‘วัลลภ ตังคณานุรักษ์’เชื่อจะมีการยับยั้ง-ตั้ง คกก.ศึกษาร่วมร่าง กม.GMOs
เอ็นจีโอเข้าพบ สนช.ให้ข้อมูลร่าง กม. GMOs ย้ำเนื้อหาไม่สอดคล้องพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่หน้าทำเนียบฯ 9 ธ.ค. 58 ‘วัลลภ ตังคณานุรักษ์’ เชื่อจะเกิดกระบวนการยับยั้ง ตั้งคกก.ศึกษาร่วม ขณะที่สภาเกษตรฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ชะลอเเล้ว
วันที่ 8 ธันวาคม 2558 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (Biothai) พร้อมด้วยผศ.ดร.ปิยศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้แทนภาคประชาสังคม เข้าให้ข้อมูลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... (GMOs) ซึ่งมีสมาชิก สนช. ผู้ช่วยสมาชิก สนช. เข้าร่วมรับฟัง นำโดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.
นายวิฑูรย์ กล่าวถึงรายละเอียดการให้ข้อมูลครั้งนี้ว่า มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุผลและความเป็นมาของการเคลื่อนไหว ซึ่งสมาชิกหลายท่านมีความเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อท้วงติงของเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อ สนช. ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพราะเนื้อหาบางประเด็นไม่เป็นไปตามหลักการของพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ หากผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จะเกิดปัญหา เพราะไม่สามารถแก้ไขในรายละเอียดได้ ส่วนท่าทีของรัฐบาลในการตัดสินใจยังไม่ทราบแน่ชัด
สำหรับการเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุว่า วันที่ 9 ธันวาคม 2558 เวลา 09.00 น. จะมีการนัดรวมพลบริเวณวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ก่อนจะเคลื่อนขบวนเชิงสัญลักษณ์ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อปราศรัยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และยื่นหนังสือต่อรัฐบาล โดยมีตัวแทนจาก 15 เครือข่าย ทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีจังหวัดต่าง ๆ เเสดงความจำนงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเเล้ว 46 จังหวัด ดังนี้ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดเชียงใหม่, น่าน, พะเยา, ลำพูน, นครสวรรค์, ลำปาง, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน เเละอุตรดิตถ์
ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดกระบี่, สงขลา, พัทลุง, สตูล, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, ตรัง, พังงา, ภูเก็ต เเละนครศรีธรรมราช
ภาคอีสาน 7 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดสุรินทร์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ยโสธร, ขอนแก่น, อุบลราชธานี เเละอุดรธานี
ภาคกลาง/ภาคตะวันออก/ภาคตะวันตก 19 จังหวัด ได้เเก่ จังหวัดสุพรรณบุรี, นครปฐม, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ระยอง,
จันทบุรี, ตราด,สระแก้ว, นครนายก, อ่างทอง, ปทุมธานี, อุทัยธานี, สิงห์บุรี, สระบุรี, สมุทรสงคราม เเละกรุงเทพมหานคร
ด้าน นายวัลลภ กล่าวว่า ผู้นำเสนอมีการจัดทำข้อมูลเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ความเป็นมา และข้อควรระวังของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้ เห็นแง่มุมที่ต้องระมัดระวังพอสมควร ทั้งนี้ จะสรุปผลการนำเสนอเพื่อแจกให้แก่สมาชิก สนช.ทุกคน อีกครั้งหนึ่ง
“กรณีร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีความตลก เพราะเนื้อหาจำนวนมากมีผลกระทบกับเกษตรกร แต่กลับถูกเสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กลายเป็นจุดอ่อนของกฎหมาย” สมาชิก สนช. กล่าว และว่า นอกจากนี้มีข้อท้วงติงจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เหตุใดจึงไม่มีน้ำหนักพอจะยับยั้งได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีกระบวนการยับยั้งไว้ก่อน เพื่อตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ชะลอการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... เนื้อหาตอนหนึ่งระบุ ข้อมูลและรายงานการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยได้บ่งชี้ตรงกันว่า หากมีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อมจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ฐานพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยากที่จะฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลจัดให้มีคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้รับโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่าที่ควร เพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุง ซึ่งยังมีประเด็นที่เป็นจุดอ่อนช่องโหว่ในทางกฎหมายหลายประการ ให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมสมบูรณ์เหมาะสมเป็นผลดี รวมทั้งเห็นควรให้มีการเร่งเตรียมความพร้อมประการต่าง ๆ ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเสริมสร้างการรับรู้ของเกษตรกร และประชาชนทั่วไป การพัฒนาให้มีบุคลากรผู้มีความรอบรู้ ทั้งในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและกฎหมาย และการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง .