ดร.ณรงค์ แนะจีดีพี โตได้ต้องมองกลุ่มคนใช้แรงงานเป็นหลัก
รศ.ดร.ณรงค์เผย สิทธิของแรงงานไทยต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ILO พร้อมชี้ว่า GDP ไทยจะไม่โต หากไม่เร่งกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศ ยกกลุ่มคนแรงงานคือหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
รองศาสตราจารย์ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ด้านส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็กเยาวชนหรือครอบครัว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงสิทธิแรงงานว่า ปัจจุบันกฎหมายในเรื่องสิทธิของแรงงานนั้น ดีกว่าเดิมมาก แต่ในแง่การบังคับใช้นั้นยังแย่อยู่ และอาจจะแย่กว่าในยุคปี 2516 ด้วยซ้ำ
"ปัจจุบันสิทธิของแรงงานไทยนั้น มีมาตรฐานต่ำกว่าที่กำหนดโดย International Labour Organization หรือ ILO เราต่อสู้เรื่องนี้มากกว่า 20 ปี ก็ยังไม่เป็นผล สิทธิเสรีภาพในการรวมตัว ในการต่อรองรัฐบาล ไม่มีอำนาจต่อรอง อ่อนแอมาก จนไม่สามารถรักษาสิทธิของตัวเองได้"
เมื่อถามถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการลดภาษีเพื่อจูงใจการลงทุน รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การกระตุ้นการลงทุนด้วยลดเรื่องภาษี ซึ่งคำนวนแล้วอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท เท่ากับรัฐบาลลงทุน 4 แสนล้านบาทนั้นจะได้คืนหรือไม่เพราะหากคิดแบบการลงทุนปกติ
"วิธีการของตลาด ถ้าคุณให้ประโยชน์แก่ธุรกิจ 4 แสนล้านบาท เขาจะไปเร่งรัดกดดันในการเพิ่มเงินกับลูกจ้าง เมื่อมีรายได้สูงขึ้น รัฐบาลค่อยเก็บภาษีกลับจากค่าใช้จ่าย ลงทุน 4 แสนล้านบาท ได้กลับมา 2 แสนล้านบาทก็ยังดี แต่ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ ไม่มีเรื่องนี้เลย ค่าจ้างไม่ขึ้นแต่นายทุนได้กำไรไปแล้ว เมื่อเเรงงานไม่ได้อะไรเลยจากตรงนี้ ก็กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะอย่าลืม เศรษฐกิจโตได้ กำลังซื้อต้องสูงด้วย"
นอกจากนี้ รศ.ดร.ณรงค์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP 55% มาจากการบริโภค ฝ่ายรัฐบาลชอบพูดว่าการส่งออกเป็น 77% ของ GDP คำว่าเป็น 77% นั้นหมายถึง มีมูลค่าเป็น 77% ต่างหาก แต่ไม่ได้แปลว่าการส่งออกสร้าง GDP 77% เพราะเราส่งออกแล้วเรายังนำเข้าด้วย ตอนนี้การส่งออกและนำเข้าเท่ากัน ไม่มีสุทธิ พอไม่มีสุทธิก็ไม่ใช่ตัวที่จะมา สร้าง GDP เพราะ GDP ต้องส่งออกลดนำเข้า ถึงจะสร้าง GDP ได้
"GDP ปัจจุบัน55% มากจากการบริโภคและอีก 22% มาจากการลงทุน 10%มาจากงบประมาณรัฐบาล ในเมื่อ 55% มาจากการบริโภค เงินที่บริโภคมากจากไหน ก็มาจากรายได้ประชาชาติ ซึ่งคือรายได้ในกระเป๋าของทุกคน แล้วรายได้ของของคนกลุ่มไหนมากที่สุด ก็คือ 41%รายได้ประชาชาติ คือรายได้ของลูกจ้าง 37% มาจากเกษตรกรสองตัวนี้รวมกัน78% ไปแล้ว พอค่าจ้างเพิ่มไม่ได้ บวกกับสิ้นค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อไม่มี เศรษฐกิจก็ทรุด จะไปหวังส่งออกอย่างเดียวไม่ได้"
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า การไปเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อหวังจ้างแรงงานราคาถูกจากเพื่อนบ้าน แต่แรงงานได้เงิน ก็กลับไปใช้จ่ายในบ้านตัวเอง สุดท้ายกำลังซื้อในประเทศก็ไม่ฟื้นอยู่ดี ฉะนั้นเวลามองต้องมองให้รอบด้าน ไม่ใช่เพิ่มการลงทุนแล้วทุนไปกระจุกกับนายทุนอย่างเดียว ต้องให้ไหลลงสู่คนด้านล่างด้วย
"เศรษฐกิจไทยถึงเวลาเเล้วที่จะต้องดึงกำลังซื้อที่กองอยู่กับนายทุน ลงมาให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าเราเลือกที่จะส่งเสริมการลงทุน ก็ทำให้กองเงินตรงนี้สูงขึ้นไปอีก ทำอย่างไร ให้กำลังซื้อกลับมา"รศ.ดร.ณรงค์ กล่าว และว่าง่ายที่สุด เพิ่มค่าจ้างอย่างเดียวแต่รัฐบาลไม่เลือกใช้แน่นอน หรือถ้าไม่เพิ่ม ต้องเก็บภาษี แต่ก็กลายเป็นว่าเราลดภาษี แล้วสุดท้าย GDP จะเพิ่มได้อย่างไร ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้เลยว่า GDP เมืองไทยปีหน้า อย่างมากได้แค่ 2.5 %"
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องลูกจ้างจึงเป็นความเป็นความตายของเศรษฐกิจไทย แต่เรากลับมองไม่เห็น เวลาจะเพิ่มกำลังซื้อเรามองที่ชาวนาอย่างเดียว แต่ตัวใหญ่คือลูกจ้างเราไม่มอง แปลกใจว่าคุณเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศให้เกษตรกร ซึ่งก็ดี แต่ถามว่าจะกระตุ้นได้อย่างไร เมื่อตัวหลักคือลูกจ้าง เงินลูกจ้างก็มี ในกองทุนประกันสังคม 1.4 ล้านล้านบาท ไม่เอามาใช้ ไม่รู้ว่าเอาไปใช้กับอะไร