เปิดโมเดล สนข.พัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินฯ -พระราม 5
จากกรณี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าการว่างจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานทบทวน รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สำรวจ ศึกษาความเหมาะสม ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ออกแบบทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และงานการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประชาสัมพันธ์ ว่า การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องกับโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลงพื้นที่ไปทั้งหมด 6 ครั้งนั้น เสร็จสิ้นแล้วตามกระบวนการเดือนธันวาคม 2558
เบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะเลือกมา "นำร่อง" โครงการก่อนคือ โครงการ 5 (Project5) ช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (สะพานนนทบุรี 1) - สะพานพระราม 5 (อ่านประกอบ:สนข.เลือกสะพานมหาเจษฎาบดินฯ -พระราม 5 นำร่องสร้างถนนเลียบเจ้าพระยา )
การออกแบบ Project 5 หรือพื้นที่ P5 ซึ่ง สนข.ชี้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์การคัดเลือก ทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจพัฒนา วิศวกรรม สังคมน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมนั้น ได้สะท้อนสู่แนวคิดการพัฒนาพื้นที่ P5 ดังนี้
- ปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำหน้าศาลากลางนนทบุรี เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่ริมน้ำ เป็นศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะของเมือง
- สร้างทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ฝั่งตะวันออก ตามแนวเขื่อนเดิม และโครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โดยการออกแบบให้อยู่ในระดับต่ำกว่าสันเขื่อน และใช้องค์ประกอบภูมิสถาปัตยกรรมลดทอนความแข็งกระด้างของเขื่อน และบดบังโครงสร้างทางสัญจรริมน้ำ
- สร้างทางสัญจรริมน้ำฝั่งตะวันออก ส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำเพื่อนันทนาการ เป็นศูนย์กลางกิจกรรมพักผ่อน และออกกำลังกายสาธารณะ เพื่อความมีชีวิตชีวาของเมืองนนทบุรี โดยเน้นใช้องค์ประกอบภูมิสถาปัยกรรมเป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วม บริเวณหน้าพื้นที่หน่วยงานราชการ และเป็นองค์ประกอบลดทอนความแข็งกระด้างของเขื่อน และบดบังโครงสร้างทางสัญจรริมน้ำ
- สร้างสะพานจักรยาน และคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำ เพื่อเชื่อมโยงย่านพักอาศัยฝั่งตะวันตกและเมืองนนทบุรี ฝั่งตะวันออกด้วยการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ปรับปรุงถนนขนาบแม่น้ำเดิมที่ใกล้แม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยาน เชื่อมต่อเมืองปากเกร็ด กับระบบขนส่งมวลชนระบบราง
- ปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้แม่น้ำและเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ เพื่อรองรับการทางจักรยาน
- จัดให้มีสวนและลานพักผ่อนริมน้ำ รูปแบบต่างๆ เป็นระยะๆตลอดแนวทางสัญจรริมน้ำ
และนี่คือ แนวการออกแบบ ศูนย์กลางกิจกรรม นันทนาการ และการเดินทาง..