน้อย ค้านรัฐฟื้นบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
วิชา มหาคุณ แนะรัฐคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจ่ายค่าโง่ให้บริษัทเอกชนงวด 2 และ 3 เหตุมีหลายคดียังค้างคาอยู่ในศาล ด้านภาคประชาชน ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเสนอเปลี่ยนบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์น้ำแทน
วันที่ 17 ธันวาคม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดงานเสวนา "คลองด่าน 2 หมื่นล้าน ... ทำไมต้องเสียค่าโง่" ณ ห้องศรีจุลทรัพย์ 1 ชั้น 10 อาคารศรีจุลทรัพย์ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวดาวัลย์ จันทร์หัสดี ตัวแทนชาวบ้านผู้ปกป้องคลองด่าน และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ร่วมเสวนา
ศ.พิเศษวิชา กล่าวถึงมหากาพย์การทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับมาตรวจสอบนั้น ได้มีการหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เพราะป.ป.ช. ถูกศาลวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กระทั่งปี 2549 ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบคดีนี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดูในเรื่องที่ดินได้มาอย่างไร มีการบังคับให้ออกโฉนดอย่างไร และการบ่อบำบัดน้ำเสีย
“คดีที่ผมเป็นอนุกรรมการฯ เสร็จก่อน จึงมีการส่งฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฯ ก็เห็นด้วยกับ ป.ป.ช. ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะประโยชน์ออกโฉนดไม่ได้ การออกโฉนดเป็นการบังคับ ขู่เข็ญเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
ศ.พิเศษวิชา กล่าวถึงการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน บริเวณตำบลคล่องด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ไม่ได้ต้องการนำมาสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตั้งแต่แรก มีการรวบรวมเพื่อทำสนามกอล์ฟ แต่เจอวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น กู้เงินไม่ได้จึงเปลี่ยนแปลงโครงการขึ้น
“ปัญหาคลองด่านไม่ได้อยู่ที่นายวัฒนา มารวบรวมที่ดินอย่างเดียว แต่ผู้ให้เงิน คือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่า โครงการนี้มิชอบ ต้องรับผิดด้วย เนื่องจากเอดีบีให้บริษัทจากประเทศอังกฤษ เข้ามาศึกษา และพบว่า า ที่ดินคลองด่านทำไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่อ่อน ต้องใช้เงินมหาศาลในการถม เพื่อไม่ให้น้ำทะเลท่วมถึง อีกทั้งอยู่ไกลจากเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งหากบำบัดน้ำเสียแล้ว เมื่อเป็นน้ำจืดปล่อยลงทะเล ปลา หอยจะอยู่ไม่ได้”
ศ.พิเศษวิชา กล่าวเพิ่มเติมถึงลับลมคมในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีการต่อท่อ วางท่อ เพื่อนำน้ำเสียมาบำบัดที่คลองด่านเสียงบประมาณตรงนี้อีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความไม่ชอบมาพากล ที่ NVPSKG joint Venture มีบริษัทนอร์ทเวสต์ ถอนตัว ซึ่งบริษัทที่เหลือก็ไม่มีประสบการณ์ทำบ่อบำบัดน้ำเสียเลย แต่การไปทำสัญญา กลับมีอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติเข้ามา แต่เมื่อบริษัทนอร์ทเวสต์ถอนตัวไปแล้ว ถามว่า เราจำเป็นต้องมีอนุญาโตตุลาการด้วยหรือไม่ ทั้งที่สามารถบอกเลิกสัญญาได้
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลัง ชี้ความรับผิดทางละเมิดฯ ให้นักการเมืองและข้าราชการจ่ายค่าเสียหายทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น ฉะนั้น เงินที่อนุญาโตฯ บอกว่าต้องจ่ายควรนำมาจากเงินจำนวนนี้ อีกทั้งมีหลายคดียังค้างคาอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วคดีแพ่งต้องเดินตามคดีอาญา คือ ความรับผิดทางอาญาเป็นหลัก เป็นไปได้หรือไม่ ชะลอและคิดให้ถี่ถ้วนก่อนจ่ายค่าโง่ให้บริษัทเอกชนออกไปก่อน
ด้านดร.นวลน้อย กล่าวถึงคดีความโครงการคลองด่านที่ค้างอยู่ ทั้งของป.ป.ช. กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องแพ่งและอาญา ภาครัฐซึ่งมีนักกฎหมายเก่งๆ จำนวนมากน่าจะหาวิธีชะลอจ่ายค่าชดเชยให้กับเอกชน จำนวน 9,000 ล้านบาทออกไปก่อน และในอนาคตโครงการทุจริตควรมีการคิดค่าเสียหายทางสังคมประกอบด้วย อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ นำค่าเหล่านี้ใส่เข้าไป เพราะเป็นค่าเสียหายสาธารณะที่ต้องคิดจากเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมมือทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนการทุ่มเงินเพื่อศึกษาจะทำอย่างไรต่อกับโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนั้น ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ประเทศไทยเสียเงินไปกับโครงการคลองด่านมากมายเหลือเกิน ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรกลับไปอ่านรายงานการศึกษาเมื่อปี 2546 ที่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์โครงการนี้ ดีกว่ามาขอเงินงบประมาณอีกก้อนศึกษาซ้ำอีก
“ดิฉันพูดมาตั้งแต่ปี 2544 โครงการคลองด่าน ทำต่อก็เจ๊ง ถอยหลังก็เจ๊ง มูลค่าต่างๆ ที่กระทบกับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ประเมินเลย หากทำต่อ มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่วินวิน แต่ประเทศชาติ สังคม เจ๊งกับเจ๊ง ฉะนั้นโครงการนี้ต้องกลับมาคิดให้ดีจะทำอย่างไร ”
ขณะที่นางสาวดาวัลย์ กล่าวว่า โครงการคลองด่านได้ให้บทเรียนกับประเทศไทยที่ต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ อนุญาโตฯ ก็ต้องแก้ การทำสัญญารับเหมาก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จ (Turn Key Contract)ก็ต้องแก้
"ภาคประชาชนอยากให้รัฐบาลรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ไม่ควรฟังแต่ข้าราชการเท่านั้น" ตัวแทนชาวบ้านผู้ปกป้องคลองด่าน กล่าว และว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อ นำเสนอรัฐบาลเปลี่ยนบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ให้เป็นศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์น้ำแทน เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ
สุดท้าย ดร.มานะ กล่าวถึงโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นกลโกงชาติ ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นให้ความสำคัญลำดับต้นๆ เป็นนวัตกรรมของความเลวร้ายที่คน 3 กลุ่มสมรู้ร่วมคิดกันโกงประเทศ ดังนั้นคนไทยต้องช่วยกันคิด หยุดหยั้งความเสียหายจากกลโกงชาติครั้งนี้ได้อย่างไร รวมถึงเงินค่าโง่ 9,000 ล้านบาท รวมถึงที่ดิน ที่ป่าชายเลน จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่สูญเปล่า ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ได้