ถอดบทเรียนอนาคตวารสารฯ สร้างนักข่าวพันธุ์ใหม่ ยุคคอนเวอร์เจ้นท์
นักวิชาการ จับมือนักวิชาชีพแลกเปลี่ยน สะท้อนมุมมอง อนาคตวารสารศาสตร์ ยุคคอนเวอร์เจ้นท์ สร้างกรอบการทำงานเท่าทันการเปลี่ยนแปลง คงไว้ซึ่งจริยธรรมวิชาชีพ
จากเดิมวิทยุ ทีวี และหนังสือพิมพ์ ที่ผูกขาดตลาด ค่อย ๆ คลายอำนาจลง เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้เสพกลายเป็นผู้ผลิตเนื้อหาสื่อ ซึ่งดูเหมือนจะเข้าถึงกลุ่มคนและมีความหลากหลาย ขณะที่สื่ออาชีพมีจำนวนมากขึ้นก็จริง กลับถูกตั้งคำถามจากสังคม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
นักวิชาการ นักวิชาชีพ ในแวดวงสื่อสารมวลชน จึงจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนมุมมองภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด และนำไปสู่การปรับตัวเท่าทันยุคสมัย ภายใต้การประชุมยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 11 ปี 2558 หัวข้อ “ถอดบทเรียนคอนเวอร์เจ้นท์ จากอดีต สู่อนาคต”
โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ณ อาคารนวมินทราธิราช นิด้า
สื่อมวลชนอาวุโส ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ที่ปรึกษากอง บก.เครือเนชั่น เปิดประเด็นด้วยการหนุนเต็มสูบในการพัฒนานักข่าวให้มีศักยภาพเพียบพร้อม ทั้งสัมภาษณ์ รายงาน และวิเคราะห์ข่าว เบ็ดเสร็จในคนเดียว ที่สำคัญ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรม ซึ่งทุกคนควรเอาใจใส่ด้วยการสร้างจิตสำนึก
อีกทั้งยังเชื่อว่า แม้ภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด ต่อจากนี้ไปคงไม่มีใครชนะการนำเสนอข่าวด้วยความเร็ว ประเภท Breaking news แล้ว ตรงกันข้ามนำเสนอข่าวช้า แต่ถูกต้อง ลึก และให้ข้อมูล กลับดีมากกว่า (อ่านประกอบ:‘สุทธิชัย หยุ่น’ ชำแหละสื่อไทย ยกเคส ‘ปอ ทฤษฎี’-ราชภักดิ์’)
ขณะที่ 'ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์' คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย พูดถึงภูมิทัศน์สื่อว่า อนาคตไทยจะมี 4G โอกาสเสพเนื้อหาประเภทวีดิโอมีมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตตามมา แต่เวลาของผู้เสพสื่อมีเท่าเดิม เพราะฉะนั้นจึงเลือกเสพเฉพาะคอนเทนต์ที่สนใจ และไม่เข้าไปเสพตามผังรายการปกติ
“ปัญหาสำคัญ คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์อย่าง นักข่าว ผอ.ข่าว กลับยังมีกรอบคิดระบบเดิม ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป” เขากล่าว และว่าอนาคตกรณีสื่อมวลชนผลิตรายการให้ผู้บริโภคเสพ แต่ผู้บริโภคอยากเสพคอนเทนต์ที่ต้องการ ฉะนั้นจะปรับตัวอย่างไรให้ตรงกับความต้องการเหล่านั้นของผู้บริโภคได้
ส่วนการเปลี่ยนแปลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการ พบว่า นักข่าวให้การตอบรับกับเทคโนโลยีมาก โดยเฉพาะ ‘เนชั่น’ โหมการใช้โซเซียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพื่อการข่าว แต่ปัจจุบันการใช้ของสื่อหลายสำนักที่มีมากขึ้น บางส่วนกลับเป็นไปในลักษณะ ‘หยิบ’ หรือ ‘ฉวย’ เนื้อหามานำเสนอเลย โดยปราศจากการตรวจสอบ
มิหนำซ้ำยัง ‘ลอก’ หรือ ‘จิ๊ก’ ซึ่งละเมิดสิทธิหลายอย่าง เพราะบางครั้งเนื้อหาข้อมูลเหล่านั้นอาจต้องการรำพึงรำพันส่วนตัว แต่กลับถูกนำมาเป็นข่าวใหญ่ อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึงจริยธรรม ฉะนั้นแม้จะพัฒนาการใช้โซเซียลมีเดียมากเพียงใด แต่ต้องตั้งคำถามในเชิงจริยธรรมด้วยว่า นำมาพัฒนาเรื่องคุณภาพข่าวจริงหรือไม่
ด้านอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ‘จักร์กฤษ เพิ่มพูล’ ชวนมองภาพหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีทีวีดิจิทัล จะเห็นว่า คนทำทีวี 80% มาจากคนทำหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ถือเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะคนทำหนังสือพิมพ์ หากมีการลาออกหนึ่งคน จะไม่มีการรับใหม่ แต่คนที่เหลืออยู่ต้องทำต่อไป เมื่ออนาคตเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงเลือกทำข่าวทีวี ซึ่งได้รับค่าตัวสูงมาก ทั้งนี้ แม้จะมีการปรับตัวเกิดขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพกลับไม่ได้ปรับไปด้วย
“คนรุ่นผมทำงานสื่อมา 20-30 ปี กว่าจะไต่เต้าขึ้นเป็น บก. ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เดี๋ยวนี้ทำงาน 2- 3 ปี ก็เป็นได้แล้ว ฉะนั้นคุณภาพของข่าวจึงสะท้อนถึงตัวตนของคนทำข่าว โดยเป็นข่าวไม่มีคุณภาพ หรือหมิ่นเหม่ทางจริยธรรม”
เขายังยกตัวอย่างการนำเสนอข่าว ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดง ว่า มีการละเมิดสิทธิในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิผู้ป่วย สิทธิส่วนบุคคล สิทธิเด็ก น่าแปลกใจ! ยังไม่เห็นผู้บริหารข่าวของสถานีใดหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด จะสนใจในการตักเตือนเลย
อย่างไรก็ตาม โทษนักข่าวไม่ได้ เพราะผู้บริหารข่าวสั่งมาว่า ให้ถ่ายภาพให้ได้มากที่สุด เขียนข่าวให้ได้มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ข่าวคุณภาพไม่เกิดขึ้น เพราะความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวยังเป็นปัญหาพอสมควร
ส่วนความคาดหวังนักข่าวยุคใหม่ต้องเพียบพร้อม เปิดหน้าได้ พูดวิทยุได้ ทำหนังสือพิมพ์ได้ จักรกฤษ บอกว่า เอาเข้าจริงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่จะมีคุณลักษณะเช่นนั้นต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ ซึ่งมีไม่กี่คนเท่านั้น เนื่องจากลักษณะงานที่ต่างกัน ไม่มีทางเหมือนกันได้ เขียนสคริปข่าวอย่างหนึ่ง พูดวิทยุอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปจึงเป็นไปไม่ได้
สอดคล้องกับแนวคิดของ 'อาจารย์สกุลศรี ศรีสารคาม' สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บอกว่าความมุ่งหวังให้นักข่าวทำได้หลายทักษะ ไม่ใช่นักข่าวทุกคนจะทำได้ และหากทำไม่ได้จะต้องทำอย่างไรต่อไป กอง บก.จำเป็นต้องปรับตัวสร้างคนกลางขึ้นมา เพื่อดึงข้อมูลที่นักข่าวเก็บมาดัดแปลง ประกอบสร้าง ให้เหมาะสมแต่ละแพลตฟอร์ม แทนที่จะมีเฉพาะบุคลากรทำหน้าที่เช็คข่าว รีไรท์ข่าว เพื่อนำเสนอเท่านั้น และต้องตอบโจทย์ผู้รับสารได้อย่างเหมาะสม เกิดการมีส่วนร่วม แต่ขณะนี้แพลตฟอร์มที่มีจำนวนมาก ยังไม่มีเนื้อหาข่าวจำนวนมากตาม สิ่งนี้จึงต้องพัฒนาต่อไป
ด้าน ‘ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล’ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ทีวีดิจิทัลที่มีมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์ มีเนื้อหาข่าวไม่แตกต่างกัน นั่นแสดงว่า เรายังตีโจทย์ไม่แตก ยังไม่นับรวมประเด็นต้องแย่งชิงเวลากับสื่อประเภทอื่น ซึ่งต้องยอมรับปัจจุบันหนังสือพิมพ์กับทีวีไม่ใช่สื่อหลักอีกแล้ว แต่ยังมีมือถือ คอมพิวเตอร์ ที่แย่งชิงความสนใจมาก สิ่งที่เกิดขึ้น จึงต้องใช้ยุทธวิธีทางการตลาดในการดึงคน ด้วยเหตุนี้ทำให้เราค่อนข้างมีปัญหา เลยเถิดเกินไป ไม่มีตัวดึงรั้งกลับมาให้มีความสมดุลและคงคุณค่าการนำเสนอเนื้อหาสาระที่ดี
เฉพาะทีวีดิจิทัลยังไม่ทำกำไร รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งแง่ต้นทุนจำเป็นต้องมีวิธีการที่ดี แต่ในแง่เนื้อหา พบว่า นักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนนักข่าวอาวุโสจะถูกดึงตัวประจำออฟฟิศ แตกต่างจากต่างประเทศ นักข่าวภาคสนามเป็นนักข่าวอาวุโส ซึ่งการส่งเด็กใหม่ทำให้โอกาสเกิดข้อผิดพลาดและวิจารณญาณเรื่องจริยธรรมวิชาชีพ การคิดไม่รอบคอบ ยังมีอยู่ จึงควรระมัดระวังเรื่องนี้
นอกจากเนื้อหาข่าวต้องมีคุณภาพ ไม่ละเมิดจริยธรรมแล้ว ความอยู่รอดของธุรกิจสื่อก็สำคัญ แล้วจะจัดความสมดุลไม่ให้ถูกแทรกแซงการทำงานได้อย่างไร ‘บรรยงค์ สุวรรณผ่อง’ กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แนะนำว่า เปรี้ยวหวานมันเค็มมีได้ แต่ต้องมีกรอบให้ชัดเจน ข่าว สารคดีเชิงข่าว คอลัมน์ อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก จะเปรี้ยวหวานมันเค็มก็ทำไป ขอเพียงอย่าละเมิดหรือดูแคลนศักดิ์ศรีของชาวบ้าน
ปัญหาต่าง ๆ ที่ประดังประเดเข้ามาในช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่านของสื่อไทย กลายเป็นโจทย์สำคัญที่คนข่าวต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขทันท่วงที โดยเฉพาะจิตสำนึกในหลักจริยธรรมวิชาชีพที่ถูกเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง หากยังขืนปล่อยปละละเลย แกล้งปิดตาข้างหนึ่งมองไม่เห็น เวลานั้นความเชื่อมั่นจะถูกลดทอนลงเทียบชั้นสื่อตลาดล่างที่กำลังบูมในโลกออนไลน์ .
ภาพประกอบ:www.admissionpremium.com