ส.วิศวกรรม-นักพัฒนาชี้ย้ายนิคมไปอีสาน อย่าเหลื่อมล้ำซ้ำรอยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล
อดีตนายกฯส.วิศวกรรมชี้ย้ายนิคมอุตฯไปอีสานเรื่องใหญ่ไม่ควรชี้นิ้วสั่ง ต้องระดมผู้เชี่ยวชาญศึกษารอบด้านไม่ใช่แค่ป้องกันน้ำท่วม นักพัฒนาอีสานไม่ค้านแต่ติงอย่าให้รวมศูนย์ความเหลื่อมล้ำซ้ำรอยกรุงเทพฯ ต้องคิดถึงรากเหง้าภูมิภาค-ท้องถิ่น
ภายหลังคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)มีแนวความคิดเปิดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นแหล่งรองรับการลงทุนแห่งใหม่เพิ่มขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง เพื่อลดความเสี่ยงด้านอุทกภัย เพราะเป็นพื้นที่สูงและมีโลจิสติกส์ภูมิภาคอาเซียนผ่านเส้นทางพม่า-กรุงเทพฯ-ลาว-ฮานอย
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” สัมภาษณ์ รศ.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่สูง การป้องกันน้ำท่วมอาจทำได้ แต่การจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมมันต้องดูหลายมิติจะมองด้านเดียวไม่ได้ เรื่องนี้ควรให้นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ศึกษาองค์ประกอบของพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่มีอำนาจแล้วจะชี้ให้นิคมฯไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ได้ ต้องดูบทเรียนว่าการเอาพื้นที่ปลูกข้าวที่ดีที่สุดอย่างอยุธยาไปทำโรงงานก็เป็นความผิดพลาดมาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้นต้องพิจารณาให้รอบคอบ เชื่อว่าอุตสาหกรรมที่ชาวบ้านไม่อยากได้คืออุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
“รัฐบาลหรือกยอ.ควรให้นักวิชาการอิสระที่ไม่มีผลประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ให้ความเห็นตรงไปตรงมาเข้าไปร่วมทำงาน จะได้ความคิดเห็นที่เป็นกลาง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา อีกทั้งการตัดสินใจต่างๆเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องฟังความเห็นหลายๆฝ่าย” รศ.ต่อตระกูล กล่าว
ด้าน อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคอีสานก็มีโรงงานเข้ามาตั้งแล้วหลายจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก เช่นที่ยโสธร ร้อยเอ็ดก็เป็นอุตสาหกรรมเย็บผ้าที่ทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ตนไม่ติดใจที่จะยกอุตสาหกรรมมาภาคอีสาน แต่สิ่งที่ต้องคิดมากกว่านั้นคือบทเรียนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่นที่อยุธยา ลาดกระบัง เป็นการคิดถึงเพียงโลจิสติกส์หรือการขนส่งต้นทุนต่ำ เอาผลประโยชน์ของทุนเป็นที่ตั้งโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอื่นตามมา
“โรงงานประเภทใดจะมาก็ตาม การดูแลคนงานต้องดีขึ้นและมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องยกระดับค่าตอบแทนของคนทำงาน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระบบรับฟังความคิดเห็นของคนงาน อนุญาตให้มีสหภาพแรงงาน เมื่อรัฐบาลจะสร้างนิวไทยแลนด์ เรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนก็ต้องนิวด้วย”
ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวต่อว่า นิคมอุตสาหกรรมที่รัฐไม่ควรนำมาตั้งอีสานคืออุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ อุตสาหกรรมที่ใช้สารตะกั่ว เป็นศัตรูกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีบทเรียนเมื่อหลายปีก่อนที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เกิดเรื่องร้ายแรงคือคนงานส่วนใหญ่สูดเอาสารตะกั่วสะสมในร่างการเสียชีวิตหลายราย แต่ไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง หวังว่ารัฐบาลจะไม่เอาประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดกับคนลำพูนมาซ้ำเติมคนอีสาน ซึ่งถ้ามีอุตสาหกรรมดังกล่าวมาที่อีสาน องค์กรภาคประชาชนจะตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รัฐบาลต้องคำนึงถึงบทเรียนที่ผ่านมา และทุนจะต้องเข้าใจในวิถีชีวิตคนงาน ยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่นมีหมู่บ้านล่มสลายเพราะโรงงาน ประเทศไทยไม่ควรจะเดินตามบทเรียนที่ล้มเหลว
“การย้ายนิคมอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่น้ำท่วม ตามบริบทความเดือดร้อนผมเห็นด้วย ที่ผ่านมาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นรูปธรรมของความไม่เป็นธรรมในประเทศนี้ การลงทุนหรือการพัฒนาอะไรลงไปในบริเวณนั้นก็เท่ากับการดึงดูดคนไปที่นั่น ทำให้เกิดความแออัด เกิดปัญหาสังคมตามมา เพราะฉะนั้นในอนาคตการที่จะไม่เอาทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯเป็นเรื่องที่รัฐต้องคำนึงไม่ซ้ำรอยกับกรุงเทพฯ แต่ต้องไม่ลืมรากเหง้าเดิมของภูมิภาคและท้องถิ่นนั้นๆด้วย” อุบล อยู่หว้า กล่าว .