'ปธ.คตง.' ลั่น 'สตง.' มีอำนาจสั่งคืนท่อก๊าซฯ3.2 หมื่นล.ได้ หากปตท.ฝ่าฝืนมติครม.
ปตท.ระทึก! สตง.เตรียมสรุปผลสอบปมส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติ 3.2 หมื่นล้าน ปธ.คตง.ลั่นผิดจริงเอาสมบัติชาติคืนได้ พร้อมฟันวินัย-อาญาเจ้าหน้าที่ผู้ฝ่าฝืนมติ ครม.ด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า จากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวรสนา โตสิตระกูล กับพวกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอนการแปรรูปบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ บมจ.ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่กระทรวงการคลัง และครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550 ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการส่งมอบ
แต่ บมจ.ปตท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า บมจ.ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว โดยมิได้รอผลการตรวจสอบและรับรองจากสตง.ก่อน เป็นเหตุให้รัฐเสียหายไม่ได้รับท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมูลค่า 32,000 ล้านบาทเศษ กลับมาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
นางสาวรสนา จึงทำหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบการฝ่าฝืนมติครม.ของ บมจ.ปตท.และกระทรวงการคลังและให้ บมจ.ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติ มูลค่า 32,000 ล้านบาทเศษให้กระทรวงการคลังนั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวรสนา ได้ขอทราบผลการตรวจสอบจากนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งนายชัยสิทธิ์ได้แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้ผลการตรวจสอบใกล้เสร็จแล้วเสร็จเมื่อใด สตง.จะเสนอ คตง.เพื่อพิจารณาวินิจฉัย หาก คตง.มีคำวินิจฉัยเมื่อใดจะแถลงให้ทราบต่อไป
นายชัยสิทธิ์ ยังให้ความเห็นว่า คตง.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. และถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.จริง คตง. มีอำนาจแจ้งให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนปฏิบัติตามมติครม.ได้ ตลอดจนให้ดำเนินการทางวินัยและอาญากับความผิดทางละเมิดแก่เจ้าหน้าที่ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ได้
ฉะนั้น หากผลการตรวจสอบของสตง. ปรากฎว่า บมจ.ปตท.และกรมธนารักษ์ฝ่าฝืนมติครม. ที่ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองผลการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติจึงจะถือว่าการส่งมอบทรัพย์สินของแผ่นดิน ถูกต้องสมบูรณ์ สตง.ก็มีอำนาจแจ้งให้ บมจ.ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติมูลค่า 32,000 ล้านบาทเศษให้แก่กระทรวงการคลังได้ และแจ้งให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดำเนินการทางวินัยและอาญากับความรับผิดทางละเมิดแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้
ส่วนการที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งตามคำร้องของ บมจ.ปตท.เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2551 ว่า บมจ.ปตท. ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้วนั้น เป็นคนละส่วนกับการลงโทษฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติครม. ซึ่งเป็นกระบวนการลงโทษของฝ่ายบริหารอันเป็นอำนาจหน้าที่ของ คตง.และ สตง.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ทั้งนางสาวรสนาก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนคำสั่งวันที่ 26 ธ.ค.2551 เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ เนื่องจากตามข้อเท็จจริง บมจ.ปตท.ยังส่งมอบทรัพย์สินของแผ่นดินให้แก่กระทรวงการคลังขาดไป 32,000 ล้านบาท ขณะนี้คำร้องยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ดี หากผลการตรวจสอบของ สตง.ปรากฎว่า บมจ.ปตท. และกรมธนารักษ์มิได้ฝ่าฝืนมติ ครม.18 ธ.ค.2550 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ คตง.จะให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยนำความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินมาประกอบการพิจารณาด้วย