องค์กรช่วยเหลือเด็กเล็งขยายโมเดล ร.ร.กันน็อค 300 แห่งในกทม.หวังลดอัตราเสียชีวิตเด็ก
องค์กรช่วยเหลือเด็กเตรียมเข้าพบผู้บริหารกทม. ขยายโมเดลโรงเรียนกันน็อค 300 แห่งภายในปี2560 หลังสถิติเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 2,600 คน/ปี พบสวมหมวกกันน๊อคซ้อนท้ายช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อชีวิตถึง 58%
เมื่อเร็วๆนี้ องค์กรช่วยเหลือเด็กSave The Children เปิดตัวและเสวนารณรงค์ “ ฮีโร่ กันน็อค” ณ โรงแรมแมริออท กรุงเทพ สุขุมวิท 57
นางสาวอรุณรัตน์ วัฒนะผลิน ผู้จัดการโครงการความปลอดภัยทางถนน ขององค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children )ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การช่วยเหลือเด็กและภาคีเครือข่ายจะเตรียมเข้าพบนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่ากทม.ฝ่ายการศึกษา เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการรณรงค์สวมหมวกกันน็อคในโรงเรียนนำร่องสังกัดกทม.จำนวน 6 แห่ง และเตรียมขยายผลโครงการไปยังโรงเรียนอีก 300 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
“ก่อนหน้านี้เราพบว่าครอบครัว และโรงเรียนจำนวนมากสามารถเข้าถึงหมวกนิรภัยได้ แต่อัตราเด็กที่สวมใส่ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก เราจึงทำคู่มือการรณรงค์แบบใหม่โดยให้เด็กนักเรียนเป็นผู้นำ พบว่าอัตราสวมหมวกกันน็อคเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ซึ่งถือว่าน่าพอใจมากเพราะใช้เวลาแค่ภาคการศึกษาเดียวเท่านั้น แต่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กได้อย่างชัดเจน”
นางสาวอรุณรัตน์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องเดินหน้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะสถิติการเสียชีวิตของเด็กจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงถึง 2,600คน/ปี บาดเจ็บปีละ 72,000 คนซึ่งถือว่าสูงมาก โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกติดต่อกันมาหลายปี เราต้องหยุดสถิติตรงนี้และทำให้ยอดการเสียชีวิตลดลง เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องป้องกันได้และทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกัน
อาจารย์หทัยรัชฌ์ เปี่ยมวิทย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางจาก (โกมลประเสริฐอุทิศ) หนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการฮีโร่กันน็อค กล่าวว่า วิธีการของโรงเรียนคือให้พี่แกนนำ (นักเรียนป.4-6) สาธิตเรื่องความเสี่ยต่อการบาดเจ็บทางศีรษะเวลานักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติ ตอนเช้า โดยจะนำแตงโมมาสองลูก ลูกนึงอยู่ในหมวกกันน็อค อีกลูกเป็นแตงโมเปล่า นำแตงโมทั้งสองลูกปล่อยลงพื้นพร้อมกัน แตงโมที่ไม่มีหมวกกันน็อคจะแตก เปรียบได้กับศีระษะเด็กที่ไม่ได้ใส่หมวกนิรภัย
“การเสนอกิจกรรมดังกล่าวเวลาเข้าค่าย ถือว่าได้ผลมาก เพราะเด็กๆเห็นภาพชัดเจนทันทีว่าถ้าเขาไม่ใส่หมวกกันน็อคจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้รู้สึกกลัวและได้นำเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ไปกระตุ้นผู้ปกครอง และชุมชนอีกต่อหนึ่งว่าต้องใส่หมวกกันน็อค นักเรียนแกนนำเหล่านี้ยังได้รับเชิญจากชุมชนใกล้เคียง และสถานีตำรวจให้ไปช่วยกิจกรรมรณรงค์สวมหมวกกันน็อคอีกด้วย”
นอกจากนี้รายงานสถิติของมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่า หากผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ใส่หมวกกันน็อคจะช่วยลดอัตราเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตจาก อุบัติเหตุได้ 43% สำหรับคนซ้อนท้ายรวมถึงเด็กนักเรียน หากสวมหมวกกันน็อคจะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อชีวิตจากอุบัติเหตุ ได้ถึง 58%