ธนารักษ์เว้นค่าเช่าที่ดินเกษตร-ที่อยู่อาศัย 2 ปี ช่วยผู้ประสบอุทกภัย
กรมธนารักษ์ทุ่มงบ 17 ล. ช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุประสบภัยน้ำท่วม 8 จังหวัด ทั้งที่บ้าน ทเกษตร อาคารพาณิชย์ 13,000 ราย เสียหายบางส่วนยกเว้นค่าเช่า 1 ปี – เสียหายทั้งหลังเว้น 2 ปี
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช. คลัง) กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการกรมธนารักษ์เร่งรายงานผลการสำรวจพื้นที่ในจังหวัดได้รับผลกระทบอุทกภัย โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้เช่าที่ราชพัสดุ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน เบื้องต้นได้กำหนดมาตรการ คือ กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย หากที่พักเสียหายบางส่วน ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี ถ้าเสียหายทั้งหลัง 2 ปี หรือกรณีเช่าเพื่อประกอบการเกษตร หากพืชหรือผลผลิตเสียหายให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี และกรณีเช่าอาคารราชพัสดุ หากไม่สามารถประกอบอาชีพเกิน 3 วัน ให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นเวลา 1 เดือน
รมช.คลัง กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจผู้เช่าที่ราชพัสดุได้รับความเสียหายจากอุทกภัยใน 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก สุพรรณบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ทั้งสิ้น 13,922 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 10,231 ราย รองลงมาเช่าเพื่อประกอบการเกษตร จำนวน 1,993 ราย เช่าอาคารพาณิชย์ จำนวน 1,595 ราย และเช่าเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น จำนวน 103 ราย หรือคิดเป็นเงินที่ต้องยกเว้นการเก็บค่าเช่าประมาณ 17,000,000 ล้านบาท ส่วนอีก 2 จังหวัดคือ จังหวัดสุโขทัย และกำแพงเพชร แม้จะเกิดอุทกภัยแต่ในส่วนของผู้เช่าที่ราชพัสดุไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
การเรียกเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ ปกติกรมธนารักษ์เก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในอัตราต่ำอยู่แล้ว กรณีที่เป็นการเช่าเพื่อการเกษตรขั้นต่ำอยู่ที่ 20 บาทต่อไร่ต่อปี หากการเช่าเพื่ออยู่อาศัย คิดค่าเช่าขั้นต่ำตารางวาละ 25 สตางค์ต่อเดือน ส่วนผู้เช่าอาคารราชพัสดุคิดค่าเช่าขั้นต่ำตารางเมตรละ 2 บาทต่อเดือน สำหรับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายขณะนี้ จะสามารถประเมินเป็นตัวเลขได้คงต้องรอให้สถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ในแต่ละจังหวัด จะเร่งออกสำรวจและประเมินผลความเสียหาย แล้วนำมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
“ผู้เช่าสามารถสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ โดยจะต้องนำเอกสารไปยื่นเพื่อประกอบการพิจารณา ได้แก่ ภาพถ่ายแสดงสภาพอาคาร ที่อยู่ หรือที่ดินที่ได้รับเสียหาย และหนังสือรับรองจากผู้นำท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” นายวิรุฬ กล่าว .