อัมพวัน วรรณโก กับการปรับโครงสร้าง “กรมการบินพลเรือน” ใหม่
“ทุกหน่วยงานมีความเห็นตรงกัน เราจะอยู่ในรูปแบบเดิมไม่ได้ เพราะขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ไม่คล่องตัว รวมถึงความพร้อมในการแข่งขัน”
กรณี องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization:ICAO) และ Federal Aviation Administration (FAA) ของสหรัฐ ได้เข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน โดยผลการตรวจที่เป็นปัญหา พบข้อบกพร่องสำคัญๆ กระทั่งนำมาสู่การปรับโครงสร้าง “กรมการบินพลเรือน” ใหม่ทั้งหมด
เดิมทีหน่วยงานนี้ติดปัญหาอะไร และแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ จนนำมาสู่การผ่าตัดกรมการบินพลเรือนครั้งใหญ่ ในเวทีการสัมมนากฎหมายจัดตั้งหน่วยงานการบินพลเรือนแห่งใหม่จะนำประเทศไทยออกจากวิกฤตการบินได้หรือไม่ จัดโดยโครงการสถาบันกฎหมายและขนส่งและพาณิชยนาวี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ นางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวถึงข้อบกพร่องที่ ICAO ตรวจพบ คือ ค่าขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงานพบถึง 93% การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของประเทศทั้งหมด พบว่า ตัวองค์กรมีความไม่เหมาะสม โดยเฉพาะด้านงบประมาณมีไม่เพียงพอ บุคลากรซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ ก็เป็นปัญหามีไม่เพียงพอไปกำกับอุตสาหกรรมการบินได้
นอกจากนี้ ICAO ยังพบว่า องค์กรกำกับดูแลไม่มีความอิสระ อยู่ภายใต้ระบบราชการ ต้องขออัตรากำลังเหมือนหน่วยงานราชการอื่นๆ
“เมื่อรับบุคลากรนอกจากมีจำนวนน้อยแล้ว เมื่อรับเข้ามาแล้ว เราไม่สามารถรักษาไว้ได้ จะอยู่กับเราสักพัก เนื่องจากอัตราค่าจ้างไม่สามารถแข่งขันกับภาคอุตสาหกรรมการบิน หรือแม้จะส่งไปเรียนต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็ออกไปเพราะอัตราค่าตอบแทนถูกกว่ากันมาก”
รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวถึงบุคลากรที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับงบประมาณทั้งสิ้น ซึ่งการฝึกอบรมในอุตสาหกรรมการบิน ไม่เหมือนการฝึกอบรมในอาชีพต่างๆ บางหลักสูตรเฉพาะ 1 คน เป็นหลักล้านบาท และไม่ได้อบรมครั้งเดียว แต่ต้องอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ขีดความสามารถบุคลากรสูงกว่านักบินที่ไปตรวจ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้
ปัญหาการตรวจสอบของกรมการบินพลเรือน นอกจากบุคลากรไม่เพียงพอทุกฝ่าย งบประมาณไม่มีเพียงพอ ไม่มีความรู้ความสามารถ ยังไม่ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่จะไปตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การกำกับดูแล และการสอบสวนอุบัติเหตุ ก็ยังอยู่ในหน่วยงานเดียวกันอีก
ข้อบกพร่องที่สำคัญ มี 2 เรื่องหลักๆ 1.การออกใบรับรองผู้ดำเนินการทางอากาศ มีการตั้งข้อสังเกตทำไมออกมาจำนวนมาก ในเวลาแค่ปีเดียว จึงมีความสงสัยกระบวนการออกใบรับรองถูกต้องหรือไม่ และ2.การปล่อยให้สายการบินขนสิ่งอันตรายโดยไม่มีการกำกับดูแล และเป็นที่มาของ “ธงแดง”
นางอัมพวัน มองการได้ธงแดงของไทยในแง่ดี เนื่องจากที่ผ่านมามีการพูดถึงข้อบกพร่องขององค์กรกำกับดูแลมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข หรือเข้าใจ ตระหนักว่า หากองค์กรกำกับดูแลมีสภาพอ่อนแอ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมากน้อยเพียงใด วันนี้เราไม่ต้องการคำอธิบายแล้ว
ส่วนโครงสร้างของกรมการบินพลเรือน ภายใต้ระบบราชการที่ต้องมีปรับปรุง ซึ่งผลการศึกษามีข้อแนะก่อนหน้านี้ว่า ควรมีการแยกระหว่าง Operator Regulator Investigator ส่วนหน่วยงานจะออกมาในรูปแบบไหน องค์กรอิสระ องค์การมหาชน ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่สนามบินมอบให้ท้องถิ่นดูแล เป็นต้น
“ทุกหน่วยงานมีความเห็นตรงกัน เราจะอยู่ในรูปแบบเดิมไม่ได้ เพราะขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ไม่คล่องตัว รวมถึงความพร้อมในการแข่งขัน”
ดังนั้น กฎหมายที่ออกมา 3 ฉบับ คือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 พ.ศ.2558 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558
สาระสำคัญคือ แยกกรมการบินพลเรือนออกเป็น 4 ส่วน
ส่วนหนึ่ง คือการจัดตั้งเป็น “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” หรือ กพท. (The Civil Aviation Authority of Thailand:CAAT) ทำหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยการบินของประเทศ มีสถานะไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นอิสระ
ขณะที่ “กรมการบินพลเรือน” ท่าอากาศยาน 28 แห่ง ยังอยู่ในการดูแล เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมท่าอากาศยาน”
สำหรับภารกิจสอบสวนอากาศยานประสบภัย จะฝากไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมก่อน เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจาก มีข้อกำหนดว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่สอบสวนอุบัติเหตุจะไปสังกัดกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการบินพลเรือนไม่ได้ หรือไปสังกัดทำหน้าที่เหมือนศาลยุติธรรมไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ความเห็นยังไม่เป็นที่ยุติ
นางอัมพวัน กล่าวถึงคำถามหนึ่งที่ ICAO ถาม องค์กรกำกับดูแลของประเทศนี้ แสดงให้เห็นว่า คุณจะมีบุคลากรที่เพียงพอ มีคุณภาพ มีการฝึกอบรม และสามารถรักษาบุคลากรไว้ได้ตลอดอย่างไร คำถามนี้เราตอบไม่ได้ในระบบราชการ เพราะคงต้องการองค์กรที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีความเป็นอิสระสามารถหารายได้ด้วยตนเอง มีงบประมาณเพียงพอในการฝึกอบรมบุคลากร
ดังนั้น ตามพ.ร.ก.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้อำนาจ CAAT หางบประมาณของตัวเองมาจากการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย เงินได้มาสามารถจ้างบุคลากรที่เพียงพอได้
ทั้งหมด แม้จะมีเงินมีงบประมาณเพียงพอแล้ว รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ก็ยังเชื่อว่า การสร้างบุคลากรแต่ละฝ่ายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ได้คนมาปุ๊บองค์กรจะเปลี่ยนได้ทันที..