ธนาคารโลกชี้เอเชียตะวันออกเข้าสู่ 'สังคมสูงวัย' เร็วสุดในโลก
รองประธานธนาคารโลกฯ แนะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว นโยบายของรัฐ อย่าทำโครงการที่ต้องสัญญาว่าจะมีเงินจ่ายในอนาคต แต่ควรไปเพิ่มในเรื่องของการศึกษา ให้เป็นผู้สูงวัยที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย จัดแถลงผลการศึกษาและเปิดตัวรายงานของธนาคารโลก เรื่อง Live Long and Prosper : Aging in East Asia and Pacific ณ ชั้น 30 อาคารสยามทาวเวอร์
นายแอ๊กเซล ฟานทรอตเซนบวร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวถึงข้อค้นพบจากรายงาน Live Long and Prosper : Aging in East Asia and Pacific ว่ามีประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 36% หรือประมาณ 211 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และภายในปี พ.ศ. 2583 จำนวนประชากรวัยทำงานในเกาหลีใต้จะลดลงมากกว่า 15% ขณะที่ประเทศจีน ไทย และญี่ปุ่นประชากรวัยทำงานจะลดลงมากกว่า 10%
เเละจากรายงานดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านด้านประชากรอย่างรวดเร็วและประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้จะต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะแก่ก่อนรวย
รองประธานธนาคารโลก กล่าวถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น หากไม่มีการปฏิรูปเรื่องระบบบำนาญ คาดว่า พ.ศ. 2583 ภูมิภาคนี้จะต้องใช้เงิน 8-10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพื่อจ่ายเงินบำนาญ ขณะที่ระบบสุขภาพของประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเตรียมการเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะมาพร้อมกับสังคมสูงอายุ
สำหรับสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย นายแอ๊กเซล กล่าวว่า จัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และถือว่ ามีผู้สูงอายุมากกว่าประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสหประชาชาติได้ยกให้ไทยจากสังคมจะสูงอายุเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงด้านประชากรอย่างรวดเร็ว และการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็วแน่นอน ฉะนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศ โดยจะมีแรงงานลดลง 10% ตั้งแต่ปี 2557- 2583
ส่วนความเสี่ยงทางด้านการคลังนั้น สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศที่มีความเสี่ยงมากสุดคือเวียดนาม ส่วนไทยก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงกับเรื่องระบบบำเน็จบำนาญเช่นเดียวกัน
“ถามว่า วันนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างที่สุดหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่ประชากรสูงวัยในไทยจะเพิ่มขึ้นรวดเร็วไม่น้อยกว่า 6% นโยบายของรัฐจะต้องไม่ทำโครงการที่คิดว่าจะมีจ่าย อย่าทำโครงการที่ต้องสัญญาว่าจะมีเงินจ่ายในอนาคต แต่ควรไปเพิ่มในเรื่องของการศึกษาเพื่อให้เขากลายเป็นผู้สูงวัยที่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ อย่าให้เกษียณอายุงานทั้ง ๆ ที่สามารถทำงานได้อยู่”
ด้านนายชูเดีย เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นไทย และเวียดนาม ต่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วและกำลังเผชิญหน้ากับการจัดการด้านบริหารจัดการเรื่องสูงวัย ทั้งนี้การดำเนินการหรือการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องของลูกจ้าง นายจ้างและสังคมจะต้องมีความชัดเจนในเชิงนโยบาย นโยบายต้องเป็นนโยบายเชิงรุกเพื่อที่จะจัดการเรื่องบำนาญ การดูแลสุขภาพ และตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่นายฟิลิป โอคีฟ ผู้เขียนหลักของรายงาน Live Long and Prosper : Aging in East Asia and Pacific กล่าวถึงการเลือกดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะช่วยให้สังคมสามารถปรับตัวรับกับเรื่องผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและการสูงวัยอย่างมีคุณค่า เช่น เรื่องตลาดแรงงานจะต้องส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาอยู่ในภาคแรงงานมากขึน หรืออย่างประเทศไทยควรยกเลิกประโยชน์จากระบบบำนาญที่ส่งเสริมให้คนงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในเมืองให้เกษียณอายุเร็วเกินไป
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้อยากเสนอให้ประเทศที่กำลังพัฒนาปฏิรูประบบบำนาญที่มีอยู่ รวมถึงการขยายอายุเกษียณแบบค่อยเป็นค่อยไป และในส่วนการดำเนินงานเรื่องสุขภาพจากเดิมที่โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางไปสู่หน่วยบริการระดับปฐมภูมิ อาทิ โรงพยาบาลชุมชน โดยต้องพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพไปสู่การให้บริการระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ