ประธานกสม. ขันน็อตการทำงาน หลังถูกไอซีซีลดเกรด
กรรมการสิทธิฯ ไทยถูกไอซีซีลดระดับ จาก A เป็น B "วัส ติงสมิตร" ชี้กลับไปแก้อดีตได้ จำเป็นต้องจัดการปัจจุบัน เร่งทำรายงานทั้งแบบรายปี ฉบับครึ่งปี หวังให้การทำงานชัดเจนมากขึ้น
วันที่ 15 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดพิธีมอบรางวัลแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2558 เนื่องในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2558 ณ ห้องแกรนด์ A-B ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเปิดพิธี และมอบรางวัล
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับการเดินหน้าประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน ถือเป็นคลื่นที่ลูก 3 นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา คือ ผลผลิตจากคลื่นลูกแรกและคลื่นลูกที่สอง ที่รวมกันทั้งในเรื่องเสรีภาพทางความคิด การแสดงออก รวมไปถึงสิทธิทางสังคม วัฒนธรรม ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ปัจจุบันเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเปลี่ยนไป ไม่ได้มีแค่เรื่องภายในประเทศเพียงอย่างเดียว
“ตอนนี้เราทุกคนจำเป็นต้องต่อสู้กับภายนอกด้วย ไม่ว่า การต่อสู้กับกลุ่มทุนจากต่างประเทศ การลงทุนจะต้องไม่สามารถจัดตั้งได้ตามอำเภอใจ จำเป็นต้องตรวจว่ามีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิของการเข้าถึงทุนและการลงทุนของประชาชนด้วยหรือไม่ จะมีการจัดการดูเเลข้อจำกัดเหล่านี้อย่างไรต่อไป รวมไปถึงเรื่องร้ายแรงอย่างการก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นต้น”ศ. อมรา กล่าว และว่า สิ่งต่างเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพูดคุยมากขึ้น ตามบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ในส่วนของกรรมการสิทธิฯ นั้น ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เข้ามาดูแล ควบคุมการทำงานของภาครัฐอีกที่หนึ่ง การทำงานเพื่อดูเเลในเรื่อสิทธิจำเป็นต้องวางอยู่บนกรอบของธรรมาภิบาลด้วย
อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยกตัวอย่างเรื่องการซ้อมทรมาณผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางกรรมการสิทธิฯ กำลังพูดคุย ตรวจสอบเพื่อให้เกิดการจัดการขจัดปัญหาเหล่านี้ ฉะนั้นการที่ไทยจะสามารถเข้าไปข้างหน้าต่อไปเรื่องสิทธิฯ เราจำเป็นต้องสร้างให้เกิดการตรวจสอบให้มากขึ้น ต้องยอมให้มีกฎเกณฑ์ที่มากขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของทุกคน
ด้านนายวัส กล่าวถึงการทำงานเชิงรุก ทำอย่างไรให้การทำงานเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถเข้าถึงเราได้ง่ายด้วย
สำหรับงานที่เร่งด่วนสุด ประธานกรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า คือการรักษาในสถานะในเรื่องสิทธิของไทยนั้นยังอยู่ในระดับ A หลังจากที่คณะอนุกรรมการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Sub-Committee on Accreditation หรือ SCA ได้ทำข้อเสนอให้ลดระดับของ กสม. จากสถานะ A เป็น B ต่อคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions หรือ ICC) เมื่อเดือนตุลาคม 2557 นั้น ทาง กสม.ได้พยาายมเร่งให้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.......... ให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นไปตามที่ทาง ICC กำหนด รวมถึงต้องเร่งให้มีการจัดการตรวจสอบที่โปร่งใสมากขึ้น และการทำรายงานที่ล่าช้า ซึ่งหากจะต้องแก้ก็ไม่สามารถกลับไปแก้อดีตได้ จำเป็นต้องจัดการในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการ มีความเห็นให้มีการจัดทำรายงานทั้งแบบรายปี และฉบับครึ่งปีออกมาด้วย เพื่อช่วยให้การทำงานชัดเจนมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คว้ารางวัลดีเด่นส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 58