สธ.ยืนยันคุมโรคระบาดหลังน้ำลดได้ ชี้กระชับพื้นที่ตั้งแต่ตำบล
รมว.สธ.กำชับสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ป้องกันควบคุมโรคระบาดหลังน้ำลดใกล้ชิดวันต่อวันผ่านหน่วยเคลื่อนที่เร็วอำเภอ-จังหวัด เร่งฟื้นฟูสุขภาวะตั้งแต่ระดับตำบล ด้านปลัด สธ.ชี้คุมเข้มมาตรฐานน้ำประปาป้องกันท้องร่วง แนะคนล้างบ้านใส่บู๊ทสวมถุงมือยางป้องกันฉี่หนู
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มดีขึ้นแล้ว โดยจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมกว่า 2 ใน 3 เริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟู จึงกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยดำเนินการควบคุมป้องกันโรคระบาดที่อาจตามมาหลังน้ำลด อาทิ โรคอุจจาระร่วง ฉี่หนู ตาแดง และไข้หวัดใหญ่ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหรือวอร์รูมน้ำท่วมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัยทุกแห่ง ติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วย ป้องกันและควบคุมอย่างเข้มข้นทุกวันที่จุดพักพิงและสถานพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รายวัน
รมว.สธ. ยังกล่าวว่า ได้สั่งให้ทุกจังหวัดเร่งฟื้นฟูสุขภาพอนามัยในพื้นที่ตั้งแต่ระดับตำบล ให้กลับมาสู่ภาวะปกติภายใน 45 วันหลังน้ำลด และขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคใดๆ ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
ด้าน น.พ.ไพจิตร์ วราชิต สธ.กล่าวว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคที่สำคัญคือขยะ ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงจะเข้าไปฉีดยาฆ่าหนอนแมลงวันซึ่งเป็นตัวการนำโรคอุจจาระร่วง และพ่นยาฆ่าตัวแก่ของยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ส่วนการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ส่วนโรคฉี่หนูซึ่งเป็นโรคที่พบได้ในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม จะช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนที่ต้องเดินลุยน้ำท่วมให้ใส่รองเท้าบูท ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้าและขา หรือใช้ถุงพลาสติกชนิดหนามาสวมเท้าเพื่อป้องกันการสัมผัสน้ำเน่า ส่วนประชาชนที่ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด ขอให้สวมถุงมือยาง เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อโรคฉี่หนูด้วย
สำหรับโรคอุจจาระร่วงที่พบมากสุดจะใช้มาตรการป้องกัน 3 หลักการคือเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา ทั้งประปานครหลวง ประปาจังหวัด และระบบประปาท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยอาหารทั่วไป อาหารบริจาค และน้ำดื่ม น้ำแข็ง ดูแลความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วม และมีมาตรการควบคุมโรคที่รวดเร็ว โดยหากมีผู้ป่วยจากโรคในข่ายเฝ้าระวัง หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีทุกจังหวัด ทุกอำเภอ จะลงพื้นที่ทำการควบคุมภายใน 24 ชั่วโมง .
ที่มาภาพ : http://www.vcharkarn.com/varticle/43430