องค์กรผู้บริโภคจี้รัฐหนุนติดอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ได้มาตรฐาน
องค์กรเพื่อผู้บริโภคภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเรียกร้องผู้บริโภคใช้ข้อมูลจากการทดสอบในการตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคอาหาร ระบุช่วยประหยัดและทำให้ได้ของที่มีคุณภาพ เตือนอย่าหลงเชื่อข้อมูลโซเชียลมีเดีย พร้อมจี้รัฐบาลทำข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรฐานรถยนต์
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าวเรื่อง “ความร่วมมือในการทดสอบสินค้าและบริการขององค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและบรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลี ฮ่องกง จีน และองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research Testing หรือ ICT) ประเทศอังกฤษ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าสำหรับเด็ก อุปกรณ์เครื่องนอน อาหาร ซึ่งในปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ใช้ข้อมูลการทดสอบของ ICRT จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสมาร์ทโฟน โปรแกรมสแกนไวรัส กล้องดิจิตอล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคประหยัดและได้ของที่มีคุณภาพ ทั้งนี้การใช้ข้อมูลของผู้บริโภคนอกจากจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยส่งพลังความต้องการไปยังผู้ประกอบการให้พัฒนาและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องที่ประชุมตกลงร่วมกัน คือ เราเห็นพ้องต้องกันว่าจะผลักดันให้รถยนต์ที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน และอย่างน้อยรัฐบาลควรสนับสนุนข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย
1.เพิ่มขีดความสามารถในการรับการชนและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่อยู่ในรถ
2.อุปกรณ์ป้องกันการชนสำหรับควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวแบบอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งจะร่วมมือเปิดเผยรายชื่อรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของทั่วโลกเพื่อยกมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ของทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สำหรับในปี 2559 สิ่งที่นิตยสารฉลาดซื้อจะทดสอบจะเป็นกลุ่มสินค้าประเภท การบริการส่งพัสดุ ฟิล์มกันรอยและถนอมสายตา การซื้อของออนไลน์ จีเอ็มโอในอาหารที่กำลังมีการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในขณะนี้เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ
ทั้งนี้ ตัวแทนจากองค์กรอื่น ๆ ยัง ระบุว่า การใช้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องอาหาร อย่างเช่น นมผง ในโซเชียลมีเดีย และทำให้ผู้บริโภคหลายคนเชื่อแม้บางครั้งข้อมูลเหล่านั้นอาจจะยังไม่ได้รับการทดสอบ ดังนั้นตัวผู้บริโภคเองก่อนที่จะเชื่อข้อมูลใด ๆ ก็ตามจะต้องดูด้วยว่าข้อมูลเหล่านั้นได้รับการทดสอบจากห้องทดลองหรือไม่ หากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีการทดสอบนั่นแปลว่าเรายังไม่ควรเชื่อ