อธิบดีกรมพลศึกษาสั่งแก้งานก่อสร้างสนามกีฬาทั่ว ปท.-ยันไม่มีสร้างรุกป่าชุมชน
อธิบดีกรมพลศึกษาสั่งแก้งานก่อสร้างสนามกีฬาประจำอำเภอ-ตำบลทั่วประเทศ หลัง สตง. ทำหนังสือขอให้ทบทวน รับก่อนหน้านี้มีปัญหาจริง แต่ขอไม่พูดถึง ยันจะแก้ไขหลังจากนี้ ปรับปรุงมาตรฐานสนาม-ตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ยัน จ.ราชบุรี ไม่มีการก่อสร้างรุกพื้นที่ป่าชุมชน
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนโครงการก่อสร้างสนามกีฬาอำเภอและตำบล ปีงบประมาณ 2558 - 2559 ของกรมพลศึกษา หลังตรวจสอบพบว่าปัญหาการดำเนินงานโครงการในช่วงปี 2556 วงเงิน 1,080 ล้านบาท หลายประการ หากให้ดำเนินโครงการระยะต่อไปอาจทำให้เสียหายกับราชการ
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า สนามกีฬาที่ก่อสร้างไปแล้วในหลายอำเภอตำบล มีปัญหาอุปกรณ์ชำรุดไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่ เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จได้ไม่นาน มีประชาชนเข้าไปใช้งานจำนวนน้อย ขณะที่มีสนามกีฬาแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ได้รับอนุมัติงบประมาณ และนำไปสร้างในพื้นที่ป่าชุมชนนั้น
(อ่านประกอบ : หวั่น'กอบกาญจน์'ถูกหลอก!สตง.ลุยสอบส.กีฬาอำเภอทั่วปท.-เจอสร้างทับป่าชุมชน)
ล่าสุด นายกิตติพงษ์ โพธิมู อธิบดีกรมพลศึกษา เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ได้รับข้อสังเกตของ สตง. แล้ว และได้ตอบข้อซักถาม สตง. เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการตามข้อสังเกตของ สตง. ทุกประการ เช่น ที่ สตง. ท้วงติงเรื่องการครอบครองพื้นที่ในการก่อสร้างนั้น คราวนี้ได้สั่งการชัดเจนไปถึงสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงประสานไปยังส่วนราชการท้องถิ่น สังกัดกระทรวงมหาดไทยด้วว่า ให้ตรวจสอบเรื่องพื้นที่ในการก่อสร้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ราชพัสดุ ใครเป็นเจ้าของ และการขออนุญาตก่อสร้างให้ดูรายละเอียดว่ามีปัญหาติดขัดตรงไหนหรือไม่ ให้ดำเนินการแก้ไขก่อน รวมไปจะปรับปรุงมาตรฐานของสนามกีฬาให้มั่นคง แข็งแรง มีการปรับแบบ และกระบวนการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานตาม สตง. ส่งหนังสือมา
“วัสดุที่ใช้ต้องดี เหล็กต้องมีการรับรองคุณภาพทั้งหมด ซึ่งเราพยายามจะทำให้ได้ตามมาตรฐาน ให้ Standard มีสาธารณูปโภคครบวงจร ไฟฟ้า ประปาต้องมี” นายกิตติพงษ์ กล่าว
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการก่อสร้างสนามกีฬาทับซ้อนกัน หรือใกล้เคียงกับชุมชนที่มีสนามกีฬามาอยู่ก่อนหน้านี้ก็ได้กำชับและส่งหนังสือไปทางจังหวัดที่เป็นคนของบประมาณก่อสร้างว่า ให้สร้างห่างจากของเดิมประมาณ 5 กิโลเมตร และต้องสร้างในพื้นที่ชุมชน หากพื้นที่แห่งไหนใกล้กันเกินไปก็ขอให้ทบทวนใหม่ และยืดเวลาการก่อสร้างออกไปก่อน ส่วนเรื่องความคุ้มค่านั้น ได้สั่งการไปเหมือนกันว่า สนามกีฬาต้องได้ใช้ประโยชน์จริง ประชาชนต้องได้ใช้ ควรอยู่ในพื้นที่ชุมชน การคมนาคมสะดวกตลอดเวลา
“ที่ผ่านมาเกิดปัญหามากขึ้น ก่อนยุคที่ผมจะเข้ามาเป็นอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ก็ขอไม่พูดถึง แต่เราอยากจะมาแก้ไขปัญหา ให้อยู่ตามระเบียบขั้นตอนตามที่ สตง. ท้วงติงมา ก็อยากให้สำนักข่าวมาช่วยกันตรวจสอบด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส” นายกิตติพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า สตง. ระบุตอนหนึ่งว่า การก่อสร้างสนามกีฬาแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี มีการสร้างในพื้นที่ป่าชุมชนจริงหรือไม่ นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีพื้นที่ไหนก่อสร้างทับพื้นที่ป่าชุมชน ที่ จ.ราชบุรี มีเพียง 3 แห่ง คือ อ.จอมบึง อ.บ้านโป่ง และ อ.ดำเนินสะดวก ซึ่งทั้ง 3 แห่ง ก่อสร้างในพื้นที่มหาวิทยาลัย โรงเรียน และเทศบาลทั้งสิ้น ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงานการท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดคอยดูแล กำชับการก่อสร้างให้ตรงตามมาตรฐานด้วย
อ่านประกอบ :
โชว์หนังสือ3ฉบับ!สตง.ชง 'กอบกาญจน์-ปลัด-อธิบดี'ทบทวนส.กีฬาอำเภอ 945 ล.
กลิ่นเดียวทุจริตซื้อเครื่องเล่นฯ ป.ป.ท.ลุยสอบสนามกีฬาอำเภอ-ตำบล 2.9 หมื่นล.
เปิด 14 โครงการก่อสร้างสนามกีฬา กรมพลฯ 1.5 พันล. - 3 บริษัทกวาดอื้อ!
เปิดตัว!บ.มหวัฒน์ฯ-‘หุ้นใหญ่’ไม่ขอแจงปมรับเหมาสนามกีฬากรมพลฯ-คดีฟุตซอล
หมายเหตุ : ภาพประกอบการก่อสร้างสนามกีฬาจาก ASTVmanager