'ปู' รอด!กฤษฎีกาชี้ ศปภ.สิ้นสภาพหลังพ้นนายกฯ แม้ถูกปชช.แห่ฟ้อง 877 คดี
'ยิ่งลักษณ์' ลอยตัว! 'กฤษฎีกา' ชี้ขาดสถานะ-อำนาจ ศปภ. ช่วงน้ำท่วมปี 54 สิ้นสภาพตั้งแต่พ้นตำแหน่งนายกฯ ส่วนคดีที่ประชาชนฟ้องร้องค้างอยู่อีกกว่า 877 เรื่อง เห็นสมควรให้ ก.ยุติธรรม เสนอขอแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมในการดำเนินคดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณีกระทรวงยุติธรรมได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือเกี่ยวกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใน 4 ประเด็น คือ
1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 207/2556ฯ คำสั่ง ศปภ. ที่ 2/2556ฯ และคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 50/2557ฯ ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่หรือไม่
2. ศปภ. ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ ยังมีสถานภาพคงอยู่ต่อไปหรือไม่ และคำสั่ง ศปภ. ที่ 2/2556ฯ ที่มอบอำนาจให้พลตำรวจตรี เกษม รัตนสุนทรหรือพลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ดำเนินคดีปกครองแทน ตลอดจนมอบอำนาจช่วงให้พนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการแทนได้ ยังคงมีผลให้พลตำรวจตรี เกษมฯ หรือพลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ฯสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ ประการใด
3. สำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. ที่จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังคงมีสถานภาพและยังคงปฏิบัติงานอยู่ต่อไปได้หรือไม่
4. ศปภ. และสำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. จะมีแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. อย่างไร และหาก ศปภ. ไม่มีสถานภาพคงอยู่แล้ว ภารกิจต่าง ๆในความรับผิดชอบของ ศปภ. จะต้องถูกโอนกลับไปยังหน่วยงานที่มีภารกิจและความรับผิดชอบโดยตรงหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสอดรับกับโครงสร้างภารกิจของแต่ละส่วนราชการอันจะส่งผลให้การบริหารจัดการงบประมาณของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
พ.ศ. 2550
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงยุติธรรม โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยว ชี้แจง ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าปัจจุบันยังมีคดีที่ประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และหัวหน้าส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุทกภัย และ ศปภ. เพื่อเรียกค่าเสียหายจากกรณีเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง รวมจำนวน 877 คดี ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาแล้ว เห็นสมควรกำหนดประเด็นพิจารณาและมีความเห็นในแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556ฯ ยังคงมีผลใช้บังคับหรือไม่ และ ศปภ. ที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ ยังคงมีสถานภาพอยู่หรือไม่
เห็นว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 193/2554ฯ ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (3) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินโดยมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย อันเป็นการใช้อำนาจในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยในปี 2554 โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ ได้กำหนดให้จัดตั้ง ศปภ. เป็นหน่วยบัญชาการในการบูรณาการและประสานงานการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งโครงสร้างการปฏิบัติงานของ ศปภ. เป็นการรวมบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ของตนตามกฎหมายให้มาปฏิบัติงานในสถานที่เดียวกันและไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่โดยปฏิบัติตามแนวทางที่ตกลงกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และความมีประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน
ดังนั้น คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ จึงเป็นวิธีการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะของนายกรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในช่วงเวลาดังกล่าว
ซึ่งมีดุลพินิจในการเลือกใช้มาตรการใด ๆ ที่มีความเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่ง จึงไม่มีผลผูกพันนายกรัฐมนตรีคนต่อมาให้ต้องดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรการเดิม
เมื่อนายกรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งแล้ว มาตรการในการบริหารราชการแผ่นดินต่าง ๆที่นายกรัฐมนตรีผู้นั้นเคยดำเนินการจึงเสร็จสิ้นลง โดยที่นายกรัฐมนตรีคนต่อมาไม่ต้องออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยนายกรัฐมนตรีคนเดิมอีก
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ผู้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 193/2554ฯ ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นอันสิ้นผลบังคับใช้ตามไปด้วยรวมทั้งคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556ฯ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 193/2554ฯ ก็สิ้นผลบังคับใช้ด้วยเช่นกัน
เมื่อโครงสร้างการปฏิบัติงานของ ศปภ. เป็นเพียงการรวมบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆให้มาปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย ตามที่ได้ให้ความเห็นดังกล่าวข้างต้น ศปภ. จึงไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และไม่ได้มีอำนาจที่จะดำเนินการในเรื่องใด ๆ ได้เองตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
ประเด็นที่สอง คำสั่ง ศปภ. ที่ 2/2556ฯ ยังคงมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า โดยที่ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่หนึ่งว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ ได้สิ้นผลบังคับใช้แล้ว และ ศปภ. ไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ประกอบกับคำสั่งดังกล่าวได้กำหนดโครงสร้างการปฏิบัติงานของ ศปภ. ในส่วนของข้าราชการการเมืองโดยระบุทั้งตำแหน่งและชื่อบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง และปัจจุบันบุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงทำให้โครงสร้างการปฏิบัติงานของ ศปภ. ไม่มีอยู่อีกต่อไป จึงมีผลให้คำสั่ง ศปภ. ที่ 2/2556ฯ สิ้นผลบังคับใช้ ดังนั้น พลตำรวจตรีเกษม รัตนสุนทร และพลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนศปภ. ตามคำสั่งดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีปกครองแทน ศปภ. อีกต่อไป
ประเด็นที่สาม คำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 50/2557ฯ ยังคงมีผลใช้บังคับหรือไม่และสำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งดังกล่าวให้เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมยังคงมีสถานภาพอยู่และยังคงปฏิบัติงานอยู่ต่อไปได้หรือไม่
เห็นว่าคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 50/2557ฯ เป็นคำสั่งภายในที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 เพื่อรองรับการมอบหมายงานตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556ฯ
แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากบทบัญญัติตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มิได้ให้อำนาจในการจัดตั้งสำนักงานขึ้นเป็นหน่วยงานภายในกระทรวงแต่ประการใด ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมจึงไม่สามารถอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. ขึ้นเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ สำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. จึงมิได้มีสถานะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
ส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 50/2557ฯ นั้นถือเป็นการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากระทรวงยุติธรรมจึงควรแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเสียใหม่ให้ถูกต้องในลักษณะที่เป็นการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือคณะบุคคลเป็นกลุ่มบุคคลขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการประสานงานและการบริหารจัดการงานด้านคดีของ ศปภ. ซึ่งเป็นการมอบหมายให้ปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น
ประเด็นที่สี่ ศปภ. และสำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เห็นว่า แม้ว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว และ ศปภ.ไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่
แต่เมื่อกระทรวงยุติธรรมได้รับมอบหมายโดยชอบไว้แล้วตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556ฯ กระทรวงยุติธรรมจึงยังคงสามารถปฏิบัติงานด้านการประสานงานและการบริหารจัดการงานด้านคดีของ ศปภ. ที่ยังคงค้างอยู่ได้ต่อไป
อนึ่ง คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า คดีที่ประชาชนฟ้องนายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง นั้น หากนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มอบอำนาจให้แก่บุคคลใด เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องแล้ว การดำเนินการต่อไปอาจเป็นปัญหาได้สมควรที่กระทรวงยุติธรรมจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งบุคคลหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมเป็นผู้ทำการแทนนายกรัฐมนตรีในการดำเนินคดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงยุติธรรม ให้เหตุผลในการขอหารือข้อกฎหมายเรื่องนี้ เป็นเพราะว่า ด้วยในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในหลายจังหวัดทุกภาคของประเทศ จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2554 โดยให้พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ ศปภ.
ต่อมาได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2554 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2556 กำหนดให้พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอกรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศปภ. ให้พลตำรวจตรี เกษม รัตนสุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นเลขานุการ ศปภ. และพลตำรวจตรี สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ศปภ.และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการ ศปภ. มอบหมาย นอกจากนี้ ได้กำหนดให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบงานด้านธุรการ ด้านงบประมาณ และด้านบุคลากร รวมทั้งการประสานงานและการบริหารจัดการงานด้านคดีของ ศปภ. ตามที่ผู้อำนวยการ ศปภ. มอบหมาย
และต่อมา ศปภ. ได้มีคำสั่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่ 2/2556 เรื่อง มอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครอง ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 มอบอำนาจให้พลตำรวจตรี เกษม รัตนสุนทร หรือพลตำรวจตรีสุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ดำเนินคดีปกครองแทน ตลอดจนมอบอำนาจช่วงให้พนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการแทนได้ หลังจากนั้นกระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 50/2557 เรื่องการจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการงานคดีของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ขึ้นเป็นหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 โดยให้สำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. มีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบงานด้านธุรการ ด้านงบประมาณ และด้านบุคลากร รวมทั้งการประสานงานและการบริหารจัดการงานด้านคดีของ ศปภ. ตามที่ผู้อำนวยการ ศปภ. มอบหมาย
กระทรวงยุติธรรมจึงขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับศปภ. และสำนักงานบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. เนื่องจากปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่จะทำให้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 193/2554ฯ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556ฯ คำสั่ง ศปภ. ที่ 2/2556ฯ และคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 50/2557ฯ สิ้นผลบังคับใช้ไปหรือไม่ประการใด ประกอบกับในขณะนี้ภารกิจด้านการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ยังคงเหลือเพียงแต่ภารกิจด้านการบริหารจัดการงานคดีของ ศปภ. ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจดังกล่าว ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 207/2556๖ฯ เท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก hilight.kapook.com