"จ่านิว"กับมุมมองปัญหาชายแดนใต้ "ความเป็นชาติไทยไม่ได้มีก้อนเดียว"
"จ่านิว" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันติดปากในทางสาธารณะและสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งเจ้าตัวเคยออกมาบอกว่า ไม่ค่อยชอบให้ใครเรียกสักเท่าไหร่
สิรวิชญ์ เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เคยเป็นสมาชิกสภานักศึกษาช่วงปี 1 และปี 2 ก่อนจะออกมาสมัครเป็นนายกองค์การนักศึกษาช่วงปี 3 แต่ไม่ได้รับเลือก จนถึงที่สุดได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ก่อตั้ง "สภาหน้าโดม" ซึ่งเคยเป็นกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 กลับมาอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าสังคมไทยต้องการพื้นที่สื่อสารเพื่อหาทางออกในประเด็นปัญหาต่างๆ ร่วมกัน
ที่ผ่านมาหลายคนรู้จัก สิรวิชญ์ ในฐานะนักศึกษา นักกิจกรรมที่ชอบออกมาประท้วงเรียกร้องประเด็นต่างๆ อาทิ ยกเลิกระบบรับน้อง, ปฏิรูประบบการศึกษา แต่ภาพที่คุ้นตาผู้คนในสังคมระยะหลัง คือ ภาพที่เขาถูกรายล้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ล่าสุดก็ในเหตุการณ์ถูกควบคุมตัว ขณะพามวลชนเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ในกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558
มิติที่สังคมรู้จัก สิรวิชญ์ คือการเคลื่อนไหวประเด็นการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะอุทยานราชภักดิ์ และต่อต้าน คสช. แต่น้อยคนที่จะทราบว่า เขาสนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย และเคยลงไปในพื้นที่หลายครั้ง
ล่าสุด ก่อนไปเคลื่อนไหวประเด็นอุทยานราชภักดิ์เพียงไม่กี่วัน สิรวิชญ์ ก็เพิ่งเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ และได้ให้สัมภาษณ์เปิดมุมมองเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบและความขัดแย้งในดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่ยืดเยื้อมานาน
O ประสบการณ์ ความรู้สึก เมื่อเดินทางไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไรบ้าง?
ผมไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ตอนไปครั้งแรกๆ ก็กลัว จำได้ว่าตอนนั้นนั่งรถตู้จากหาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา) ไปปัตตานีเพื่อไปหาเพื่อน พอเข้าเขต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (รอยต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็เริ่มรู้สึกกลัว แต่พอถึงปัตตานี ความรู้สึกกลัวเริ่มคลาย แต่ก็รู้สึกแปลกๆ บ้าง เพราะเห็นด่านทหารมากมาย เห็นความไม่เป็นปกติ เป็นความรู้สึกกลัวในสถานการณ์ที่คนรอบตัวอยู่เป็นปกติ
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็มองเห็นสิ่งพิเศษ เห็นอัตลักษณ์แปลกๆ มีธรรมชาติสดชื่นที่กรุงเทพฯไม่มี ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เป็นลวดลายที่ลงตัว มีเสน่ห์ ทำให้หลังจากนั้นจึงไม่ปฏิเสธที่จะไปทำกิจกรรมที่สามจังหวัด และไปเจอเพื่อนๆ นักกิจกรรมที่นั่น
O ภาพสามจังหวัดใต้ก่อนที่จะลงไปสัมผัสจริงๆ เป็นอย่างไร?
ทีแรกก็คิดว่าเหมือนไปผจญภัย ต้องไปหลบระเบิด แต่คิดอีกที...ยังเคยบอกแม่ตอนจะลงไปว่า ที่เรากลัวเพราะเราดูข่าว เห็นในข่าวที่ชอบนำเสนอแต่เหตุการณ์รุนแรง เหตุระเบิด แม่ก็ถามย้ำตอนนั้นว่าแน่ใจหรือยัง จึงคิดว่าถ้าไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราต้องประเมินสิ่งที่อยู่รอบตัวเราบ่อยๆ ผมกลัวระเบิดมากที่สุด ขออย่าได้เจอ แต่เมื่อเรามาคิดอีกที ตอนเราอยู่กรุงเทพฯ ก็รู้สึกเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง หากเราตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เรามีสติ มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
O สิ่งที่ได้เรียนรู้และอยากสะท้อนให้สังคมได้รับรู้มีอะไรบ้าง?
ที่อยากสะท้อน คือ คนที่นั่นก็ไม่ต่างจากคนที่อื่นๆ เมื่อเรามองในมิติความเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้รู้สึกแตกต่าง อาจเป็นเพราะผมมีเพื่อน มีญาติที่เป็นมุสลิม ผมรู้สึกว่าภาพของคนมุสลิมที่ถูกบางฝ่ายมอง ทำให้น่ากลัวแบบเหมารวม
อีกอย่างที่ผ่านมาสังคมไทยมองว่า กลุ่มต่อต้านรัฐเป็นโจร เป็นกลุ่มคนชั่วร้าย แต่เมื่อเรามีฐานคิดเรื่องการเมืองการปกครอง เรียนรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ การจัดการที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาสิทธิมนุษยชน ทำให้เราเริ่มรู้จักกลุ่มต่อต้านรัฐในปัจจุบันมากขึ้น ประเด็นเหล่านี้มันมีความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ผมอาจไม่รู้ว่ามันมีความเหลื่อมล้ำอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรง มันพอเข้าใจได้ว่าต้องมีความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างในพื้นที่แห่งนี้
O สิ่งที่ประทับใจที่สุดเมื่อไปเยือนชายแดนใต้?
ผมประทับที่สุด คือ อาหารการกินที่นั่นค่อนข้างหลากหลาย มีวัฒนธรรมการกินดื่มที่น่าสนใจ โดยเฉพาะวัฒนธรรมวงน้ำชา ที่นั่นมีร้านน้ำชาเยอะมาก ที่อื่นไม่ค่อยมี มีบางที่ บางจุด แต่ที่นั่นมีทั่วทั้งในเมืองและในชุมชน วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นวงพูดคุยถกเถียงเชิงปัญญาของคนธรรมดาทั่วไป ทุกครั้งที่ผมนั่งดื่มชากับเพื่อนก็จะพบเห็นบรรยากาศเหล่านี้
ความหลากหลายของผู้คน และการแสดงอัตลักษณ์ของตนเองออกมาเป็นเรื่องปกติ ผู้คนที่นั่นมีความหลากหลายสูงมาก ผมเห็นผู้คนต่างชาติพันธ์อยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกันโดยมีมุมที่อยู่ด้วยกันได้ บางทีก็เห็นการแชร์อัตลักษณ์ซึ่งกันและกัน อย่างเช่นการสนทนาหลายภาษา ทุกคนแสดงอัตลักษณ์ออกมาเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับ มีความกลมกลืนด้วยความหลากหลายแตกต่าง คนที่นั่นแสดงออกมาโดยไม่ได้รู้สึกแปลกแยก ต่างจากความรู้สึกและความคิดของคนในสังคมกรุงเทพฯ ทำให้คิดได้ว่าเราจะหาวิธีแก้ปัญหาความแตกต่างของผู้คนได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางความคิด การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม
บางครั้งเราก็ตกใจกับการที่คนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ภาษาเดียวเมื่อสื่อสารกับเรา ผมมองว่าการชูกรอบคิดความหลากหลายทางภาษานั้น ท้ายที่สุดเราต้องยอมรับมัน ซึ่งคิดว่าพรมแดนของภาษาไม่ได้ปิดกั้นการเรียนรู้ การสัมพันธ์กัน ซึ่งที่อื่นมีภาษาถิ่นเหมือนกัน แต่ที่นั่นมีการสื่อสารภาษาถิ่นอย่างเป็นระบบ คนที่นั่นยังคงรักษาแก่นแท้ รากอัตลักษณ์ได้ดีขนาดนั้นได้อย่างไร ท่ามกลางการถูกหล่อมหลอมด้วยความเป็นไทยอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่พบเจอทำให้ต้องมาทบทวนว่าที่ผ่านมาเรารู้เพียงมิติประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า มีแค่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ อยู่อย่างเป็นก้อนเดียวกัน แต่เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เราตั้งคำถามว่ามีคนพยายามจะทำลายแบ่งแยกความเป็นไทยหรือ แต่เมื่อเรียนรู้ เมื่อสัมผัสกับที่นั่น ผมเลยเข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราไม่ได้เป็นชาติไทยก้อนเดียวเหมือนที่เข้าใจเสมอมา
O มีคำอธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่างสังคมสามจังหวัดกับสังคมไทยอย่างไร?
ส่วนตัวในฐานะคนรุ่นใหม่ เราต้องมองความต่างอย่างละเอียดมากขึ้น มองจากวิธีคิดชุดเดียวเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้อีกต่อไป สิ่งแรกที่ต้องตกผลึก คือ การทำให้เราเป็นพลเมืองของรัฐ ต้องไม่ใช่การหล่อหลอมละลายอัตลักษณ์หรือความต่างให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ต้องลดอัตลักษณ์ของตัวเองลง เพื่อให้การเป็นพลเมืองของรัฐมีการอธิบายอัตลักษณ์ของคนอื่นๆ ในรัฐมากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็จะมีบทเรียนการโต้กลับจากการหลอมรวมความเป็นไทยอยู่ตลอดเวลา
แต่ปัญหาคือชนชั้นนำของไทยและกลุ่มผลประโยชน์ยังไม่เปิด ยังไม่รับความต้องการจากประชาชนมากพอ รัฐยังมีกรอบเหมารวมว่าคนไทยต้องอยู่ในกรอบความเป็นไทย รัฐยังกล่อมเกลาคนไม่ให้มากระทบโครงสร้างของประเทศอย่างได้ผล ผมสนใจว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงสร้างต่อไปจะเป็นอย่างไร จำเป็นจะต้องคำนึงถึงประชาชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผมว่าแนวคิดแบบนี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะมันต้องขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่เป็นผู้กำหนด
O มองอย่างไรกับการแก้ปัญหาสามจังหวัดใต้โดยใช้ความรุนแรง?
ส่วนตัวมองว่าการใช้ความรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ความรุนแรงทำให้งบประมาณลงมา โดยเม็ดเงินก็ไม่ได้ถึงผู้ได้รับประโยชน์หรือผู้ที่เดือดร้อน ความรุนแรงดึงคนดึงอะไรเยอะแยะมากมายที่มาสร้างความซับซ้อน สับสนในพื้นที่
O คาดหวังอย่างไรต่อการแก้ปัญหาสามจังหวัดใต้?
ทั้งชนชั้นนำและสังคมไทยต้องยอมรับว่า ที่นั่นมีปัญหาการเมือง ปัญหาเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาต้องเข้าใจรากเหง้าของปัญหา และยอมรับมันให้ได้ ผมอยากเห็นชายแดนใต้เกิดสันติภาพ ในความหมายที่ว่าไม่ฆ่า ไม่รบ ไม่ทำร้ายกันและมีความยุติธรรมทางสังคม ความเสมอภาค การให้โอกาสที่คนที่นั่นควรพึงมีพึงได้ และมีประชาธิปไตยที่เคารพในการตัดสินใจของประชาชน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายสิรวิชญ์ หรือ จ่านิว ขณะเยือนชายแดนใต้