นักผังเมือง-นักสิทธิฯ เรียกร้อง กยอ.ทำ “ผังชุมชน” รับมือภัยพิบัติอนาคต
นักสิทธิฯ หวั่น กยอ.ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน เรียกร้องประชาสังคมร่วมกำหนดอนาคตประเทศด้วยการร่วมทำผังเมืองชุมชนที่เอื้อต่อวิถีเกษตร-ท้องถิ่น ด้านนักวิชาการชี้ผังเมืองที่ดีต้องเหมาะกับบริบทพื้นที่ ผังชุมชนที่ชาวบ้านร่วมด้วยป้องกันภัยพิบัติได้
จากกรณีที่นายศิริวัฒน์ ไกรสิน สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) วางผังเมืองประเทศใหม่ โดยเฉพาะการจัดการผังเมืองชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามเรื่องการวางผังเมือง ซึ่งกล่าวว่าผังเมืองชุมชนคือการจัดวางระบบชีวิตประชาชนให้สอดคล้องกับสิทธิการดำรงชีพ การประกอบอาชีพด้วยความเป็นธรรม โดยภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการที่คนในท้องถิ่นจะมีอำนาจตัดสินใจกำหนดผังเมืองที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
นางสมลักษณ์ กล่าวว่า กยอ.ในขณะนี้ยังขาดความร่วมมือจากภาคประชาสังคม มองภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวชี้วัดอนาคตมากกว่าภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และเป็นฐานรายได้หลักของประเทศ จนอาจส่งผลถึงการจัดผังเมืองชุมชนจากความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นทั้งนี้ภาคประชาชนควรร่วมกำหนดอนาคตประเทศ ด้วยการยื่นข้อเสนอจัดการผังเมืองชุมชนที่เอื้อต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมท้องถิ่น
“ฝากถึง กยอ.คือ 1.ให้คำนึงว่าประชาชนมีสิทธิตาม รธน.ที่จะเลือกประกอบอาชีพและวิถีชีวิต 2.เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิจัดการสิ่งแวดล้อมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ 3.เคารพการตัดสินใจของประชาชนที่ต้องการเลือกวิถีชุมชนเอง 4.รัฐไม่มีสิทธิใช้อำนาจกฎหมายโดยไม่ชอบธรรมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านโดยขาดการรับฟังประชาสังคม ผังเมืองชุมชนที่ดีเกิดขึ้นได้หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน” สมลักษณ์ กล่าว
ขณะที่ นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านการโยธาและผังเมือง กล่าวว่า ผังเมืองเป็นการวางแผนเพื่อเป็นแนวทางจัดการทั้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน คมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยมักจัดทำแผนตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะที่ผังชุมชนเป็นการวางแผนจัดระบบในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างเหมาะสม ซึ่งควรอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน
นางภารนี ยังกล่าวว่า แนวโน้มที่ประเทศไทยจะพัฒนาผังชุมชนเป็นไปได้สูง เนื่องจากท้องถิ่นสามารถออกเป็นบทบัญญัติท้องถิ่นได้ แต่ควรดำเนินการจริงจัง และส่งเสริมชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีส่วนร่วมในการทำผังชุมชน ซึ่งก็คือผังชุมชนที่ดีต้องมีกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งจะสามารถป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีทางหนึ่ง .