กฤษฎีกายัน ก.ถ.มีอำนาจพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน พนง.ท้องถิ่นระดับ 6-7
กฤษฎีกาตอบข้อหารือสำนักงานปลัด มท. ยัน ก.ถ. มีอำนาจพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่นระดับ 6-7 แต่ต้องเอาเหตุผลของ ก.พ. มาดูด้วย หากเป็นผู้มีรายได้อื่นจากเงินเดือน ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะปรับเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อซักถามของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องอำนาจหน้าที่ในการปรับเงินเดือนของพนักงานส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กรณีขอปรับอัตราเงินเดือนพนักงานส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งนักบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นักบริหาร 6-7)
โดยกรณีนี้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือระบุว่า จากกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 เห็นชอบให้ยกระดับรายได้ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ โดยขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูงของทุกระดับเพิ่มขึ้น 3 ขั้น และปรับเงินเดือนของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กับผู้ที่ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าลงมา และประเภททั่วไประดับชำนาญงานหรือเทียบเท่าลงมา ให้ได้รับการปรับเพิ่ม 1 ขั้น
อย่างไรก็ดีมติคณะรัฐมนตรีกรณีนี้ไม่ครอบคลุมถึงพนักงานส่วนท้องถิ่น จึงเป็นที่มาให้คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ประชุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2558 พิจารณาแนวทางการยกระดับรายได้ของพนักงานส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับอัตราเงินเดือนขั้นสูงของพนักงานส่วนท้องถิ่นทุกอันดับด้วย และได้แจ้งให้คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) พิจารณาดำเนินการ
ต่อมากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มีหนังสือแจ้ง ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปรับเงินเดือนของพนักงานส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งประเภทบริหาร ซึ่งได้รับเงินประจำตำแหน่งและมีระดับเทียบเท่าข้าราชการพลเรือนประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ได้แก่ตำแหน่ง ปลัดหรือรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ 6-7 ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกอง ระดับ 6-7 และหัวหน้าส่วน (เทียบเท่ากอง) ระดับ 6-7 ว่า มีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1 ขั้น ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่
ทั้งนี้ ก.ถ. ได้ส่งข้อหารือไปยังสำนักงาน ก.พ. แล้วในเรื่องข้อกฎหมาย โดย ก.พ. ระบุตอนหนึ่งว่า ผู้ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน เป็นผู้ที่มีรายได้อื่นเพิ่มจากเงินเดือนอยู่แล้วจึงมิใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น
ต่อมา ก.ถ. จึงมีมติยืนยันให้ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ดำเนินการตามมติ ก.ถ. ต่อไป แต่ต่อมากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งให้หารือ ก.ถ. อีกครั้งว่า พนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งนักบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นักบริหาร 6-7) ได้แก่รองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับ 6-7 ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกอง ระดับ 6-7 หัวหน้าส่วน (เทียบเท่ากอง) ระดับ 6-7 และกลุ่มที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง ได้แก่หัวหน้าฝ่ายระดับ 6-7 จะมีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนหรือไม่ อย่างไร
เพื่อให้การปรับเงินเดือนของพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้อง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงขอหารือว่า ความเห็นของ ก.ถ. ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว โดยมีผู้แทนสำนักงานนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า
มาตรา 33 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฯ ได้บัญญัติให้ ก.ถ. มีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานกลางและแนวทางในการรักษาระบบคุณธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในเรื่องโครงสร้างอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอำนาจในการกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนย่อมครอบคลุมถึงการกำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนและการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่โครงสร้างอัตราเงินเดือนนั้น เพราะการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการพิจารณากำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนเพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง
ดังนั้น การที่พนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งนักบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นักบริหาร 6-7) จะได้รับการปรับเข้าสู่โครงสร้างอัตราเงินเดือนอย่างไรและเพียงใดเป็นเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าสู่โครงสร้างอัตราเงินเดือน มิใช่เป็นเรื่องวิธีการจ่ายเงินเดือน จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ถ. ที่จะต้องพิจารณา
อย่างไรก็ดี โดยที่การปรับให้พนักงานส่วนท้องถิ่นเข้าสู่โครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ตามข้อหารือนี้เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ซึ่งเป็นการปรับเงินเดือนให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดย ก.พ. ได้นำเรื่องสิทธิในการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาว่า ผู้ที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน เป็นผู้ที่มีรายได้อื่นเพิ่มจากเงินเดือนอยู่แล้วจึงมิใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ก.ถ. จึงควรนำเรื่องดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในการปรับให้พนักงานส่วนท้องถิ่นตำแหน่งนักบริหารงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นักบริหาร 6-7) เข้าสู่โครงสร้างอัตราเงินเดือนใหม่ด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบสำนักงานกฤษฎีกาจาก ASTVmanager