คนไทยพลัดถิ่น มีบัตรประจำตัวไม่ถึง 10% ชี้เหตุ จนท.ทุจริต-อคติ
คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เผย มีคนไทยพลัดถิ่นเพียง 10% เท่านั้น ที่ได้เอกสารรับรอง ชี้ปัญหาคอรัปชั่นภายใน บวกกับทัศนคติไม่ดีของเจ้าหน้าที่ ส่งผลต่อความล่าช้า ซ้ำร้าย บางคนถูกสวมสิทธิ์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายภควินท์ แสงคง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นในปัจจุบันว่า ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.เรื่องสัญชาติ ฉบับที่ 5 แล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันกลุ่มคนที่ได้รับสัญชาติจริงๆ มีไม่ถึง 4,000 คน ด้วยซ้ำ จากจำนวนกว่า 40,000 คน
นายภควินท์ กล่าวถึงเหตุที่การทำงานยังล่าช้า เพราะมีการคอร์รัปชันในกลุ่มข้าราชการกันเอง พบมีการสวมสิทธิ์ ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ กลับถูกจำหน่ายชื่อออกไป รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐยังมีอคติกับกลุ่มคนพลัดถิ่นเหล่านี้ ทำให้การยื่นเรื่อง ออกเอกสารล่าช้ามาก
ในกลุ่มคนที่ถูกจัดในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นนั้น นายภควินท์ ระบุว่า มีกลุ่ม 3 ประเภท คือ
1. คนที่มีสิทธิ์ในการยื่นเรื่อง ยื่นเอกสารเพื่อออกเอกสารบัตรประจำตัว ซึ่งก็คือ 4000 กว่าคนที่กล่าวมา
2. คือกลุ่มคนที่ถูกจัดให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ซึ่งเป็นความผิดพลาดในพิสูจน์ในขั้นต้น ทำให้คนกลุ่มนี้หากจะต้องการสัญชาติไทย จำเป็นต้องไปพิสูจน์สัญชาติกับทางการเมียนมาก่อน แต่ปัญหาคือ เมียนมาก็บอกว่าพวกเขาเป็นคนไทย สุดท้ายไม่มีใครคนเหล่านี้
3. กลุ่มที่ถูกจำหน่ายออกไป ถามว่าถูกจำหน่ายออกไป อันเกิดจากมีคนมาสวมสิทธิ์คนคนนั้นไป ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องการคอรัปชันภายใน และปัญหาก็เกิดกับคนที่มีสิทธิจะได้เหล่านี้ ทำให้ปัจจุบัน พวกเขาแทบไม่มีตัวตนเลย เพราะชื่อถูกจำหน่ายไปเรียบร้อยเเล้ว แล้วปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น เพราะลูกหลานก็ได้รับผล เพราะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนต่างๆ ในสังคมได้เลย
"เรื่องราวเหล่านี้พวกเราต่อสู้กันมานาน แม้ว่าในทางกฎหมายดูเหมือนพวกเขาจะได้สิทธิความเป็นคนไทยเเล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าตรงกันข้าม"กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น กล่าว