แผ่นดินไหว –แล้ง-ท่วม มาแน่ปี'59 นักวิชาการเตือนคนไทยเตรียมรับมือ
ปี 2559 กรุงเทพฯปริมณฑล ภาคเหนือ-ตะวันตก เสี่ยงแผ่นดินไหว อาคารสูง 15 ชั้นมีโอกาสถล่มสูง นักวิชาการระบุสถานการณ์ภัยแล้งน่ากังวลสุด แนะประชาชนสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก-กลาง ส่วนเขตเมืองรื้อฟื้นระบบคูคลอง
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2558 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดงานเสวนา “เจาะลึกประเทศไทยกับภัยภิบัติ ปี 2559 คนไทยเตรียมพร้อมหรือยัง ?” ณ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
กทม.-ปริมณฑล แอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูงสุดในประเทศไทย คือ จังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันตก เพราะเป็นพื้นที่ที่อาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดเดียวกับที่เพิ่งเกิดกับจังหวัดเชียงรายในปี 2557 ซึ่งมีขนาด 6.3 ริกเตอร์ นอกจากนี้ยังมีรอยเลื่อนที่มีพลังอีกหลายรอยที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7 ริกเตอร์ ที่สำคัญคืออาคารบ้านเรือนที่อาศัยในพื้นที่ไม่ได้ถูกออกแบบก่อสร้างให้ทนต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรง ดังนั้นอาคารอาจเกิดความเสียหายและทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวถึงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวจำเป็นต้องเน้นในเรื่องของการทำให้อาคารในพื้นที่เสี่ยงมีความมั่นคงแข็งแรง ต้องมีกฎหมายควบคุมการออกแบบก่อสร้างใหม่ กฎหมายส่งเสริมการเสริมกำลังอาคารเก่าที่อ่อนแอต้องมีมาตรฐานการออกแบบและเสริมกำลังเพื่อเป็นแนวทางแก่วิศวกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญจะต้องมีการฝึกวิศวกรให้สามารถนำมาตรฐานเหล่านี้มาใช้ได้อย่างถูกวิธี
สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวว่า ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินไหว แต่ความเสี่ยงของพื้นที่กทม.มีความแตกต่างจากบริเวณภาคเหนือ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ไกลจากกทม. แต่อาจส่งคลื่นสั่นสะเทือนมาเขย่าได้ เพราะพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ที่สามารถขยายความรุนแรงของคลื่นสั่นสะเทือนได้ 3-4 เท่าตัว
“คลื่นสั่นสะเทือนนี้จะเป็นคลื่นที่มีจังหวะการสั่นค่อนข้างช้า จึงมักจะเขย่าเฉพาะอาคารที่มีจังหวะการโยกตัวช้า ๆ นั่นหมายถึง อาคารที่สูงตั้งแต่ 15 ชั้นขึ้นไป ซึ่งงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า แผ่นดินไหวในบางกรณีอาจทำให้อาคารสูงเป็นจำนวนมากได้รับความเสียหายจนเป็นอันตรายต่อผู้คนในอาคาร และอาคารที่อ่อนแอบางหลังอาจพังถล่มได้ มาตรการควบคุมการออกแบบอาคารใหม่ให้แข็งแรงและมาตรการตรวจสอบอาคารเก่าที่อ่อนแอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องเร่งทำอย่างยิ่ง”
ชี้เผชิญอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ด้านรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในปี 2559 สถานการณ์ภัยแล้งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด จากอิทธิพลของปรากฎการณ์เอลนีโญในปีนี้ ส่งผลให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้ว 40% ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม
นอกจากภัยแล้งในช่วงต้นปี 2559 ช่วงตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปจนถึงปี 2560 ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะโลกจะเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับเอลนีโญ ผลกระทบสำหรับประเทศไทยนั้น คือ จะทำให้มีฝนปริมาณที่สูงกว่าปกติและอาจจะก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตามความรุนแรงจะมากเท่าใดขึ้นอยู่กับการเกิดลานีญาในไทยรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
“ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ระดับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ หากจะคาดการณ์ได้ชัดเจนต้องรอดูสถานการณ์ช่วงกลางปี 2559 จึงจะบอกได้ว่า ไทยจะเจอกับน้ำท่วมหรือไม่ และความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นจึงอยากเตือนคนไทยให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการรับมือ”
ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือของการรับมือกับน้ำท่วมนั้น ดร.เสรี กล่าวว่า ต้องหาพื้นที่พักน้ำหรือที่เรียกว่าโครงการแก้มลิง และต้องสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก กลาง ให้มากที่สุด เพื่อเก็บน้ำในฤดูฝนและใช้เป็นแหล่งสำรองน้ำในฤดูแล้ง
สำหรับพื้นที่เขตเมือง นักวิชาการด้านภัยพิบัติ กล่าวว่า จะต้องรื้อฟื้นระบบคูคลองและพื้นที่เก็บน้ำให้มีสัดส่วนคลองเหมาะสมกับการขยายตัวของเมือง
ขณะที่รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากเดือนมกราคม ปี 2559 รัฐบาลอาจจะต้องลดแรงดันน้ำ เพื่อลดน้ำรั่วและการใช้น้ำตอนกลางคืน รวมถึงต้องวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับน้ำสำรองที่มีอยู่ ส่วนมาตรการระยะยาวต้องมีมาตรการที่จะส่งเสริมเกษตรกรสามารถปรับตัวได้ เช่น ผลักดันให้เกิดโครงสร้างการเพาะปลูกที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนการเรียนรู้ถึงวิธีการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วง รวมทั้งจะต้องจัดการแผนแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ
"สำหรับภาคเกษตรกรเองจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพราะอนาคตภัยแล้งและท่วมจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากที่เคยสลับกันอาจจะกลางเป็นต่อเนื่องทุก 3 ปี หรือ เปลี่ยนอย่างกระทันหัน"