"เราหนีไม่พ้นเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญภาวะโลกร้อน" ถาม-ตอบกับผู้ช่วยเลขายูเอ็น
ถามตอบ 10 ข้อสงสัยจากทั่วโลก กับผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ประเด็นการประชุมโลกร้อนCOP21 และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก
การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือรู้จักกันในนาม COP21 ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นครั้งที่ 21 แล้ว ที่รัฐบาลนานาประเทศมาร่วมกันหาทางออกจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ในการประชุม นอกจากตัวแทนผู้นำจากประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือกำหนดอนุสัญญาฉบับใหม่เเล้ว ยังมีนักกิจกรรม เอ็นจีโอมากมายเข้าร่วม รวมไปถึงการเปิดพืนที่ให้คนภายนอกสามารถตั้งคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนสภาพผ่านทางเว็ปไซต์ reddit.com โดยมีนาย Janos Pastor ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ใช้เวลาช่วงเบรกจากการประชุมมาช่วยตอบข้อสงสัยต่างๆ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวม 10 คำถามน่าสนใจจากหลายร้อยคำถาม
คุณคิดว่า การประชุมที่ปารีสมีอะไรที่ต่างไปจากการประชุมที่โคเปเฮนเก้นและที่เกียวโตบ้าง
JP: ที่เกียวโตค่อนข้างแตกต่างจากปารีส ครั้งนั้นเกียวโตจะมีเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้นที่ตกลงจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทว่าครั้งนี้ที่ปารีส เราประเทศต่างๆ ถึง 185 ประเทศที่ร่วมประกาศแผนการลดภาวะโลกร้อน ทั้งเรื่องของการบรรเทาความรุนแรงและการปรับตัวในภาวะดังกล่าว
ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศต่างๆ มีแผนการลดภาวะโลกร้อนที่ตกลงร่วมกันในระดับชาติเพื่อการลดภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ทัศนคติของภาคเอกชนต่อภาวะโลกร้อนก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ก้าวไกลไปถึงในระดับที่วัดผลกระทบจากภาวะดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม การประชุมครั้งนี้ เราอยู่ในสภาวการณ์ที่แตกต่างจากครั้งที่แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะนำไปสู่การทำข้อตกลงในระดับนานาชาติได้
คุณคิดว่า ผลกระทบที่หนักหน่วงที่สุดของภาวะโลกร้อนต่อการเมืองโลกจะมีแนวโน้มเป็นไปในทางบวกหรือลบ อย่างเช่นว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่คล้ายๆกันกับ COP21 หรือแต่ละประเทศจะลงเอยด้วยความขัดแย้งเรื่องแหล่งทรัพยากรน้ำหรือน้ำมัน
JP: วิกฤตโลกร้อนจะส่งผลทางบวกต่อการเมืองโลกแน่นอน หากพวกเรามีการร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังต่อการหาทางออกให้กับประเด็นระดับโลกดังกล่าว อย่างที่เห็นกันแล้วว่า ตัวแทนจาก 150 ประเทศต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้และทั้งนั้น สุดท้าย ข้อตกลงดังกล่าวอาจส่งผลในแง่ลบทันทีในทางการเมืองโลก หากแต่ละฝ่ายไม่ให้ความสำคัญในเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง และปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องแหล่งทรัพยากรน้ำหรือน้ำมันได้ ก็ขึ้นอยู่กับพวกเรานี่แหละ ว่าจะเลือกให้เป็นอย่างไหน จะช่วยเหลือกันจริงจัง หรือละเลยมันไป ผมว่าตัวเลือกแรกนั่นแหละที่จะพาเราไปสู่ทางออกได้
การเจรจาครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดูเหมือนทุกคนนั่งในที่ประชุม ตระหนักว่าปัญหาอยู่ใกล้แค่เอื้อม แล้วมีอะไรไหมที่ทำให้ประเทศผู้เข้าร่วมไม่ลงนามในการเจรจาครั้งนี้
JP: นี่เป็นอะไรที่ประหลาดมาก ลองนึกดูว่า 195 ประเทศจากทั่วโลกมาประชุมพร้อมกันและพูดถึงภาวะโลกร้อนจากมุมมองที่ต่างกัน จากพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจต่างกัน เรามีเพียงจุดร่วมคือเรื่องนี้ส่งผลกระทบกับทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจำเป็นต้องมารับผิดชอบเท่าๆ กันไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตหรือในอนาคต (แต่อย่าลืมล่ะ ว่าเรื่องการปล่อยแก๊สเรือนกระจกก็ทวีความรุนแรงขึ้น) ตัวแทนจากแต่ละประเทศมีจุดยืนของตนและต่างก็นำเสนอแผนการของตนเองในที่ประชุม (ที่เรื่องราวในที่ประชุมผ่านการแปลเป็น 6 ภาษาหลักใน UN) พวกเราพูดคุยอภิปรายกันแล้วอภิปรายกันเล่า ส่วนใหญ่แล้วข้อตกลงสุดท้ายก็จะมารวบยอดกันในวันสุดท้าย ในดึกดื่นค่อนคืนหรือจนล่วงเลยไปถึงวันใหม่ ผู้แทนคณะพูดคุยเรื่องภาวะโลกร้อนขื้นชื่อลือกระฉ่อนเรื่องการเจรจาจวบจนหมดพลังอยู่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศจะส่งผลต่อกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น ฟิลิปปินส์
JP: ผลกระทบมีในหลากหลายรูปแบบและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่เป็นปัญหาหลักที่ชัดเจนมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง อย่าพายุไต้ฝุ่นที่พัดถล่มฟิลิปปินส์เมื่อไม่นานมานี้ ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยละลายก็เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล กระทั่งวิกฤติโลกร้อนที่ส่งผลต่อวัฏจักรของลมมรสุมก็อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารด้วยซ้ำ
คุณคิดว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะหยิบยกประเด็นเรื่องผลกระทบจากการทำปศุสัตว์ที่เพิ่มความหนาแน่นขึ้นจนส่งผลต่อภาวะโลกร้อนเข้ามาในการประชุมครั้งนี้
JP: แน่นอนครับ ผลกระทบจากการทำปศุสัตว์ที่เพิ่มความหนาแน่นขึ้นเป็นประเด็นสำคัญมาก แต่เราก็ยังคงมีทางเลือก ทางเลือกดังกล่าวอาจรวมไปถึงการพัฒนาเรื่องของการพัฒนาเรื่องผลผลิตหรือเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
หากเราไม่มีการป้องกันใดๆ เลย โลกจะอยู่ได้นานแค่ไหน
JP: เราต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ ยิ่งปล่อยปัญหาไว้นานเท่าไหร่ การแก้ปัญหาก็จะยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือ เราต้องสูญเสียมากขึ้นและใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหาดังกล่าว ภาวะเรือนกระจกจะแตะระดับขัดสุดในอีก 5 ปี มันเสี่ยงและท้าทายมาก แต่ใช่ว่าเราจะช่วยกันอย่างจริงจังไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่ช่วยกัน นั่นหมายถึงหายนะ
คุณคิดว่าเราจะสามารถเอาชนะภาวะโลกร้อนได้โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือไม่
JP: หากเราต้องการเอาชนะภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อย่างที่รู้กันอยู่ว่ารูปแบบชีวิตของเรา ระบบอุตสาหกรรมระบบการเกษตร ทั้งหมดนี้เราล้วนต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลราคาถูกตอนนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
คุณจะบอกคนที่ไม่เชื่อว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนอย่างไร
JP: ผมจะเตือนให้พวกเขาทราบไว้เลยว่า ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลต่อทุกคนในโลกเรียบร้อยแล้วโดยเฉลี่ยตอนนี้โลกมีอุณหภูมิเกิน 1 องศาแล้วในประเทศตามแนวเส้นศูนย์สูตรบางแห่งอาจเริ่มมากถึง 2 องศาไปแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ!!
เราไม่ได้ใช่การคาดเดา เราตรวจวัดกันอุณหภูมิจริงๆ กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่างพบเจอและรับรู้ได้ถึงผลกระทบจากวิกฤตินี้ ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่า “ภาวะโลกร้อน” หรือเรียกอย่างอื่น สุดท้ายเราก็หนีไม่พ้นการที่ต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญหาและได้รับผลกระทบจากภาวะนี้ทั้งสิ้น
ในการรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อนนั้น อยากทราบว่าผู้นำศาสนาต่างๆ ให้ความสนใจด้วยไหมและมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง
JP: ผู้นำศาสนาทุกศาสนามีปฏิกิริยาในเรื่องนี้อย่างมาก เช่น โป๊ปฟรานซิซที่ออกประกาศในการสนับสนุนรณรงค์ในเรื่องภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ผู้นำมุสลิมได้ออกมาประกาศจุดยืนชัดเจนในลดภาวะโลกร้อน แม้กระทั่งสหภาพของโบสถ์ก็มีการประกาศในเรื่องนี้เช่นกัน
คนธรรมดาคนหนึ่งจะมีส่วนช่วยในเรื่องโลกร้อนอย่างไร
JP: สิ่งสำคัญที่เราทำได้เลยก็คือการเลือกนักการเมืองที่คำนึงถึงวิกฤตโลกร้อนเข้ามาทำงาน และส่วนตัวเราเองเราก็ต้องเริ่มทำ เริ่มลดภาวะโลกร้อนด้วยวิธีการต่างๆ ด้วย รับรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การปฏิบัติด้วย เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ไม่ต้องเหยียบคันเร่งสุดๆ ตลอดเวลา ไม่ปรับแอร์ให้เย็นจนเกินไป จริงๆ แล้วยังมีวิธีอีกมากเลยที่เราทำได้ ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ไปเรียนรู้วิธีการเหล่านั้นกันได้ต่อที่ www.un.org/sustainabledevelopment/takeaction
หมายเหตุ: ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าประชุมระดับสูงของประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 11
โดยผู้นำของไทย ได้หยิบยกมาตรการของประเทศไทยที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี ค.ศ.2030 จากกรณีปกติ โดยรณรงค์ การแก้ปัญหาขยะ การปรับระบบการขนส่งมวลชนจากระบบล้อเป็นระบบราง ให้มี Eco Car รถไฟฟ้า รณรงค์ปลูกป่าในอาเซียน การมี Roadmap ของการลดหมอกควันให้เหลือร้อยละ 0
ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการดำเนินการพัฒนาที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง บนหลักของ “ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน” เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศมากว่า 5 ศตวรรษ เพื่อเอาชนะความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ในฐานะประธานกลุ่ม 77 ในปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันว่าประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถเพื่อเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างความแตกต่างของมุมมองและผลประโยชน์ จะดำเนินการร่วมกับรัฐภาคีกลุ่มอื่นๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาพประกอบและเรื่องราวเพิ่มเติมจากhttp://www.un.org/sustainabledevelopment/blog/2015/12/janos-pasztor-ama/
และที่ https://www.reddit.com/r/IAmA/comments/3vaekt/i_am_janos_pasztor_the_united_nations_assistant/