จัดอันดับปี 58 ไทยไร้เสรีภาพใช้เน็ต ‘สฤณี’ ยันกด Like ไม่มีความผิด
ผลการจัดอันดับ ปี 58 พบไทยได้ 63 คะแนน ไร้เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต สาเหตุหลักจากจับกุมผู้ใช้ โดยเฉพาะช่วงรัฐประหาร ระบุกดไลก์ไม่ใช่การเผยแพร่สนับสนุน ‘สฤณี’ ยันไม่มีประเทศใดบัญญัติให้ผิด กม.
วันที่ 17 ธันวาคม 2558 มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง จัดสัมมนาประจำปี เรื่อง สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย ปี 2558 ณ ห้องประชุม Paitoon ชั้น 33 โรงแรมวินด์เซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง เปิดเผยถึงภาพรวมเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2558 จากรายงาน Freedom on the net 2015, รายงาน Open Data Barometer เเละรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเเห่งสหประชาชาติว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในสถานะไม่มีเสรีภาพ โดยได้ 63 คะแนน จาก 100 คะแนน (0=เสรีภาพมากที่สุด 100 =เสรีภาพน้อยที่สุด) แบ่งเป็น อุปสรรคในการเข้าถึง (0-25) ได้ 9 คะแนน การจำกัดเนื้อหา (0-35) ได้ 22 คะแนน แต่ที่มีผลต่อมากที่สุด คือ การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (0-40) ได้ 32 คะแนน
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไทยไม่มีเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากมีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ช่วงหลังจากมีการรัฐประหาร โดยเฉพาะการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือกรณียุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และดูหมิ่นกษัตริย์ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
“ไทยมีการจัดทำรายงานเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี ไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพเฉพาะปี 2556 เท่านั้น โดยได้ 60 คะแนน” กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตฯ กล่าว
นายอาทิตย์ ยังกล่าวถึงการกระทำและความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหลายประการ โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตมีความเห็นต่อการกดไลก์ว่า ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุน แม้การเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายยั่วยุปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และหมิ่นกษัตริย์ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา อาจถูกศาลตัดสินให้มีความผิด แต่การแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเนื้อหาดังกล่าว ไม่มีฐานความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ถือเป็นการสนับสนุน เพราะการสนับสนุนต้องเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นขณะที่กระทำความผิด และผู้สนับสนุนต้องมีการกระทำบางอย่างที่ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด ซึ่งการกดไลก์ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขใดเลย
นอกจากนี้การกดไลก์ก็ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ แม้จะมีโอกาสที่ระบบซอฟต์แวร์ของเว็บไซต์สื่อสังคมจะทำการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกดไลก์ต่อไปโดยอัตโนมัติ แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นเจตนาของผู้กดไลก์ ผู้กดไลก์ไม่ได้มีอำนาจควบคุมใด ๆ ในการทำงานของซอฟต์แวร์ดังกล่าว อีกทั้งจะสั่งให้ระงับการเผยแพร่ก็มิได้ มากไปกว่านั้น ผู้กดไลก์ไม่มีอำนาจควบคุมเนื้อหาของข้อความต้นทางที่ตนเองกดไลก์ ซึ่งสามารถถูกแก้ไขโดยผู้สร้างข้อความนั้น ๆ ได้ทุกเมื่อ ทำให้ข้อความที่แสดงให้เห็น ณ เวลาหนึ่ง อาจจะแตกต่างไปจากเวลาที่ผู้ใช้กดไลก์
“ขอเรียกร้องให้มีการระงับใช้มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการแสดงออกในทุกกรณีด้วย” กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตฯ กล่าว
ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวเพิ่มเติมถึงการกดไลก์ไม่ใช่การเผยแพร่หรือสนับสนุนว่า เป็นประเด็นทางธุรกิจ โดยใช้การกดไลก์ กดแชร์ เพื่อการหารายได้ทางโฆษณา ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องทางธุรกิจ จึงเข้าใจได้ว่า เฟซบุ๊กจึงไม่ต้องการให้ผู้ใช้มีสิทธิระงับการเผยแพร่ จึงต้องแยกแยะออกจากประเด็นดังกล่าว
“ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปกดไลก์เพื่อการแสดงออกต่อเนื้อหาที่ชอบ หรือไม่ชอบก็ได้ และหลายคนก็มีเหตุผลอื่น แตกต่างกัน เช่น หากไม่มีการกดไลก์ก็กลัวว่าจะไม่ได้รับเนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊กนั้น และเท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีประเทศไหนที่บัญญัติให้การกดไลก์มีความผิดทางกฎหมาย” ประธานกรรมการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ กล่าวทิ้งท้าย .