นักสิทธิฯ ยกจีทีเอช สร้างตัวละครมีความหลากหลายทางเพศสภาวะ
ละครไทยกลุ่มเพศภาวะเพิ่มขึ้น ‘ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร’ ชี้หลายเรื่องยังเสนอเชิงตอกย้ำ ตีตรา ชมจีทีเอชทำดี สร้างตัวละครที่หลากหลาย แนะป้องกันการผลิตซ้ำ ต้องสร้างวงถกสื่อกันเอง พัฒนาองค์ความรู้ ผลิตผลงานอย่างเข้าใจธรรมชาติวิถีชีวิต
งานวิจัย เรื่อง การศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ โดยดร.กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา ซึ่งได้ศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาจากข่าวจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ 1 เว็บไซต์ โดยมีข้อค้นพบ อาทิ สื่อบางส่วนได้นำเสนอข่าวแบบตีตราและสร้างภาพตัวแทน
พร้อมกันนี้ มีการยกตัวอย่าง การใช้ภาษาและการให้สมญานามที่ตีตรา คุกคาม และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิงรักหญิงในหลายกรณี เช่น ดนตรีไทย ลดตัวคบทอม หลงดัชนี กลิ่นเลสเบี้ยนโชย หรือชายรักชาย เช่น อมนกเขา แก๊งค์เกย์ แก๊งค์ไม้ป่าเดียวกัน ส้วมเต็ม ระเบิดส้วม สายเหลือง ซึ่งเกิดจากการไม่มีความรู้อย่างแท้จริง (อ่านประกอบ:วิจัยชี้สื่อไทยเสนอข่าวกลุ่มเพศภาวะ เน้นตีตรา คุกคาม กระทบศักดิ์ศรีมนุษย์)
น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในอนาคตควรขยายผลงานวิจัยไปยังสื่อแขนงอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ที่ยังมีการนำไปล้อเลียนจนคนทั่วไปมองเป็นความเคยชิน ประกอบกับปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า ละครหลายเรื่องเริ่มมีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) แล้ว โดยเฉพาะละครแนววัยรุ่น หรือครอบครัว ซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมจากผู้ชมมากพอสมควรในยุคปัจจุบัน
"ปรากฎการณ์ละครนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTIQ มากขึ้นในวงการโทรทัศน์ หากมีการนำเสนอด้วยการสร้างความเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติและวิถีชีวิตแท้จริงจะเกิดประโยชน์ แต่จำนวนหนึ่งยังคงนำเสนอในเชิงตอกย้ำซ้ำเติมกับประเด็นที่สังคมกำลังมีอคติและตีตรา ฉะนั้นยิ่งสื่อมีการผลิตเนื้อหาซ้ำก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่มีประโยชน์ นำไปสู่ปัญหาและอคติต่อกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น"
น.ส.นัยนา กล่าวว่า ละครจำนวนมากพยายามจะนำเสนอเพื่อชี้ให้เห็นความเข้าใจธรรมชาติและวิถีชีวิต แต่ความพยายามนั้นยังขาดความรู้ที่เป็นเครื่องมือ ทำให้เมื่อต้องการผลิตผลงานที่สร้างสรรค์และดีงามจึงเกิดขึ้นยาก การจัดวงพูดคุยเพื่อพัฒนาความรู้มีความจำเป็นและสำคัญมาก เพราะคงไม่มีความรู้สำเร็จรูปให้หยิบมาใช้ได้ ควรต้องเกิดจากการนำประสบการณ์การทำงานมาแลกเปลี่ยนกัน ความรู้อะไรก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่ากับการตื่นรู้ด้วยตัวเอง
“บางครั้งการเขียนบทจำกัดต้องออกมาแบบนี้ การเลือกตัวละครจำกัดต้องออกมาแบบนั้น แต่ความหลากหลายทางเพศอยู่เนื้อใน มองไม่เห็น และไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า เรามีอคติ และตัดสินตีตรา” ผอ.มูลนิธิธีรนาถฯ กล่าว พร้อมยกตัวอย่าง ละครหลายเรื่องของจีทีเอช อยู่ในเกณฑ์ดี ตัวละครมีความอุดมสมบูรณ์ หมายถึง มีความหลากหลาย ซึ่งอยากให้มองความแตกต่างดังกล่าวเป็นความอุดมสมบูรณ์ของมนุษยชาติ
น.ส.นัยนา กล่าวด้วยว่า หลายครั้งมักเห็นพ่อแม่พยายามส่งความปรารถนาดีให้บุตรหลาน แต่กลับติดกรอบความคิดเรื่องเพศอยู่ กลายเป็นความข่มขื่น เจ็บปวด และแรงเสียดทานภายในที่ยากจะเข้าใจ การพัฒนาความรู้โดยผู้ผลิตสื่อจึงจำเป็นต้องทำให้พวกเขากระโจนเข้ามาเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง โดยที่ความรู้นั้นต้องไม่มาจากนักวิชาการหรือผู้รู้คนอื่น หากยังมองไม่เห็นจะนำมาสู่การผลิตซ้ำโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) L=Lesbian, G=Gay,B=Bisexual, T=Transgender, I=Intersex เเละ Q=Queer
ภาพประกอบ:www.nhrc.or.th