มานะ นิมิตรมงคล : ข่าวอันตรายสำหรับ ป.ป.ช.
"..กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ท่าน เป็นความหวังของประเทศ การเลือกประธานคนใหม่ของ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปอย่างสง่างามสมศักดิ์ศรี การมีข่าวแบบนี้ออกมาจึงเป็นเรื่องอันตรายสำหรับ ป.ป.ช..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Mana Nimitmongkol"
-------------------------
จะเอาอย่างนี้จริงหรือ
เมื่อสิบกว่าวันที่ผ่านมามีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ได้มีการวางตัวคนที่จะมาเป็นประธาน ป.ป.ช. คนใหม่ แล้ว
โดย “เขา” จะโยนหินถามทาง “ชื่อแรก” ก่อน แต่ถ้ามีเสียงคัดค้านมาก ด้วยเหตุเพราะเป็นคนใกล้ชิดของผู้มีอำนาจ เขาก็จะให้ “ชื่อที่สอง” ได้ตำแหน่งไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา เรื่องที่มีข้อมูลตรงกันนี้ได้ปรากฎเป็นข่าวอยู่ใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องนี้ผมขอแสดงความเห็นเพียงว่า
..... ความสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง ป.ป.ช. ไม่ได้ขึ้นกับว่าองค์กรนี้จะ “ใหญ่หรือเล็ก” แค่ไหน แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ องค์กรนี้ต้องมี “ความเป็นอิสระ” คือปลอดจากการแทรกแซงหรือกดดันจากภายนอก
เพราะการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาจะก่อให้เกิด “การยอมรับและสนับสนุน” ทั้งในเชิงอำนาจและศรัทธาจากหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งประชาชน ที่จะส่งผลอย่างแท้จริงต่อความสำเร็จของ ป.ป.ช. ได้
(อ่านเพิ่มเติมใน FB. ของผม 24/8/58 : มีเพื่อนถามผมว่า “เพื่อให้ปราบคนโกงได้เด็ดขาด ควรขยายหน่วยงานปราบคอร์รัปชัน เช่น ป.ป.ช. รวมทั้ง ป.ป.ง. และ ป.ป.ท. ให้ใหญ่ขึ้นดีไหม”
ผมมีความเห็นว่า “องค์กรเหล่านี้จะให้ใหญ่เล็กแค่ไหนไม่ใช่สาระสำคัญที่จะปราบคอร์รัปชันได้” โดยศึกษาเปรียบเทียบจากสถิติหรือความล่าช้าของคดีในความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เอ่ยชื่อมาแล้วข้างต้นก็ได้
แต่ควรดูว่าองค์กรนั้นๆมีศักยภาพในประเด็นต่อไปนี้แค่ไหน
1. มีความเป็นอิสระมากเพียงใด
2. มีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำหน้าที่เพียงพอไหม เช่น มีอำนาจตามกฎหมาย มีคน มีระบบสารสนเทศน์ที่ดี เป็นต้น
3. มีการออกแบบกระบวนการทำงานทั้งระบบอย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์หรือไม่
4. มีบุคลากรที่มีทั้งความรู้ความสามารถ มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้บรรลุภาระกิจและคุณธรรมจริยธรรม
5. ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากคนอื่น (ทั้งในเชิงอำนาจและความศรัทธา)
ด้วยประสบการณ์ด้านพฤติกรรมองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนแล้ว ผมกลับเห็นว่า
หน่วยงานของรัฐที่พยายามขยายองค์กรให้ใหญ่ขึ้น ให้มีคณะกรรมการหรือผู้บังคับบัญชามีตำแหน่งใหญ่ขึ้นหรือมีระดับ ซี สูงขึ้น เช่นจาก ซี.10 เป็น 11 โดยไม่พัฒนาองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา
เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งมีแต่ทำให้หน่วยงานและบุคลากรเหล่านั้นด้อยประสิทธิภาพลง
ใครไม่เชื่อก็มานั่งคุยกันยาวๆ ครับ)
กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ท่าน เป็นความหวังของประเทศ การเลือกประธานคนใหม่ของ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปอย่างสง่างามสมศักดิ์ศรี
การมีข่าวแบบนี้ออกมาจึงเป็นเรื่องอันตรายสำหรับ ป.ป.ช.
ดร. มานะ นิมิตรมงคล