วิจัยชี้สื่อไทยเสนอข่าวกลุ่มเพศภาวะ เน้นตีตรา คุกคาม กระทบศักดิ์ศรีมนุษย์
เปิดผลวิจัยสังคมไทยกับความหลากหลายทางเพศในสื่อ ไทยรัฐ-ผจก.รายสัปดาห์-มติชนสุดสัปดาห์-กอสซิปสตาร์-บางกอกโพสต์-วอยซ์ทีวี พบนำเสนอข่าวชายรักชายมากสุด ใช้คำตีตรา คุกคาม วอนนักข่าวหยุดลดทอนศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 โครงการ Being LGBTI in Asia ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ สังคมไทยกับความหลากหลายทางเพศในสื่อ ณ ห้องช่องนนทรี โรงแรม Eastin Grand Hotel Sathorn กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ในเวทีมีการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง การศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศในสื่อ มี ดร.กังวาฬ ฟองแก้ว อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา เป็นหัวหน้าคณะวิจัย
โดยกระบวนการวิจัยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาจากข่าวที่เก็บจากสื่อหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ (ภาษาไทย 4 ฉบับ ภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ) และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ 1 เว็บไซต์ โดยใช้ระยะเวลาเก็บข้อมูลที่เป็นเนื้อหาข่าวที่ครอบคลุมช่วง 1 ปี ระหว่างเดือน กรกฎาคม 2557- มิถุนายน 2558 ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยแบบเจาะจงจากสื่อด้านข่าวที่ได้รับความนิยมในมิติต่าง ๆ
มีรายชื่อดังต่อไปนี้ หนังสือพิมพ์รายวัน 1 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ 2 ฉบับ คือ ผู้จัดการรายสัปดาห์ และมติชนสุดสัปดาห์, นิตยสารข่าวบันเทิง 1 ฉบับ คือ กอสซิปสตาร์, หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ คือ บางกอกโพสต์ และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ที่มีชื่อเสียงในส่วนของข่าวเกี่ยวกับผู้ความหลากหลายทางเพศ 1 เว็บไซต์ คือ วอยซ์ทีวี
ดร.กังวาฬ เปิดเผยถึงข้อค้นพบการวิจัยตอนหนึ่งว่า ในรอบ 1 ปี การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีทั้งหมด 870 ข่าว โดยแบ่งเป็น ไทยรัฐ 291 ข่าว (ร้อยละ 33) บางกอกโพสต์ 189 ข่าว (ร้อยละ 22) กอสซิปสตาร์ 155 ข่าว (ร้อยละ 18) วอยซ์ทีวี 137 ข่าว (ร้อยละ 16) ผู้จัดการรายสัปดาห์ 51 ข่าว (ร้อยละ 6) และมติชนสุดสัปดาห์ 47 ข่าว (ร้อยละ 5)
เมื่อศึกษาเปรียบเทียบจำนวนการนำเสนอข่าวในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง นักวิจัย ระบุว่า มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับชายรักชาย (gay) มากที่สุด 351 ข่าว (ร้อยละ 33.5) ตามด้วยบุคคลข้ามเพศ (transgender) 195 ข่าว (ร้อยละ 18.6) หญิงรักหญิง (lesbian) 143 ข่าว (ร้อยละ 13.6)
บุคคลรักสองเพศ (bisexual) 74 ข่าว (ร้อยละ 7.1) ผู้ไม่นิยามเพศ (queer) 41 ข่าว (ร้อยละ 4) และบุคคลสองเพศ (intersex) 2 ข่าว (ร้อยละ 0.2) มีการนำเสนอน้อย ทั้งที่มีตัวตนอยู่ในสังคม และมีการนำเสนอเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยรวม (LGBTIQ) 241 ข่าว (ร้อยละ 23)
ดร.กังวาฬ ยังกล่าวว่า สำหรับการนำเสนอภาพตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Representation of LGBTIQ) พบสื่อบางส่วนได้นำเสนอข่าวแบบตีตราและสร้างภาพตัวแทน ยกตัวอย่าง การใช้ภาษาและการให้สมญานามที่ตีตรา คุกคาม และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิงรักหญิงในหลายกรณี เช่น ดนตรีไทย ลดตัวคบทอม หลงดัชนี กลิ่นเลสเบี้ยนโชย
นอกจากนี้ยังมีภาพตัวแทนของชายรักชาย ถูกสร้างในฐานะผู้หมกมุ่นกับความสวยงาม เพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และอาชญากรรม ในบางกรณี ความเป็นเกย์ถูกใช้ในการลดทอนความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้เป็นข่าว รวมทั้งพบการใช้ภาษาและให้คำฉายานามที่ตีตรา คุกคาม และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น อมนกเขา แก๊งค์เกย์ แก๊งค์ไม้ป่าเดียวกัน ส้วมเต็ม ระเบิดส้วม ที่ร้ายแรงสุด คือ สายเหลือง
นักวิจัย กล่าวถึงบทสรุปจากข้อค้นพบว่า มีการนำเสนอข่าวโดยขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับ LGBTIQ แม้อาจไม่ตั้งใจนำเสนอในฐานะกลุ่มคนที่ผิดแผกแตกต่างจากผู้คนทั่วไป อย่างไรก็ตาม สื่อคัดเลือกและขับเน้นเพียงบางมิติของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป โดยเฉพาะมิติเพศสัมพันธ์
“สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการลดทอนความซับซ้อน สร้างความเข้าใจผิด และดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาก นอกจากนี้ LGBTIQ บางส่วนยังขาดพื้นที่หรือถูกละเลยจากสื่อ เน้นเฉพาะการนำเสนอข่าวสารในรูปแบบและลักษณะที่เป็นแบบฉบับไม่กี่ลักษณะ”
ดร.กังวาฬ กล่าวด้วยว่า การนำเสนอข่าวสารยังขัดต่อจริยธรรมตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งถือเป็นความท้าทายขององค์กรสื่อมวลชนต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการควบคุมจริยธรรมสื่อมวลชนในการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ขาดความรู้ความเข้าใจในมิติเพศสภาพ เพศวิถี และละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ท้ายที่สุด คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะ หนึ่งในนั้น คือ ควรสร้างความตระหนักในกลุ่มเจ้าของสื่อ ผู้บริหาร กองบรรณาธิการ รวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ให้เห็นความสำคัญในมิติเพศภาวะ เพศวิถี และสิทธิมนุษยชน รวมถึงพัฒนาเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
อีกทั้ง องค์กรสื่อควรสนับสนุนให้บุคลากรมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้และเพิ่มจำนวนการทำข่าวเชิงคุณภาพเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมุ่งเน้นในเชิงสร้างสรรค์และข่าวเชิงลึกให้มากขึ้น ตลอดจนการจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนตามที่องค์กรพัฒนาสื่อมวลชนดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น ให้เพิ่มประเด็นด้านเพศสภาวะ เพศวิถี และสิทธิมนุษยชนด้วย.