นักวิชาการ-เอ็นจีโอค้านออก พ.ร.บ.ตั้งองค์กรจัดการน้ำ ชี้รวมศูนย์อำนาจยิ่งสร้างปัญหา
“ดร.เพิ่มศักดิ์” ค้านแนวคิด “วิษณุ” คลอด พ.ร.บ.รวบอำนาจบริหารจัดการน้ำ แนะใช้โครงสร้างกระจายอำนาจสู่คณะกรรมการ 25 ลุ่มน้ำจัดการตามบริบทพื้นที่ ด้านเอ็นจีโอหวั่น กยอ.ปลุกผีเขื่อนเก่าขึ้นมาสร้างปัญหาอีก เรียกร้องผ่านประชามติประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
กรณีที่ดร.วิษณุ เครืองาม กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในฐานะอนุกรรมการด้านองค์กร เสนอให้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตั้งองค์กรจัดการน้ำ ซึ่งรวมอำนาจทุกกระทรวงไว้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการวางแผน กู้เงิน ตั้งงบและร่วมทุนนั้น
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรขอประชามติประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 เพราะการจัดการน้ำเป็นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช้ให้ประชาชนยอมรับในมติ กยอ.ในกรอบที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมากกว่า 30 หน่วยงาน มีกฏหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 ฉบับ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดประสิทธิภาพในการจัดการ และหากมีองค์การจัดการน้ำขึ้นมาเพื่อรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ จะบูรณาการองค์กรและกฏหมายหลายฉบับนี้ได้แค่ไหน อย่างไรไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า กยอ.มีการเสนอโครงการต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่มักเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล กังวลว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ตั้งขึ้นเพื่อฟื้นโครงการเก่า เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วง ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาการจัดการน้ำแต่กลับจะสร้างผลกระทบมาก ซึ่งหากมีการรื้อฟื้นขึ้นมาจริง ภาคประชาชนคงต้องใช้สิทธิตามกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมแน่นอน
“วันนี้การแก้ปัญหาน้ำท่วมควรคำนึงถึงสาเหตุเป็นหลัก แล้วแก้ไขเป็นรูปธรรม ประชาชนก็จะยอมรับ โดยไม่ต้องออกกฎหมาย แต่หากนำมาบังคับโดยอาศัยวิกฤตเป็นข้ออ้าง อาจจะโดนประชาชนต่อต้านได้” หาญณรงค์กล่าว
ด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา กล่าวว่า การออก พ.ร.บ.หรือตั้งองค์กรนี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักทั้งนี้การจัดการน้ำที่แท้จริงต้องขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ซึ่งมีสภาพปัญหาแตกต่างกัน ต้องใช้วิธีการที่ต่างกัน ดังนั้นควรให้สิทธิคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ ซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และใช้กลไกการจัดการน้ำอย่างบูรณาการและดูแลทั้งพื้นที่เกษตร ที่ดินสาธารณะ ฯลฯ
ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังกล่าวว่าการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการนั้นไม่ถูกต้องและเกิดขึ้นได้ยาก ต้องกลับไปแก้กฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับเพื่อป้องกันการทับซ้อน เสนอว่า ควรบรรจุเรื่องน้ำเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมปรับโครงสร้างการบริหารจัดการโดยกระจายอำนาจสู่ชุมชนมากกว่า เพราะการจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ แต่ต้องใช้ความรู้และส่วนร่วมในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์
“น้ำถือเป็นทรัพยากรส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชุมชนมีกลไกการจัดการน้ำอยู่แล้ว ฉะนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการจัดการ มิใช่อำนาจของคณะใด ผมฟันธงว่าปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่สร้างผลกระทบตามมามากมาย ทั้งการกักตุนน้ำ การระบายน้ำ ล้วนเกิดจากทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองทั้งสิ้น” เพิ่มศักดิ์ กล่าว