“แผนกู้วิกฤติอุทกภัยสามพราน เกาะทรงคนอง” : ความหวังรักษาส้มโอสายพันธุ์ดีของประเทศ
อุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกส้มโอ อ.สามพรานอย่างหนัก สวนส้มโอพันธุ์ดีใน ต.ทรงคนอง ต.ไร่ขิง ต.ท่าตลาด กว่า 5,000 ไร่ ซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้นครปฐมหลายร้อยล้านบาทต่อปี ถูกน้ำทางเหนือไหลบ่าเข้าท่วมรวดเร็วตั้งแต่ปลาย ต.ค. และยังคงท่วมขังไม่มีทีท่าจะลดระดับลงในเวลาอันใกล้
ความสูงของน้ำเฉลี่ยทั้งพื้นที่กว่า 1 เมตร และท่วมขังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ต้นส้มโอพันธุ์ดีที่ชาวบ้านปลูกไว้ตั้งแต่รุ่นเก่าก่อน ตายลงกว่า 30 % ของพื้นที่ ต้นส้มที่ยังคงเหลือรอดอยู่ ก็ด้วยการต่อสู้ของเจ้าของสวนและชุมชนช่วยกันทำคันล้อมให้สูงและดูดน้ำออกทุกวัน อีกทั้งบางส่วนเป็นต้นพันธุ์ดีที่อายุมาก จึงยังทานทนต่อสภาพน้ำท่วมได้
แต่คาดการณ์ว่าหากยังมีน้ำท่วมขังติดต่อกันมากกว่า 10 วัน มีแนวโน้มว่าชาวนครปฐมจะต้องสูญเสียส้มโอพันธุ์ดีที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดไปอีกมากกว่า 50 % - 70% ซึ่งเป็นความเสียหายอันมหาศาลไม่อาจประเมินมูลค่าได้ และเกินกำลังที่ชุมชนจะช่วยรักษาต้นส้มโอพันธุ์ดีเหล่านี้ให้อยู่รอดต่อไป
การต่อสู้อย่างหนักของชาวบ้านและแกนนำชุมชน ที่พยายามปกป้องสายพันธุ์ที่หายากชุดสุดท้ายนี้เอาไว้คงอยู่ในรุ่นต่อไป ส่งผลให้เกิดกระบวนการพูดคุยสื่อสารสู่สาธารณะ กลุ่มงานภาคประชาสังคม และกลุ่มงานวิชาการ ให้ได้รับรู้และเห็นคุณค่า และช่วยเร่งกู้น้ำในพื้นที่เกาะทรงคนองให้เร็วที่สุด จึงรวมพลังก่อเกิดเป็นโครงการ “แผนกู้สวนส้มโอสามพราน เกาะทรงคนอง”
ดำเนินการร่วมกันระหว่างชาวสวนส้มโอ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคราชการ โดยมี ดร.มนตรี ค้ำชู และ ดร.ระวี เศรษฐศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ และเน้นบูรณาการความร่วมมือและสร้างบทเรียนการบริหารจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง รวมทั้งสร้างการเรียนรู้ของสาธารณะในการปกป้องพื้นที่สำคัญซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางสังคมในด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ แผนงานครั้งนี้ประกอบด้วยรายละเอียดในการดำเนินการดังนี้
1. แผนปฏิบัติการ“แผนกู้สวนส้มโอสามพราน เกาะทรงคนอง” แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.1จัดทำพนังกั้นน้ำล้อมรอบเกาะทรงคนอง
โดยประสานความร่วมมือกับชุมชนทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้าใจ ระดมความคิดเห็น ระดมความช่วยเหลือในการดำเนินแผนปฏิบัติการกู้น้ำ, สำรวจพื้นที่รอบเกาะทรงคนอง สภาพน้ำท่วม ลักษณะกายภาพทั้งหมดเพื่อจัดทำฐานข้อมูล แผนที่ เพื่อใช้กำหนดรูปแบบการทำพนังกั้นน้ำที่เหมาะสม, นำข้อมูลมาวางแผนปฏิบัติการ กำหนดรายละเอียดการทำงานระดับพื้นที่ แบ่งบทบาทคณะทำงานทั้งหมดให้ชัดเจน
จัดเตรียมถุงทรายขนาดใหญ่(big bag) ขนาดเล็ก ระดมวัสดุอุปกรณ์จำเป็นสำหรับทำพนังกั้นน้ำโดยรอบ เช่น รถยนต์ เครื่องจักรใหญ่ เล็ก, นัดหมายกำลังพล เครื่องจักร ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อร่วมปฏิบัติการวางกระสอบทรายตามแนวถนนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า 90 พรรษา (ถนนรอบเกาะทรงคนอง), ตรวจสอบแนวกระสอบทราย พนังคันล้อมทั้งหมด จัดแบ่งหน้าที่คนในชุมชนเฝ้าระวัง ซ่อมบำรุง 24 ชั่วโมง
1.2 ปฏิบัติการสูบน้ำออกจากพื้นที่
โดยสำรวจจัดทำข้อมูล กำหนดจุดการตั้งเครื่องดูดน้ำเพื่อดูดน้ำในบริเวณพนังด้านออกสู่แม่น้ำ ท่าจีน เช่น คลองมะนาว คลองตาจุ่น คลองตาปู่ คลองผีเสื้อ หรือจุดที่ลุ่มต่ำท่วมขังสูง, ดำเนินการปิดกั้นคูคลองที่เป็นทางน้ำเข้าทั้งหมดในพื้นที่ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ต้นหมาก เชือก ผ้าใบ แบ่งกลุ่มทำงานและผู้ประสานงานแต่ละจุดปฏิบัติการ, ระดมเครื่องดูดน้ำทุกขนาด เช่น เครื่องสูบน้ำแบบท่อพญานาค 8 -12 นิ้ว ของชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชน จำนวน 100 เครื่อง เข้าติดตั้งตามจุดดูดน้ำที่กำหนดไว้
เริ่มปฏิบัติการดูดน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีน พร้อมกันต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 7 วัน โดยประเมินผลการทำงานทุกระยะเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสม และประสานความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
2.รูปแบบการขอรับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
3. รูปแบบการทำงานในพื้นที่
1. จัดตั้งคณะทำงานโครงการโดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน 45 ท่านประกอบด้วย
- คณะทำงานชุมชน / แกนนำ อปท.ในตำบลทรงคนอง ตำบลไร่ขิง และตำบลบางเตย จำนวน 20 ท่าน
- คณะทำงานวิชาการ และทีมฝ่าวิกฤติอุทกภัย จำนวน 10 ท่าน
- คณะทำงานประชาสังคม สภาลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม สโมสรโรตารี่
สามพราน ชมรมผู้ปลูกส้มโอสามพราน กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอปลอดสารพิษสามพราน 10 ท่าน
- คณะทำงานภาครัฐ ทั้งในพื้นที่ และส่วนกลาง จำนวน 5 ท่าน
2. แบ่งคณะทำงานเป็น 3 ทีมหลัก
- ทีมจัดทำข้อมูล สำรวจ จัดการข้อมูล
- ทีมปฏิบัติการระดับพื้นที่
- ทีมตรวจสอบการปฏิบัติการ การจัดการ บริหารจัดการทรัพยากร (งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เชื้อเพลิง)
3. ข้อปฏิบัติในการดำเนินแผนงานร่วมกันของทุกฝ่าย
- มีการประชุมสรุปบทเรียนทุกวัน เพื่อให้การทำงานมีความราบรื่น โปร่งใส และประเมินสถานการณ์
ปรับเปลี่ยนแผนงานตามความเหมาะสมได้ทันเวลา
- ทั้ง 3 ทีมหลัก ตั้งหัวหน้าทีม และผู้ประสานงานเพื่อ ประสานความร่วมมือให้เกิดความเป็นเอกภาพและ ประสานความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ อย่างทันท่วงที
- จัดทำเอกสารควบคุมการเบิกจ่ายทรัพยากรทุกด้านที่ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง
ระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส ชี้แจงได้ด้วยเอกสาร และสร้างการรับรู้ร่วมกันอย่างเข้าใจ
- สรุปผลการดำเนินการเป็นระยะ เก็บภาพประกอบ จัดทำรายงาน และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย รวมถึง
สื่อมวลชน ร่วมเรียนรู้กระบวนการและบทเรียนในการทำงานอย่างมีส่วนร่วม
นอกจากเป็นความหวังว่าพื้นที่ปลูกส้มโอพันธุ์ดีที่สำคัญของอำเภอสามพราน ใน ต.ทรงคนอง (หมู่ 4,5 ) ต.ไร่ขิง (หมู่ 3,4,6,8 ) ต.บางเตย (หมู่ 3,4,5,6,7) กว่า 5,000 ไร่ จะได้รับการปกป้องหรือลดผลกระทบจากภาวะอุทกภัยร้ายแรงให้น้อยที่สุด
“แผนกู้สวนส้มโอสามพราน เกาะทรงคนอง” ยังเป็นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนเพื่อรักษาคุณค่าพื้นที่เกษตรที่เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจสำคัญของนครปฐม อีกทั้งเป็นรูปแบบบูรณาการความรู้และการจัดการเพื่อสร้างบทเรียนการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติร่วมกัน