คุยเรื่อง "สิทธิแรงงาน" กับรศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ
"คนงานคือกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่ทิศทางการพัฒนาคุณภาพแรงงานในปัจจุบันนั้นค่อนข้างแย่ เรื่องลูกจ้างเป็นตัวความเป็นความตายของเศรษฐกิจไทย แต่เรากลับมองไม่เห็น เวลาจะเพิ่มกำลังซื้อเรามองที่ชาวนาอย่างเดียว แต่ตัวใหญ่คือลูกจ้างเราไม่มอง"
"เมื่อ GDP กว่า 55% มาจากการบริโภค ถามหน่อยเถอะว่า ถ้าคุณอยากเพิ่ม GDP ต้องเริ่มจากตรงไหน" ประโยคคำถามที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลบุคคล ที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558 จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถามขึ้นระหว่างการพูดคุยถึงเรื่องสิทธิของแรงงานในปัจจุบัน
และไม่ทันที่จะได้ตอบคำถาม อาจารย์ณรงค์ ก็อธิบายให้ฟังต่อทันทีว่า ถ้าจะเริ่มก็ต้องเริ่มที่กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย เพราะถือเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในสังคม มีอัตราการใช้จ่ายที่เยอะมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนอื่น
แต่ปัจจุบันด้วยภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องทางการเงินในกระเป๋าของผู้ใช้แรงงานลดลง ความคึกคัก กระตือรือร้นในการใช้จ่ายจึงลดลงตามไป กว่าจะจับจ่ายซื้อของแต่ละอย่าง คิดแล้วคิดอีก
ยิ่งกลุ่มแรงงานที่มีอายุเฉลี่ย 35 -40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีครอบครัว มีลูกต้องเลี้ยง บางครอบครัวต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชราด้วย ภาระในการเลี้ยงดูเหล่านี้ส่งผลอะไร
อาจารย์ณรงค์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อรายได้ปกติไม่สามารถเลี้ยงดูคนหลายคนได้ แรงงานส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะทำงานล่วงเวลา หรือที่เราเรียกว่า OT ซึ่งนั่นทำให้เวลาที่จะอยู่กับครอบครัว อยู่กับลูกน้อยลงเช่นกัน
บางคนเลือกที่จะส่งลูกกลับไปอยู่กับปู่ยา ตายายที่ต่างจัหวัดแทน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้เลยว่า สภาพครอบครัวแรงงานเป็นสภาพครอบครัวแปลกแยก พ่อแม่อยู่ที่หนึ่ง ลูกอยู่อีกที่หนึ่ง สายใยสัมพันธ์ไม่แข็งแรง
เพราะถ้าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือในบ้านพักใกล้ที่ทำงาน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้น หรือถ้ามาอยู่จริง แล้วพ่อแม่ต้องทำล่วงเวลาด้วย ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ออกไปทำงานตอนหกโมงเช้า แต่ลูกไปโรงเรียนตอนเจ็ดโมง ช่วงหนึ่งช่วงโมงนั้น ลูกก็อยู่คนเดียว หรือกลับมาช่วงเย็น ลูกเลิกเรียนบ่ายสาม แต่พ่อแม่ต้องทำงานล่วงเวลาถึงสามทุ่ม กว่าจะถึงบ้านสี่ทุ่มลูกหลับไปแล้ว เวลาที่จะอยู่ด้วยกันแทบไม่มี
ถามว่า แล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ดีอย่างไร ในเมื่อคนงานเหล่านั้นเลือกแล้วที่จะได้เงินเพิ่ม ส่วนนายจ้างก็ลดภาระในการจ้างงานคนเพิ่ม ก็ดูเหมือนจะวินวินกันทั้งสองฝ่าย อาจารย์ณรงค์ ผู้ซึ่งทำงานต่อสู้เรื่องนี้มานาน อธิบายให้ฟัง เมื่อพ่อแม่อยู่กับลูกน้อยลง เด็กกลายเป็น "นกเสรี" ที่ไม่มีคนนำทาง
"ถ้าดีก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่ส่งผลไปทางด้านไม่ดีมากกว่า เพราะเมื่อขาดการชี้แนะ ชี้นำที่ดี สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กมี ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient หรือ EQ) และความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (Intelligence Quotientหรือ IQ)ต่ำลงด้วย สุดท้ายกลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ของไทยเราจึงขาดประสิทธิภาพ"
ยิ่งในยุคที่สื่ออยู่ในปลายนิ้วมือแล้วด้วย เขาเห็นว่า การถูกชักนำยิ่งง่าย แต่ทว่าซับซ้อนและแยบยล ไม่แปลก หากวันนี้เราจะได้ยินข่าวว่าเด็กอายุไม่ถึงยี่สิบปีฆ่าคนมาแล้วหลายศพ เพราะความฉลาดทางอารมณ์หรือ อีคิว ของคนรุ่นใหม่เราน้อยมาก
ถึงตรงนี้ เราหลายคนอาจมองเห็นว่า แค่ปัญหาเรื่องการทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้เงินเพิ่มมากขึ้น ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มของอีกหลายๆ ปัญหาในสถาบันครอบครัว และส่งผลต่อสังคมโดยกว้าง
แล้วทำไมเราไม่ต่อรองกับนายจ้าง หรือผู้ดูเเลในด้านนี้ อาจารย์ณรงค์ อธิบายประเด็นนี้ด้วยน้ำเสียงจริงจัง และหนักแน่นว่า เพราะพัฒนาการของระบบทุนไปไวมาก จนกระทั่งแรงงานที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ไม่สามารถปรับได้ทัน สิ่งที่บอกเหตุคือ การรวมตัวเพื่อปกป้องตัวเอง มันมีความไม่เเข็งแรง ลักษณะการรวมตัว เป็นการรวมตัวที่อยู่ในวงแคบๆ และเป้าหมายแคบๆ และดูเหมือนรัฐบาลเองหรือนายจ้างก็ส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น
ก่อนยกตัวอย่างเช่น การสร้างอำนาจต่อรองเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปกป้องสิทธิตัวเองได้ แต่การรวมตัวเพื่อต่อรองในบ้านเรานั้นอ่อนแอมาก
"พูดถึงสมาชิกสหภาพแรงงานของไทยเรา มีประมาณ 3% ของแรงงานที่สามารถเป็นสมาชิกได้ หรือที่เรียกว่าลูกจ้าง ทั้งรัฐและเอกชน 17 ล้าน เรามีลูกจ้างเอกชน 14 ล้านคน จากทั้งหมดนี้ สามารถรวมตัวกันได้เพียงแค่ 3% เท่านั้นเอง ถือว่าต่ำมาก และนั่นทำให้อำนาจการต่อรองค่อนข้างต่ำมาก
ในขณะเดียวกันรัฐหรือนายทุนนั้น ก็มีวิธีการเอาตัวรอดโดยการเสนอให้ทำล่วงเวลา จากที่เมื่อก่อน เรารวมตัวกันเพื่อต่อรองค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่ทางผู้ประกอบการเสนอให้ทำล่วงเวลาได้ กลายเป็นว่า คนงานถ้าไม่ทำล่วงเวลาก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น จากทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง ก็มาเป็น 12ชั่วโมง
ถ้าเราดูเฉยๆ ก็เหมือนจะดีเเล้วนี้ คนพวกนี้ขยันมีรายได้เพิ่ม ก็ดีเเล้ว แต่ผลกระทบทางสังคมแรงมาก แต่ไม่มีใครมองเลย"
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองให้เห็นอนาคต เมื่อคนเหล่านี้ อายุ 55 ปีขึ้นไปเข้าสู่ช่วงการปลดเกษียณ ถามว่าเมื่อถูกปลดเกษียณจะมีปัญหาอะไรตามมา ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย อย่างเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะตลอดช่วงที่ทำงาน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ เช่าบ้านอยู่ พอถูกปลดเกษียณ เงินเดือนไม่มี เบี้ยเลี้ยงหลังเกษียณ 3,000 บาท ถามว่าจะพอค่าเช่าไหม ไม่พออยู่เล้ว
"เราจึงมักได้ยินวาทะกรรมติดหูที่ว่า "สังคมไทยเป็นสังคมที่ เราแก่ก่อนที่เราจะรวย" คือเราไม่มีการฐานในชีวิตเพื่อรองรับเมื่อเข้าถึงวัยเกษียณ หวังจะพึ่งจากลูกหลาน ก็ไม่ได้อีก เพราะพวกเขาถูกเลี้ยงดูมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นสภาพแรงงานของไทยเรายังสู้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไม่ได้
เรื่องสำคัญเหล่านี้ไม่ค่อยมีการพูดถึงรัฐไม่ได้พูดถึง ทั้งๆ ที่คนงานคือกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทิศทางการพัฒนาคุณภาพแรงงานในปัจจุบันนั้นค่อนข้างแย่
ยกตัวอย่างครอบครัวแรงงานอยู่กันครบในห้องเช่าห้องเดียวกัน พ่อแม่ลูก ถามหน่อยเถอะว่า เด็กพอเริ่มเข้าวัยรุ่นจะเป็นอยู่อย่างไร ปัญหาเล็กๆ แบบนี้ที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ กลับไม่มีใครมองเลย"
อาจารย์ณรงค์ กล่าวด้วยน้ำเสียงกังวล
ขณะที่เรากำลังคิดทบทวนกับต้นตอของปัญหาอยู่นั้น อาจารย์ณรงค์ อธิบายเสริมเพื่อให้เห็นภาพมากอีกขึ้นว่า สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องเร่งทำคือการให้ความสำคัญกับคุณภาพของครอบครัวแรงงานให้มากกว่านี้ ทำอย่างไรครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน และที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้มีบ้านเป็นของตัวเอง เพราะเมื่อเกษียณออกไป อย่างน้อยก็ยังมีบ้านอยู่ได้
อย่างโครงการบ้านๆ ต่างที่ทำขึ้นมา ไม่ได้คิดที่จะรองรับคนงาน แต่คิดจะรับคนสลัมอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนอาจมีคนงานอยู่บ้าง แต่ถ้าทำโครงการบ้านให้คนงานอยู่นั้นง่ายกว่า สามารถที่จะเจรจากับเจ้าของโรงงาน นายจ้างต่างๆ แล้วก็สร้าง หรือให้เช่าที่ดิน
"ยกตัวอย่าง เช่าที่ดิน 50 ปี ซึ่งคนงานสามารถไปร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือพอช. ก่อสร้างบ้านได้เอง ซึ่งผมกำลังทดลองทำอยู่ บ้านที่ผมสร้างให้พื้นที่ว่าง 50 ตารางวา เพราะฉะนั้นพวกเขายังสามารถปลูกผัก กินเองได้ ราคาหลังหนึ่งตกอยู่ที่ 350,000 บาท อยู่ไม่ห่างจากโรงงานที่ทำงาน เดินทางสะดวก โมเดลที่ผมทำขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะทำสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ในกรุงเทพ ต้องเป็นรอบๆ กรุงเทพ แต่ถ้าเราให้เอกชนทำจะยากหน่อย เพราะเอกชนจะมองที่กำไรเป็นตัวสำคัญ ซึ่งก็ปฎิเสธไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่รัฐต้องหาวิธีการเข้ามาจัดการ
ผมคิดว่าคนที่ไร้ที่อยู่อาศัยคือกลุ่มคนแรงงาน เพราะคนเหล่านี้เช่าบ้านอยู่ ทุกคนคิดว่า ปลดเกษียณกลับบ้าน ถามว่ากลับบ้านไปทำอะไรต่อ ที่ดินยังเหลืออยู่อีกไหม ปัญหาเหล่านี้ ระบบบ้านเราไม่ได้คิดรองรับไว้ เพราะอย่าลืมว่าแนวโน้มคนแก่จะมากขึ้น แต่การรองรับหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานกลับยังไม่มี สิทธิของคนงานสัมพันธ์กับวิธีการจ้างงาน และวิธีการควบคุมคนงานของรัฐบาล
ที่ผ่านมาเราพบว่า การจ้างงานในบ้านเราไม่มีการพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัยของคนงานเลย"
ย้อนกลับมาที่เรื่องสำคัญที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพยายามเพิ่มให้ได้มากที่สุดนั่นคือ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือเราเรียกติดปากว่า GDP ที่รัฐบาลออกมาบอกว่า ปีหน้าเราจะโตขึ้นอีก 3-4% อาจารย์ณรงค์ ชี้ว่า ตอนนี้ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้เลยว่า เมืองไทยอย่างมากได้แค่ 2.5 %
" GDP ปัจจุบัน55% มากจากการบริโภค และอีก 22% มาจากการลงทุน 10%มาจากงบประมาณรัฐบาล ในเมื่อ 55% มาจากการบริโภค เงินที่บริโภคมากจากไหน ก็มากจากรายได้ประชาชาติ ซึ่งคือรายได้ในกระเป๋าของทุกคน แล้วรายได้ของของคนกลุ่มไหนมากที่สุด ก็คือ 41%ของรายได้ประชาชาติ คือรายได้ของลูกจ้าง 37% มาจากเกษตรกรสองตัวนี้รวมกันก็ 78% ไปแล้ว
พอค่าจ้างเพิ่มไม่ได้ บวกกับสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อไม่มี เศรษฐกิจก็ทรุด สิ่งเดียวที่ทำได้ อาจารย์ย้ำว่า คือการเพิ่มเงินในกระเป๋าคนงานนั่นเอง"
แต่ตอนนี้ เราไปมองว่า ถ้าปล่อยให้คนงานรวมตัวเพิ่มค่าจ้าง เศรษฐกิจจะไปไม่รอด อาจารย์ณรงค์ บอกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะจริง แต่ถ้าเราให้ความรู้กับคนงาน มีการพูดจาพาทีกันดีๆ การเรียกร้องก็สามารถทำได้ในรูปแบบการเจรจาบนโต๊ะ เพราะการถูกจำกัดให้เข้าถึงการเจรจา คนก็เลยต้องรวมตัวกัน
"รัฐบอกค่าจ้างขึ้นไม่ได้ เพราะมีปัญหาโดยเฉพาะกับ SMEs ซึ่งก็จริง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะรัฐบาลมองข้ามคู่แข่งสำคัญไป นั่นคือ การแข่งขันจากจีนที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้ SMEs ของไทยเจ๊ง เพราะเราผลิตแพงกว่า ตอนนี้สินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด ทั้งตลาดเกษตร ตลาดอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบอย่างหนักกับธุรกิจ SMEs แต่เรามองแค่เรื่องค่าจ้างอย่างเดียว จริงๆ ถ้าเราเพิ่มได้ และมีตลาดให้ กำลังซื้อคนมากขึ้น ก็ช่วยเศรษฐกิจกลับมาได้ แต่ตอนนี้เราอวยแต่จีนอย่างเดียวเลย เราไม่รู้ว่า SMEs ไทยอยู่ได้ สินค้าเหล่านั้นต้องมีตลาด
แล้วเงินกองทุนประกันสังคม 1.4 ล้านล้านบาทล่ะ แรงงานจะมีสิทธิอะไรบ้างจากตรงนี้ อาจารย์ณรงค์ อธิบายให้ฟังว่า ในหลักการของสิทธิ เงินก้อนนี้เป็นของคนงาน พวกเขามีสิทธิในการบริหารจัดการในเงินก้อนนี้ เพราะเป็นของของเขา แต่กลับไม่มีสิทธิ
"ผมเคยเสนอให้ขายพันธบัตรในกองทุนประกันสังคม แล้วเอาเงินจัดทำธนาคาร ก็ไม่ทำ แต่รัฐบาลสามารถเอาเงินภาษี 7 หมื่นล้านบาท ไปภาคเกษตรได้ ไปให้ชุมชนได้ เพื่อที่กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ถามว่า เเล้วนั้นเป็นเงินใคร เงินภาษีโดยรวมของทุกคนในประเทศ แต่นี่เป็นเงินของคนงานเองกลับไม่สามารถจัดการได้ ทำไมรัฐไม่จัดสรรให้พวกเขา แปลว่าอะไร ตอนนี้คนงาน พอค่าล่วงเวลาไม่มี สภาพยิ่งหนักไปอีก เพราะไปกู้เงินนอกระบบ บางแห่งดอกเบี้ยสูงถึง ร้อยละ20 ต่อเดือน
คำถามคือทำไมรัฐบาลไม่เอาเงินก้อนนี้มาเข้าระบบ และให้มีการกู้ยืมดอกเบี้ยถูกๆ เพื่อจัดการหนี้เก่า อย่างตอนนี้เงินก้อนนี้ ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทอยู่ในมือรัฐบาลแล้ว แต่ไม่เคยบอกว่าเอาไปทำอะไร"
อาจารย์ณรงค์ ตั้งคำถามถึงเงินของกองทุนก้อนใหญ่คือ เงินประกันสังคม แต่กลายเป็นว่า เจ้าของเงินไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ในการจัดการ
ก่อนจะจบการสนทนา เขาทิ้งท้ายด้วยว่า เรื่องลูกจ้างเป็นความเป็นความตายของเศรษฐกิจไทย แต่เรากลับมองไม่เห็น เวลาจะเพิ่มกำลังซื้อเรามองที่ชาวนาอย่างเดียว แต่ตัวใหญ่คือลูกจ้างเราไม่มอง
"ผมยังแปลกใจว่าคุณเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศให้เกษตรกร ซึ่งก็ดี แต่ถามว่าจะกระตุ้นได้อย่างไร ในเมื่อตัวหลักคือลูกจ้าง ซึ่งเงินลูกจ้างก็มีน่ะ 1.4 ล้านล้านบาท ไม่เอามาใช้ ไม่รู้ว่าเอาไปใช้กับอะไร แล้วคุณล่ะรู้ไหมคุณนักข่าว" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ถามกลับ ก่อนที่สื่ออย่างผมจะส่ายหัวตอบ แล้วอาจารย์ก็ปิดการสนทนาว่า "เห็นไหมแค่สิทธิที่จะรู้ว่าเงินอยู่ตรงไหน ยังไม่มีเลย ชาวบ้านธรรมดานี้ลืมไปได้เลย"
ขอบคุณภาพอ.ณรงค์ประกอบหัวเรื่องจากเว็ปไซต์ http://www.posttoday.com/media/content/2015/06/07/F671D8BA7EC54A488A1B489809A4F902.jpg