กล้องเว็บแคม600บ.ซื้อ1.5 หมื่น!ชำแหละไส้ในสินค้าห้องเรียนอัจฉริยะพันล.
เปิดหมดทุกรายการ ผลสอบลับ 'สตง.' ชำแหละไส้ในสินค้าห้องเรียนอัจฉริยะพันล. ยุค 'ยิ่งลักษณ์' พบกำหนดราคาสูงเกินจริงเพียบ กล้องเว็บแคมตั้งราคาซื้อ 1.5 หมื่น ท้องตลาดขายแค่ 600 บาท แถมราคาครุภัณฑ์บางรายการซ้ำซ้อน ส่งผลให้รัฐเสียหายหนัก 116 ล้าน
นอกเหนือจากข้อมูลว่า มีผู้อ้างตัวเป็นผู้ประสานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ให้โรงเรียนเลือกว่าจะรับโครงการปรับปรุงห้องเรียน ( E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล ( E – Library) ที่ใช้งบประมาณจากงบแปรญัตติ ปี 2555 ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบความผิดปกติไม่โปร่งใส ในดำเนินงานโครงการหลายประการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นวงเงินนับร้อยล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอไปแล้วนั้น
(อ่านประกอบ : ปั๊มCD-ทีโออาร์ มัดมือ ร.ร.ซื้อของ! เปิดพฤติการณ์ เด็ก'ส.ส.' ห้องเรียนอัจฉริยะพันล.)
การกำหนดราคาจัดซื้อที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงการกำหนดราคาซ้ำซ้อน สินค้าบางรายการไม่พบราคากลางในท้องตลาด ในการดำเนินงานโครงการนี้ ซึ่งส่งผลทำให้งบประมาณรัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. และนำข้อมูลการตั้งราคากลางสินค้าที่ระบุว่ามีปัญหาการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นและมีการกำหนดราคากลางซ้ำซ้อน มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ กลุ่มสินค้าที่มีการการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น
1. เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับครูผู้สอน กำหนดราคากลางเป็นเงิน 23,000 บาท สูงกว่าราคามาตรฐานที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำหนดไว้ ซึ่งอยู่ที่ราคา 18,800 บาท ประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสำนักงาน(จอขนาดไม่น้อยกว่า18 นิ้ว ) ราคา 15,000 บาท และชุดโปรแกรมระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์พร้อมแผ่น CD-ROM ชุดติดตั้ง ราคา 3,800 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นจำนวน 4,200 บาท
2. เครื่องคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัส กำหนดราคากลาง 40,000 บาท ขณะที่ราคากลางมาตรฐานของ สพฐ. อยู่ที่ 35,000 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นจำนวน 5,000 บาท
3. โปรแกรมระบบสารสนเทศสำหรับโรงเรียน กำหนดราคากลาง 250,000 บาท ต่อโรงเรียน สูงกว่าราคามาตรฐาน
-กรณีเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนไม่เกิน 500 คน อยู่ที่ 50,000 บาท เท่ากับว่ากำหนดราคากลางสูงกว่าเป็นจำนวน 200,000 บาท
-กรณีเป็นโรงเรียนขนาดที่มีนักเรียน 1,000 คน อยู่ที่ 99,000 บาท เท่ากับว่ากำหนดราคากลางสูงกว่าเป็นจำนวน 151,000 บาท
4. ระบบงานเครือข่ายสาระการเรียนรู้ กำหนดราคากลางอยู่ที่ 250,000 บาท ขณะที่ราคาซอฟต์แวร์ท้องตลาดสูงสุดอยู่ที่ 35,000 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น 215,000 บาท
5. ระบบกลุ่มสาระภาษาอังกฤษ กำหนดราคากลางอยู่ที่ 210,000 บาท ขณะที่ราคาซอฟต์แวร์ท้องตลาดสูงสุดอยู่ที่ 6,600 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น 203,400 บาท
6. กล้องเว็บแคมสำหรับบันทึกการสอนในชั้นเรียน กำหนดราคากลางเป็นเงิน 15,000 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 600 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น 14,400 บาท
7. กล้องสำหรับบันทึกภาพบรรยากาศในห้องเรียน กำหนดราคากลางเป็นเงิน 16,000 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 2,250 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น 13,750 บาท
8. เครื่องสแกนลายนิ้วมือ กำหนดราคากลางเป็นเงิน 16,000 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 4,900 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น 11,100 บาท
9. เครื่องกระจายสัญญาณไร้สาย กำหนดราคากลางเป็นเงิน 4,500 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 2,300 บาท
เท่ากับว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น 2,200 บาท
@ การกำหนดราคากลางของครุภัณฑ์ซ้ำซ้อน
1. งานติดตั้งและเช็ตระบบสารสนเทศ มีการกำหนดราคากลางเป็นเงิน 150,000 บาท ซึ่งกำหนดรายการแยกต่างหาก จากระบบงานทะเบียนสารสนเทศหลักที่มีการกำหนดราคากลางเป็นเงิน 250,000 บาท
จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า งานติดตั้งและเซ็ตระบบสารสนเทศเป็นงานที่ผู้รับจ้างนำซอฟแวร์ของระบบงานต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในแผ่น CD-ROM มาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งตามหลักของผู้ประกอบการของระบบคอมพิวเตอร์จะเป็นลักษณะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งซอฟต์แวร์ด้วยแล้ว
ดังนั้น งานติดตั้งและเซ็ตระบบสารสนเทศที่มีการกำหนดราคากลางเป็นเงิน 150,000 บาท อาจกำหนดราคากลางที่ซ้ำซ้อนกับระบบงานทะเบียนสารสนเทศหลักและอาจทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเงิน 150,000 บาท
2. ระบบด้านห้องเรียนคุณภาพ จากการตรวจสอบพบว่ามีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะซ้ำซ้อนกันจำนวน 3 รายการ รวมเป็นเงิน 439,000 บาท จึงเป็นการกำหนดราคากลางที่ซ้ำซ้อนหรือกำหนดราคากลางโดยการแบ่งแยกคุณลักษณะเฉพาะของระบบห้องเรียนคุณภาพออกมาเป็นระบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มให้ราคากลางสูงขึ้น
จากการตรวจสอบสังเกตการณ์พบว่าหน้าจอของระบบห้องเรียนคุณภาพเป็นเพียงหน้าจอที่เชื่อมโยง สำหรับการเปิดใช้ระบบงานอื่นๆ เท่านั้น
ทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเงิน 437,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบพบว่า ระบบงานจองห้องเรียน กำหนดราคากลางเป็นเงิน 150,000 บาท มีการกำหนดราคากลางนอกเหนือจากมาตรฐานครุภัณฑ์ของ สพฐ และกระทรวงไอซีที และสำนักงานประมาณ และไม่พบหลักฐานราคาตลาดของซอฟต์แวร์ดังกล่าว หรือคุณลักษณะที่เทียบเคียงราคาในท้องตลาด จึงไม่สามารถตรวจสอบราคาที่ควรจะเป็นได้
ซึ่งการกำหนดราคากลางดังกล่าว เป็นการกำหนดราคากลางโดยไม่โปร่งใส และเป็นราคาที่น่าเชื่อว่าสูงเกินกว่าความจำเป็นในการใช้งานสำหรับโรงเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษา ทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเงิน 150,000 บาท
ดังนั้น จากการตรวจสอบการกำหนดราคากลางของโครงการห้องเรียนคุณภาพสู่มาตรฐานสากลที่มีการกำหนดราคากลางเป็นเงิน 2,500,000 บาท พบว่า มีการกำหนดราคากลางที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น มีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ซ้ำซ้อน และการกำหนดราคากลางที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่มีราคามาตรฐานและไม่พบราคาในท้องตลาด แต่น่าเชื่อว่าสูงเกินกว่าความจำเป็น
ทำให้ส่วนราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่างสูงกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเงิน 1,342,050 บาท ต่อโรงเรียน
ซึ่งมีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 87 โรงเรียน คิดเป็นความเสียหายประมาณเป็นเงินทั้งสิ้น 116,758,350 บาท
(ตอนหน้าว่าด้วยข้อมูลราคากลางสินค้าโครงการห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล)
อ่านประกอบ :
ปั๊มCD-ทีโออาร์ มัดมือ ร.ร.ซื้อของ! เปิดพฤติการณ์ เด็ก'ส.ส.' ห้องเรียนอัจฉริยะพันล.
จับประเด็นร้อน!ห้องเรียนอัจฉริยะฉาวยุค 'ปู' ใครกัน คนใกล้ชิดส.ส.โผล่จัดงบ ?
รัฐเสียหาย 178 ล. คนใกล้ชิด ส.ส. เอี่ยว! สตง.สรุปผลสอบห้องเรียนอัจฉริยะ ยุค "ปู"