เบื้องหลัง ธพว.เปลี่ยน 3 รอบ ‘กก.สอบ’ ปมปล่อยกู้โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล.
ไขเบื้องหลัง บอร์ด ธพว.เปลี่ยนตัว 3 รอบ ‘กก.สอบข้อเท็จจริง’หาคนรับผิด กรณีปล่อยกู้โรงสีข้าวจงเจริญ จ.ศรีสะเกษ NPL 125 ล. ก่อนร้องปลัด ก.คลัง ขอให้แต่งตั้งใหม่ทั้งชุด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานก่อนหน้านี้ว่า ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ 20 อันดับแรก ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เกิดจากการปล่อยสินเชื่อในช่วงปี 2552-2555 จำนวน 17 ราย ปี 2546 ปี 2548 และปี 2557 ปีละ 1 ราย ในจำนวนนี้บางรายถูกตั้งข้อสังเกตในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อ ได้แก่
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ดรอปอินน์ ลูกหนี้ NPL อันดับ 4 วงเงิน 199 ล้านบาท
กรณี บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์ จำกัด) วงเงิน 195 ล้านบาท NPL อันดับ 5
กรณี ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โรงสี ป.น่ำเฮง ลูกหนี้ NPL อันดับที่ 7 วงเงิน 159 ล้านบาท
กรณี หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ วงเงิน 125 ล้านบาท NPL อันดับ 12
กรณี บริษัท โรงพิมพ์ประสานมิตร ลูกหนี้ NPL อันดับ 6 จำนวน 180 ล้านบาท
กรณี หจก.โรงสีข้าวจงเจริญ จ.ศรีสเกษ นั้นเป็น การปล่อยสินเชื่อ รีไฟแนนซ์ เมื่อ 20 ส.ค.57 จำนวน 94 ล้านบาท และให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเป็นทุน หมุนเวียนแก่ลูกหนี้อีก 31 ล้านบาท รวม 125 ล้านบาท ทั้งที่ลูกหนี้รายนี้ได้หยุดดำเนินกิจการสีข้าว ตั้งแต่เดือน ก.ย.56 หลังจากนั้นลูกหนี้ชำระหนี้เพียงงวดเดียว 1.4 ล้านบาทก็หยุดชำระหนี้ และ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ได้สั่งให้ ธพว.สอบสวนข้อเท็จจริง และเป็น 1 ใน 4 ประเด็นที่ถูกร้องเรียนต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารฯชุดปัจจุบัน (อ่านประกอบ : ยื่นรองนายกฯ-รมว.คลัง สอบ 'บิ๊ก ธพว.' ปล่อยกู้ร้านอาหารลูกชายที่ หัวหิน )
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีผู้แจ้งมายังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีโรงสีข้าวจงเจริญชุดใหม่เข้ามาสอบสวนแทนคณะกรรมการชุดปัจจุบัน เหตุผลหลัก
1.การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามที่ ธปท.สั่งการ ไม่ควรแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ธพว. เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ธพว.โดยตรง เนื่องจาก คณะกรรมการ ธพว.เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อรายนี้ ควรแจ้งให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทว่าเมื่อคณะกรรมการ ธพว.แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนจึงมีลักษณะเป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์ Conflict of Interest
2.บอร์ด ธพว.ได้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนรวม 3 ครั้ง (รวมครั้งแรก) ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีเงื่อนงำหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ ธพว. มาเสนอดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สั่งให้ ธพว.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามหนังสือ ธปท.ที่ ธปท.ฝกฉ.(71) ล.82/2558 ลงวันที่ 23 เม.ย.58
คณะกรรมการ ธพว.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งที่ 16/2558 วันที่ 22 พ.ค.58
คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ได้พิจารณาว่า สินเชื่อรายนี้เป็นรายใหญ่ที่สุดของ ธพว.ในช่วงที่อยู่ระหว่างแผนฟื้นฟูกิจการ (ตั้งแต่ปี 2556-ปัจจุบัน) และเป็นการ Refinance หนี้มาจากธนาคารอื่น ซึ่งกระทรวงการคลังมีหนังสือกำชับให้ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการ ธพว.ที่จะเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อจึงต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ
มีข้อมูลระบุว่า เบื้องต้นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกับคณะกรรมการสอบสวนอีกคณะหนึ่งที่สอบสวนกรณีการอำนวยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายบริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้รับผิดชอบสูงสุดคือ คณะกรรมการบริหาร ปี 2552 ซึ่งเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อ และได้แจ้งข้อกล่าวหาวินัยร้ายแรงกับผู้เกี่ยวข้องจำนวน 21 คน โดยกรรมการสอบสวนบางคนในคณะกรรมการสอบสวนกรณีบริษัท ไรซิงฯ เป็นบุคคลคนเดียวกับคณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าผลสอบสวนทั้งสองกรณีจะไปในแนวทางเดียวกัน
28 ส.ค.58 ที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว. ครั้งที่ 20/2558 มีมติให้แก้ไขข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนความผิดทางวินัย กำหนดให้หน้าที่การแจ้งข้อกล่าวหาเปลี่ยนจากหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนอีกชุดหนึ่ง (ไม่ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทำหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อบังคับเดิมที่กำหนดไว้) และ ในการระหว่างที่กระบวนการแก้ไขข้อบังคับยังไม่แล้วเสร็จ การแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการ ธพว. เพื่อให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะแจ้งข้อกล่าวหาได้
14 ก.ย.58 ที่ประชุม คณะกรรมการ ธพว. ครั้งที่ 21/2558 ได้มีมติให้เพิ่มกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จากเดิม 3 คน เป็น 5 คน โดยปลดกรรมการเดิม 1 คน ทำให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดใหม่ประกอบด้วย กรรมการเดิม 2 คน และกรรมการใหม่ 3 คน รวมเป็น 5 คน พร้อมกับเปลี่ยนตัวประธานกรรมการสอบสวนเป็นบุคลที่เข้ามาใหม่
9 พ.ย.58 ที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว. ครั้งที่ 26/2558 ได้มีมติปลดกรรมการเดิมที่มี 2 คน ออก 1 คน และแต่งตั้งกรรมการคนใหม่เข้ามาแทน ทำให้องค์ประกอบคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดใหม่ ประกอบด้วย กรรมการเดิม 1 คน และกรรมการใหม่ 4 คน
รายชื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งคณะกรรมการ ธพว. ที่ 16/2558 ครั้งแรกประกอบด้วย
1.นายจักรกฤษ์ ยางนอก ที่ปรึกษา ธพว.ด้านคดีความ ประธานกรรมการ
2.นายคงเดชา ชัยรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ กรรมการ
3.นางธนารักษ์ รามัญวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
4.นายธนพล โฆมานะสิน ผู้จัดการส่วนบังคับคดี เลขานุการ
รายชื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งคณะกรรมการ ธพว. ที่ 16/2558 ครั้งหลังสุด (หลังจากเปลี่ยนแปลง 2 ครั้ง) ประกอบด้วย
1.นายสมัคร เชาวภานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานกรรมการ
2.นายจักรกฤษ์ ยางนอก ผู้รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย กรรมการ
3.นายเวทย์ นุชเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
4.นายเสรี นนทสูติ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
5.นายชาญชัย โยธาวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการ
6.นายธนพล โฆมานะสิน ผู้จัดการส่วนบังคับคดี เลขานุการ
ปูมหลังกรรมการชุดนี้
นายสมัคร เชาวภานันท์ ประกอบอาชีพทนายความ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้รับการทาบทาบจาก ประธานบอร์ด ธพว.ให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ ธพว. และทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสอบสวน
นายจักรกฤษ์ ยางนอก ประกอบอาชีพทนายความ เดิมได้รับการชักชวนจากนายสุพจน์ อาวาส อดีตกรรมการผู้จัดการให้ทำหน้าที่ปรึกษากฎหมายของ ธพว. ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการ ธพว.ให้ดำรงตำแหน่งผู้รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย มีอำนาจสั่งการฝ่ายนิติการและฝ่ายกฎหมาย ได้รับค่าตอบแทนเทียบเท่ารองกรรมการผู้จัดการ
นายเวทย์ นุชเจริญ อดีตรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย และเคยเป็นกรรมการบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ (1979) จำกัด (ซึ่งธพว.ขายหนี้ NPL กองภาคตะวันออก ให้บริษัทนี้เมื่อต้นปี 2558) ได้รับการทาบทามจาก ประธานบอร์ด ธพว.ให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ ธพว.
นายเสรี นนทสูติ รองเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมเข้ามาในคณะกรรมการสอบสวนฯ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ธพว.แทนตำแหน่งที่ว่าง
นายชาญชัย โยธาวงษ์ อดีตผู้บริหาร ธปท. ได้รับการชักชวนจาก ประธานกรรมการ ธพว.เข้ามาเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิของ ธพว. และเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ
มีข้อมูลระบุว่า ผลสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้อยู่ระหว่างการร่างรายงานการสอบสวน เพื่อเตรียมเสนอ คณะกรรมการ ธพว. เบื้องต้นระบุว่า พนักงานและผู้บริหารในส่วนของการวิเคราะห์และนำเสนอขออนุมัติเข้าข่าย “ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง” ส่วนคณะกรรมการสินเชื่อ และคณะกรรมการ ธพว.ซึ่งทำหน้าที่อนุมัติ “ไม่มีความผิด”
นี่คือปมเงื่อนในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิด กรณีปล่อยกู้โรงสีข้าวจงเจริญ 125 ล้านบาท และเป็นชนวนร้องไปยังปลัดกระทรวงการคลังให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดใหม่เข้ามาสอบสวนแทนคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย ธพว.
ถึงที่สุด ผลสอบสวนอย่างทางการจะเป็นไปตามกระแสข่าวหรือไม่ และ กระทรวงการคลังจะมีท่าทีอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ:
เปิดชื่อบอร์ด ธพว.10คนกรณีเงินกู้โรงสี NPL125 ล.-ปมใหม่Conflict of Interest?
หลักฐาน 3 ชิ้น!ใบเสร็จ‘ค่าไฟ’-คำสั่ง รมว.คลัง มัดปมเงินกู้โรงสี-ธพว.125 ล.
เจ้าของโรงสีข้าว‘ลูกหนี้’ NPL 125 ล. ธพว. อยู่คอนโดฯ 5 ล. กลางกรุงเทพฯ
ไขปริศนา!‘เงินปล่อยกู้’17 ล. โรงสีข้าวจงเจริญ ลูกหนี้ NPL 125 ล้าน ธพว.
เปิด‘โรงสีข้าวศรีสะเกษ’กู้ ธพว. 125 ล. หยุดกิจการก่อนรับเงิน ชนวนร้องสอบบิ๊ก
จริงหรือเพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด? ไขปม ธพว.ปล่อยกู้ รร.ดัง จ.มุกดาหาร 102 ล.
เปิดเบื้องหลัง!ขายหนี้ NPL 694 ล. ธพว. ให้ บ.เครือศรีสวัสดิ์ 202 ล.
ไขปมข้อสังเกต ธปท. ‘โรงสีข้าว’จ.อุตรดิตถ์ กู้ ธพว.480 ล.-ชำระค่าหุ้น 60 ล.จริง?
‘เอกสาร’ขาดความน่าเชื่อถือ!กรณี ธพว. ปล่อยกู้ รร.ภูเก็ตนักธุรกิจใหญ่ 194 ล.
เปิดไส้ใน ธพว.ปล่อยกู้ 347.5 ล. ซื้อที่ดินโครงการปัญหา‘แก่งกระจาน’บ.นักธุรกิจดัง
ค้างจ่ายภาษีอื้อ!สรรพากรบี้ รร.เกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว. 199 ล. -สาวสึก‘ผู้ถือหุ้น’
ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่า ‘โรงพิมพ์ประสานมิตร’ NPL ธพว. 180 ล. -ศาลสั่งล้มละลาย
ใช้เงินสด 30.2 ล. เพิ่มทุนก่อนกู้! ปริศนา โรงสี จ.ชัยนาท ลูกหนี้ NPL ธพว.159 ล.
เพิ่มทุน 50 ล.ด้วยเงินสด!ปริศนา โรงแรมเกาะพะงัน ลูกหนี้ NPL ธพว.199 ล.
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.
เปิดชื่อ 20 ลูกหนี้ NPL รายใหญ่ ธพว.โรงสีอื้อ 6 แห่ง-ยอดรวม 2.7 หมื่นล้าน
ปิดตำนาน 22 ปี“โรงพิมพ์ประสานมิตร”ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์-ขาดทุนสะสม 7 ล้าน