ธวัชชัย ไทยเขียว:ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องร้องเยาวชน
หมายเหตุ:นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุกอธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องร้องเยาวชนหลังจากที่บริษัทเหมืองทองแห่งหนึ่ง ทำหนังสือขออนุญาตฟ้องเยาวชนในคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จากการเผยแพร่ข้อมูลในฐานะนักข่าวพลเมืองผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
นายธวัชชัย ระบุว่า มาตรา ๙๙ วรรคแรก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดไว้ว่า "ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ"
ซึ่งตาม ขั้นตอนผู้อำนวยการสถานพินิจฯ หลังจากได้รับการร้องขอของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาตามวรรคหนึ่งแล้ว จะดำเนินการสืบสวนและสอบสวนว่า ข้อกล่าวหานั้นมีมูลสมควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องหรือไม่ แล้วแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าอนุญาตให้ฟ้องหรือไม่อนุญาตให้ฟ้อง
ในกรณีที่ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่อนุญาตให้ฟ้อง ผู้เสียหายจะร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตก็ได้ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจมาสอบถาม แล้วสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งศาลให้เป็นที่สุด เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับรับฟ้องของผู้เสียหายแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจดำเนินการสืบเสาะตามมาตรา ๘๒ ตามควรแก่กรณี
อย่างไรก็ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามมาตรา ๑๑๙ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า "ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว "คำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ"
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในการพิพากษาคดีเด็กหรือเยาวชนนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคน ๆ ไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกันก็ตาม
ฉะนั้น หากพิจารณาตามหลักกฏหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสถานพินิจฯ ที่ผ่านมาจะพิจารณาไม่อนุญาต ซึ่งหากผู้เสียหายติดใจก็สามารถไปร้องขอต่อศาลให้พิจารณาหรือญาตตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้