ปราบไอเอสให้สิ้นซาก งานหินของชาติตะวันตก
สส.ในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษใช้เวลาร่วม 10 ชั่วโมง ในการอภิปรายญัตติโจมตีทางอากาศกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย ก่อนจะไฟเขียวให้รัฐบาลเข้าเป็นแนวร่วมกับพันธมิตรอีก 10 ชาติ ในการโจมตีไอเอสได้ บรรดาสส. ที่อภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ต่างพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นการสู้กับกลุ่มก่อการร้ายที่ยึดแนวสุดโต่งและการโจมตีเป็นเรื่องที่ดีสำหรับอังกฤษ โดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ได้พูดโน้มน้าวบรรดาสส. ก่อนการลงมติว่าเป็นเรื่องที่สส. จะต้องตัดสินใจว่าอังกฤษจะบุกไปโจมตีที่มั่นที่เป็นหัวใจของไอเอส หรือจะไม่ทำอะไรเลยและรอให้ไอเอสเข้ามาก่อเหตุโจมตีในประเทศ
หลังการลงมติและหลังจากที่เครื่องบินรบได้ออกปฏิบัติการแล้ว นายคาเมรอนออกมาพูดอีกว่า การโจมตีทางอากาศกลุ่มไอเอสครั้งนี้คงไม่จบโดยเร็ว เขายอมรับว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่ง่ายและต้องอาศัยความอดทน ขณะที่นายไมเคิล ฟัลลอน รัฐมนตรีกลาโหมบอกว่าการโจมตีอาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปี ทั้งนี้เพื่อทำลายล้างไอเอสให้สิ้นซาก เขายอมรับว่าการโจมตีไอเอสในอิรักนับว่ายากลำบากแล้ว แต่ในซีเรียนั้นจะยิ่งยากลำบากมากกว่า ในเบื้องต้นเครื่องบินรบของอังกฤษพุ่งเป้าการโจมตีไปที่แหล่งน้ำมันของไอเอสทางตะวันออกของซีเรีย
แม้ว่านายฟัลลอนออกมาบอกว่า การโจมตีแหล่งน้ำมัน ทำความเสียหายหนักให้กับไอเอส แต่นักวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์การ์เดียนที่ตีพิมพ์ในอังกฤษ กลับชี้ว่าการโจมตีแหล่งน้ำมันสร้างความเสียหายในวงจำกัดเท่านั้น เพราะไอเอสมีรายได้มาจากแหล่งอื่นด้วย โดยขณะนี้รายได้หลักมาจากการเก็บภาษีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ยึดครอง รวมทั้งการขายโบราณวัตถุ การค้าทาสและการปล้นสะดม ทั้งไอเอสยังสามารถบริหารเงินได้ดีกว่ากลุ่มอัลไคด้าและตาลีบัน นอกจากนั้นไอเอสยังเป็นกลุ่มที่ช่ำชองในยุทธศาสตร์การรบ หน่วยรบของไอเอสมาจากอดีตทหารในกองทัพของนายซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก และไอเอสคงไม่ยอมถอยร่นจากฐานที่มั่นในเมืองรัคคาง่าย ๆ
นักวิเคราะห์ของการ์เดียนยังชี้ด้วยว่า ในปฏิบัติการถล่มไอเอสในอิรักนั้น ดูเหมือนว่าชาติพันธมิตรพอมีแผนอยู่ คือพยายามช่วยให้กองทัพอิรักและกองกำลังชาวเคิร์ดยึดพื้นที่คืนมาจากไอเอส แต่ในการปราบไอเอสในซีเรียนั้น ดูเหมือนว่ายังไม่มียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกัน โดยตอนนี้ชาติพันธมิตรฝากความหวังไว้ที่แสนยานุภาพทางอากาศของตนบวกกับหน่วยรบพิเศษหยิบมือหนึ่งของสหรัฐฯ ว่าจะเอาไอเอสให้อยู่หมัดได้
นายพลไมค์ ฟลินน์ ที่เพิ่งเกษียณเมื่อปีที่แล้ว หลังจากนั่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ มา 3 ปี ยอมรับกับหนังสือพิมพ์การ์เดียนว่า สหรัฐฯ ไม่มีแผนที่สอดคล้องกันในปฏิบัติการในซีเรีย รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังห่วงหน้าพะวงหลัง แง่หนึ่งนั้นไม่ต้องการถลำเข้าไปในข้อพิพาทในตะวันออกกลางอีกรอบ แต่อีกแง่หนึ่งก็เห็นว่าจำเป็นต้องปราบไอเอสให้สิ้นซาก ตอนนี้ก็เลยต้องรอมชอมด้วยการโจมตีทางอากาศเท่านั้น และไม่ส่งทหารราบเข้าไป
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ ได้ปรับยุทธศาสตร์ของตน โดยตัดสินใจส่งหน่วยรบพิเศษกลุ่มหนึ่งเข้าไป เพื่อเด็ดหัวแกนนำกลุ่มไอเอสและตัดเส้นทางระหว่างเมืองที่เชื่อมไปยังเมืองรัคคา ที่ถือว่าเป็นเมืองหลวงของไอเอส รวมทั้งตัดแหล่งรายได้จากน้ำมันของไอเอสด้วย
นายพลไมค์ ฟลินน์เห็นว่าการส่งหน่วยรบพิเศษเข้าไปในซีเรียนั้น ยังไม่พอ เขาเชื่อว่าการโจมตีทางอากาศไม่สามารถทำให้ไอเอสแตกทัพและถอยออกไปจากเมืองรัคคา เขาเชื่อว่าไอเอสจะหาทางตอบโต้กลับ ไอเอสไม่มีขีปนาวุธที่จะสอยเครื่องบินรบของชาติพันธมิตร แต่มีนักรบที่สามารถเข้าไปก่อการร้ายตามเมืองใหญ่ ๆ ได้ทั่วโลก
ยุทธศาสตร์อีกด้านคือหาทางตัดช่องทางการระดมพลนักรบต่างชาติ ไม่ให้เข้าไปร่วมรบในซีเรีย นักวิเคราะห์เห็นว่าการปิดกั้นพรมแดนซีเรียกับตุรกีเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำได้ แต่ที่สำคัญจะต้องหาทางลบล้างแนวคิดของไอเอสควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแนวคิดนี้ได้แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศ เช่น ลิเบีย บังกลาเทศ คาบสมุทรไซนายในอียิปต์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ ดร. อันเดรียส ครีก ที่ภาควิชากลาโหมศึกษา คิงส์คอลเลจ ในกรุงลอนดอน เห็นด้วยว่า ชาติตะวันตกยังไม่มียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการทำสงครามปราบไอเอส เขาชี้ว่านักรบไอเอสแฝงตัวปะปนอยู่กับประชาชนทั่วไป ทำให้การโจมตีทำได้ลำบากและเสี่ยงที่ประชาชนทั่วไปจะโดนลูกหลงด้วย การโจมตีทางอากาศจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีทหารราบเข้าไปร่วมรบ เพราะสามารถยึดครองพื้นที่ได้
นักวิเคราะห์ของการ์เดียนเห็นว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะปราบไอเอสได้ ความพยายามในการช่วงชิงอิรักกับซีเรียมาจากไอเอส และลดทอนอิทธิพลของไอเอสที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นเป็นเรื่องที่ยากและต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้ออีก การเข้าร่วมปราบไอเอสของอังกฤษเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของยุทธศาสตร์เท่านั้น
ส่วนมุมมองจากในซีเรียนั้น หนังสือพิมพ์ในกรุงดามัสกัส ต่างวิจารณ์ปฏิบัติการของอังกฤษ สำนักข่าวทางการของซีเรียชี้ว่าอังกฤษไม่ได้ขออนุญาตรัฐบาลซีเรียในปฏิบัติการโจมตีไอเอสครั้งนี้ และสิ่งที่นายคาเมรอนกล่าวนั้นเป็นเรื่องเท็จ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลซีเรียบอกว่าอังกฤษและชาติพันธมิตรควรทำตามรัสเซียที่ร่วมประสานงานกับรัฐบาลซีเรียในการปราบไอเอส
ในประเด็นนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ความเห็นที่ต่างกันของรัสเซียกับชาติพันธมิตรเรื่องอนาคตของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งแนวร่วมเพื่อปราบไอเอส ขณะเดียวกันคงยากที่คนซีเรียเองที่เหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายกับสงครามกลางเมืองในประเทศของตน จะเชื่อคำพูดของอังกฤษที่บอกว่าต้องโหมปฏิบัติการปราบไอเอส เพื่อทำให้เกิดสันติภาพ
ภาพประกอบจาก สำนักข่าวไทย