ใช้ชื่อกิจการร่วมค้ายื่นซอง แต่ลงนามบ.เดียว! 'วิลาศ' ชงป.ป.ช.สอบ เปียโน 'สุขุมพันธุ์'
พบข้อสังเกตโครงการจัดซื้อเครื่องดนตรี กทม. 567 ล. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร -'เคพีเอ็น' ใช้ชื่อกิจการร่วมค้าเสนอราคา แต่ลงนามบริษัทเดียว -'วิลาศ' นัดชำแหละโชว์หลักฐานมัด เตรียมยื่น ป.ป.ช. -สตง.สอบต่อ
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาในการจัดหาเครื่องดนตรีให้กับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาทักษะทางด้านดนตรี จำนวน 3 สัญญา เพียงรายเดียว นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รวมวงเงินว่าจ้างทั้งหมด 732,100,000 บาท
(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! โครงการจัดซื้อเครื่องดนตรี กทม. 'เคพีเอ็น' คว้า 3 สัญญารวด 732 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการจัดหาเครื่องดนตรีพร้อมอุปกรณ์ (ระยะที่ 2) สัญญาที่ 3 ซึ่งปรากฎชื่อ บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด เป็นคู่สัญญา วงเงิน 567,800,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 30 ต.ค. 57 สิ้นสุด 17 พ.ค. 60 ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ในขั้นตอนการเสนอราคางาน บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ได้ใช้ชื่อกิจการร่วมค้า เคพีเอ็น-ที เข้ายื่นซองเสนอราคา แต่ปรากฎว่า เมื่อได้รับการคัดเลือก กลับปรากฎชื่อ บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ในการลงนามสัญญาว่าจ้างเพียงแห่งเดียว
จากการตรวจสอบยังพบว่า ผู้เสนอราคาอีก 2 ราย ที่เข้าแข่งขันกับ กิจการร่วมค้า เคพีเอ็น-ที ก็เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าเช่นกัน รายแรก ใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้า นานาภูวน ส่วนรายที่สอง คือ กิจการร่วมค้า จีซอฟท์มิวสิค
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกิจการร่วมค้า นานาภูวน มาร่วมแค่ซื้อซอง แต่ไม่ได้ยื่นเสนอราคาด้วย ส่วนกิจการร่วมค้า จีซอฟท์มิวสิค เสนอราคาอยู่ที่ 569 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่ กิจการร่วมค้า เคพีเอ็น-ที เสนอไปประมาณ 2 ล้านเศษ
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรค ประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ในช่วงเวลา 10.30 น. วันที่ 7 ธ.ค.2558 จะเปิดแถลงข่าวถึงความไม่ชอบมาพากล ในการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะทางด้านดนตรี ของกทม.อย่างเป็นทางการ ซึ่งประเด็นเรื่องการที่ บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด เข้าเสนอราคาในใช้ชื่อกิจการร่วมค้า เคพีเอ็น-ที แต่เมื่อถึงเวลาลงนามกลับใช้ชื่อ บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ลงนามในสัญญาเพียงบริษัทเดียว เป็นหนึ่งในข้อสังเกตสำคัญที่ตนตรวจสอบพบและนำเอกสารหลักฐานไปยืนยันต่อสื่อมวลชนด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายจรูญ มีธนาถาวร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ออกมายืนยันว่า การจัดซื้อจัดจ้างของ กทม.ทุกโครงการ ต้องจัดซื้อด้วยวิธีเปิดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีออคชั่น) รวมถึงการจัดซื้อเครื่องดนตรีนี้ด้วย โดยก่อนจะเปิดประมูลได้มีการสืบราคามาก่อน และในขั้นตอนการประมูลก็มีบริษัทเข้ามาแข่งขัน 7-8 ราย เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้
ต่อมานายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวกรณีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการเพิ่มทักษะทางดนตรีแก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้เลวร้ายและมีประโยชน์ แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของโรงเรียน ไม่ใช่ซื้อทุกโรงเรียน โดยใช้งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดซื้อให้กับโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง โดยใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจัดซื้ออุปกรณ์โรงเรียนละ 470,000 บาท ล่าสุดได้มีการจัดซื้อให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. เพิ่มเติมจำนวน 197 แห่ง และสังเกตว่าโรงเรียนในสังกัด กทม. นำร่อง 10 แห่ง มีการเพิ่มเติมเครื่องดนตรีอีก 585 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการใช้งบประมาณในการนำเอาครูจากโรงเรียนในสังกัด กทม. ไปอบรมจำนวน 90 แห่งด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลจากครูและนักเรียน พบว่า โรงเรียนในสังกัด กทม. เกินครึ่งไม่มีครูดนตรีสากล โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 200 คน รวมถึงไม่มีการสำรวจก่อนจัดซื้อเครื่องดนตรีว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีความต้องการเครื่องดนตรีหรือไม่ ตลอดจนการจัดซื้อแบบเหมาจ่ายให้กับโรงเรียนทุกแห่ง และชุดเครื่องดนตรีเปียโนนั้นยังไม่มีการใช้งานถึง 437 เครื่อง ซึ่งมีโรงเรียนที่ใช้งานเปียโนเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งตนก็ได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้ผู้สื่อข่าวทราบด้วย
นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นคาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากนี้ ตนจะยื่นหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ดำเนินการให้ใช้ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่. พ.ศ. 2539 เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว เรียกชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้ง การที่ตนแถลงข่าวในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับกรณีที่ตนผิดใจหรือขัดผลประโยชน์ และไม่ได้ต้องการไล่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกจากสมาชิกพรรคแต่อย่างใด