นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กระทบเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้าน/ปี
นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ ความไม่ชัดเจนจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ปัญหาใหญ่กำหนดนโยบายระดับชาติ ชงมีหน่วยงานกลางเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ แจงลดจำนวนบาดเจ็บ-เสียชีวิตล้มเหลวเหตุศปถ.ทำงานไม่ต่อเนื่อง
วันที่ 14 ธันวาคม 2558 ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 12 จัดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีการเสวนาเรื่อง “การจัดการครึ่งทางทศวรรษและ บทเรียนการจัดการที่เข้มแข็งจากต่างประเทศ” ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 201-203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงงานวิจัยด้านการติดตามและประเมินผลจากการปฏิบัติตามแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ว่า สิ่งที่พยายามพูดถึงกันในวันนี้คือจำนวนตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่จากการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาสะท้อนว่าข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณะสุข สวนทางกัน
เช่น ข้อมูลในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขแสดงข้อมูลการเสียชีวิตอยู่ที่ 9,490 ราย ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงข้อมูล 10,717 ราย และปีถัดๆ มาก็ยังไม่มีตัวเลขที่ตรงกัน ฉะนั้นการได้รับข้อมูลหรือจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่แน่นอนนั้นจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ว่า แท้จริงแล้วมีจำนวนตัวเลขการเสียชีวิตเท่าไหร่ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแบบใด ประมาท สภาพของรถที่ใช้ หรือจุดเสี่ยงกันแน่
ดร.สุเมธ กล่าวถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อปีเฉลี่ยแล้ว 1.4 แสนล้านบาท สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราลงทุนกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนน้อยเกินไป โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของจำนวนผู้เสียชีวิตจะทำให้รัฐไม่สามารถกำหนดนโยบายที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ปัญหาเรื่องการติดตามและประเมินผลการทำงานในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพัฒนาได้
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้การกำหนดทิศทางหรือนโยบายเรื่องความปลอดภัยทางถนนเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบจะต้องมีหน่วยงานกลาง ข้อมูลส่วนกลางมาทำงาน
“จริงอยู่ที่วันนี้เรามีหน่วยงานกลางอย่างศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) มาทำงาน แต่ก็ต้องถามย้อนกลับไปว่า ข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุใครคือผู้รับผิดชอบและจัดทำข้อมูล ติดตามประเมินผลอย่างแท้จริง มีพนักงานประจำที่ดูแลเรื่องนี้กี่คน หรือมีหน่วยงานที่ชัดเจนในการทำหน้าที่เรื่องระบบข้อมูลหรือไม่ หากเราสามารถที่จะมีหน่วยงานมาทำงานอย่างเป็นระบบ เก็บข้อมูลเป็นระบบ จัดสรรงบที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหา รู้ว่าจะต้องเสนอแนะหรือแก้กฎหมายแบบไหน”
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการทำงานของศปถ.ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานติดตามงาน ประชุมปีหนึ่งนับครั้งได้ วันนี้รัฐบาลประกาศออกมาให้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นการทำงานก็จะต้องให้ความสำคัญ ประชุมทุก 3 เดือนจะต้องมีการรายงานความคืบหน้า ไม่ใช่แค่บอกว่าคนตายเท่าไหร่ เท่าเดิม ต้องรายงานและบอกสาเหตุและหามาตรการมาป้องกันด้วย หากศปถ.สามารถที่จะเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นระบบนี่ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเช่นเดียวกัน