“LEED-X” บิ๊กดาต้าเพิ่มแต้มต่อแรงงานยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ทุกคนเห็นตรงกันว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องใช้สำหรับกำหนดทิศทางตลาดแรงงาน เราต้องการข้อมูลที่ทันสมัย ทันสถานการณ์ เป็นข้อมูลมาตรฐาน บทบาทของหน่วยงานรัฐในฐานะผู้ติดตามและใช้ประโยชน์ข้อมูลจึงต้องร่วมมือกัน จัดทำข้อมูลมาตรฐานที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหน่วยงานและในภาพรวม ของประเทศ
จากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ในที่สุดประเทศไทยก็มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายสารสนเทศด้านแรงงาน เศรษฐกิจ การศึกษาในภาคอุตสาหกรรม (Labour Economic and Education Data Exchange หรือ LEED-X) สามารถขยายฐานข้อมูลให้มีความหลากหลาย และตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับแรงงานไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอได้ร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2551 ในการวางแผนพัฒนากำลังคนเพื่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
จากงานวิจัยโครงการศึกษาเพื่อวางระบบบริหารจัดการกำลังคนเพื่อรองรับการวางแผนพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นและมีการพัฒนามาเป็น โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ การศึกษาและแรงงาน หรือ LEED-X โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ จุดเริ่ม จุดร่วม รวมพลัง ขยายเครือข่าย และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในปัจจุบัน ซึ่งสามารถขยายเครือข่ายข้อมูลและความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรภายใต้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลอุปสงค์ อุปทานกำลังคนภาคอุตสาหกรรมรองรับการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ ปี 2554
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯได้ทำการศึกษารวบรวม สังเคราะห์ จัดระเบียบข้อมูลสารสนเทศและกำลังคนภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งของภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยว เพื่อเป็นคลังข้อมูลและบูรณาการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังได้มีการการวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้มีศูนย์กลางข้อมูลและสารสนเทศกำลังคนภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูลและประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน สอดคล้องตามแนวทางการบูรณาการข้อมูลภาครัฐตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และตอบสนองต่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่
ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ อาจารย์ประจำภาควิชา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันระบบ LEED-X ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอข้อมูลและวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเว็บไซต์ โดยการนำเข้าข้อมูลที่สำคัญจากหน่วยงานต่างๆ อย่างสมบูรณ์และให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม รวมทั้งรูปแบบ Infographic ที่เข้าใจง่าย ข้อมูลในระบบประกอบด้วย ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
อาทิเช่น ภาวะเศรษฐกิจและแรงงาน, อุปสงค์ อุปทานกำลังคน, การส่งเสริมการมีงานทำ,การพัฒนาศักยภาพแรงงาน,การคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ,การประกันสังคม, ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม,ดัชนีอุตสาหกรรม,สถิติโรงงานอุตสาหกรรม,สถานการณ์อุตสาหกรรม,สถานการณ์อุตสาหกรรม,สถิติการศึกษา,ภาวะการทำงานของประชากร,ความต้องการแรงงานจากภาคเอกชน พ
ร้อมทั้งข้อมูลแรงงานในกลุ่ม 13อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า ยางพารา ไม้และเฟอร์นิเจอร์ พลาสติก เซรามิก อัญมณีและเครื่องประดับ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และกระดาษ และยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่สำคัญ อาทิ GDP ที่มีการเผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์ สศช. รวมถึงข้อมูลต่างๆจากกลุ่มอุตสาหกรรม
“ทุกคนเห็นตรงกันว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องใช้สำหรับกำหนดทิศทางตลาดแรงงาน เราต้องการข้อมูลที่ทันสมัย ทันสถานการณ์ เป็นข้อมูลมาตรฐาน บทบาทของหน่วยงานรัฐในฐานะผู้ติดตามและใช้ประโยชน์ข้อมูลจึงต้องร่วมมือกันจัดทำข้อมูลมาตรฐานที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหน่วยงานและในภาพรวมของประเทศได้ ซึ่ง LEED-X เป็นเวทีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลมาเชื่อมโยง และยังเป็นการสร้างความโปร่งใสของข้อมูล ให้ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาใช้งานได้สะดวก มาร่วมกันทำโจทย์ของประเทศไทย เช่น การพัฒนาทิศทางกำลังคนในทิศทางใด”
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประโยชน์ของ LEED-X คือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนและอุตสาหกรรมของประเทศมีระบบสารสนเทศถูกต้องแม่นยำ และทันสถานการณ์ เพื่อวิเคราะห์และจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนที่เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และมีระบบเตือนภัยด้านกำลังคนภาคอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ มีระบบฐานข้อมูลแลกเปลี่ยนอัตโนมัติด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การศึกษา และแรงงาน ที่นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะนี้ ระบบ LEED-X มีความสมบูรณ์และเปิดให้สาธารณะได้ใช้ประโยชน์แล้วได้ที่ http://leedx.in.th/leedx/public/ .