‘สุทธิชัย หยุ่น’ ชำแหละสื่อไทย ยกเคส ‘ปอ ทฤษฎี’-ราชภักดิ์’
“แม้สื่อจะอ้างคุณปอเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ยืนยันว่า บุคคลสาธารณะก็มีสิทธิส่วนบุคคล โดยในหลักทฤษฎีหรือหลักที่เราสอน บุคคลสาธารณะไม่ใช่เป็นของประชาชน 100% แต่ยังมีสิทธิส่วนบุคคลอยู่”
เวทีประชุมยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า โดยมีนักวิชาชีพ นักวิชาการ ในแวดวงสื่อสารมวลชนเข้าร่วมคับคั่ง
นอกจากกิจกรรมการเสวนาที่จัดขึ้นแล้ว หนึ่งในไฮไลท์สำคัญ ยังได้รับเกียรติจาก ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่น บรรยายพิเศษ “Shaping The Future of News Media – Content Convergence” ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สะท้อนถึงมุมมองเชิงวิชาชีพและวิชาการ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสื่อในปัจจุบัน อันจะทำให้มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันและถูกต้องที่สุด
บางช่วงบางตอนสื่ออาวุโส ‘สุทธิชัย’ หยิบยกสถานการณ์การทำหน้าที่ของสื่อขึ้นมาพูดคุย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิเช่น การแถลงข่าวของพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก กรณีแถลงผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ สื่อโทรทัศน์ทุกช่องเตรียมถ่ายทอดสด แต่ปรากฏว่า กลับมีคำสั่งห้ามถ่ายทอดสด เนื่องจากเป็นข่าวใหญ่มาก ประชาชนต้องการรู้ และมีสิทธิที่จะรู้ ฉะนั้นหน้าที่ของสื่อที่ดีต้องตอบสนองความต้องการ นักข่าวจึงเลือกที่จะนั่งฟัง หลังจากนั้นจึงรายงานสดผ่านทางโทรศัพท์นอกห้องแถลงข่าวแทน แต่ปรากฏว่า กลับมีคำสั่ง ห้ามออกนอกห้องอีก
เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ ผู้บริหารสื่ออาวุโสโยนคำถามไปยังผู้เข้าร่วมในห้องประชุมว่า นักข่าวจะต้องทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบได้อย่างไร
ทั้งนี้ เขาแนะนำ เจอสถานการณ์เช่นนี้ ให้ใช้โปรแกรมแอปพลิเคชั่นไลน์ หรือเฟซบุ๊ก ในการรายงานข่าว ถือเป็นทางออกที่สอดคล้องกับแนวคิดของเขาที่สนับสนุนให้ใช้โซเซียลมีเดีย
‘สุทธิชัย’ บอกเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่น Periscope สำหรับการถ่ายทอดสดแล้ว และเชื่อหรือไม่ โลก พ.ศ.นี้มีโซเซียลมีเดีย ไม่มีใครหยุดยั้งใครได้อีกต่อไป เพราะทุกคนสามารถสร้างเนื้อหาเองได้
“เราจะทำหน้าที่สื่ออย่างไรในภาวะเช่นนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องจริยธรรมอย่างเดียว หรือคอมเมนท์ในเฟซบุ๊ก ตำหนิการโพสต์ภาพดาราป่วยผิดหลักการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเท่านั้น” เขา กล่าว และว่า ต้องมองภาพใหญ่ด้วยว่า จากนี้ไปในทุกสถานการณ์ การทำหน้าที่ของสื่อควรเป็นอย่างไร
‘สุทธิชัย’ ขยายความว่า วิธีการใช้โซเซียลมีเดียในการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบจึงมีความสำคัญมาก เราต้องทราบว่า สื่อกระแสหลัก ซึ่งคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศราฯ ระบุว่า ธุรกิจมาก่อนเนื้อหา แต่ธุรกิจจะมาก่อนเนื้อหาตลอดไปก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด ผู้รับข่าวสารจะตัดสิน คุณไม่สามารถสร้างเนื้อหาที่ต้องการได้ ฉะนั้นธุรกิจจึงต้องสร้างเนื้อหาตัวเองให้ได้ ซึ่งยังไม่เห็นการแข่งขันเกี่ยวกับการทำหน้าที่นี้
“เป็นไปไม่ได้ที่ทหารจะเก่งกว่านักข่าวในกรณีการทำข่าว ถ้าทหารคิดว่าจะบล็อกช่องทางทำข่าวได้ และนักข่าวนั่งเฉย ๆ ทำตามคำสั่งนั้น หากเป็นอย่างที่พูด คิดว่าสิ่งนั้นคือวิกฤติของคนทำข่าวจริง ๆ” ผู้บริหารสื่ออาวุโส แสดงกังวล
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ ‘สุทธิชัย’ ยกมาเป็นกรณีศึกษา คือภาพงานสัมมนาแห่งหนึ่งที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ร่วมงาน เมื่อดร.สมคิดเดินออกจากห้องประชุม สิ่งที่ปรากฏ คือ นักข่าวจำนวนมากกำลังรุมล้อม
เขาระบุว่า นี่ไม่ใช่การหลอมรวม แต่เป็นการตามแห่ ไม่ใช่ convergence journalism แต่เป็น pack journalism บางคนใจร้ายใช้คำว่า ‘หมาหมู่’
เนื่องจากมีนักข่าวเพิ่มมากขึ้นในทุกสายเกินความคาดหมาย และนักข่าวที่ไปหา ดร.สมคิด อยู่ในสายเศรษฐกิจ ลองคิดว่า หากนักข่าวมี 15 คน ข่าวและความหลากหลายต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ข้อเท็จจริง คือ ไม่มีคำถามใหม่ และประเด็นเจาะลึกมากกว่าที่เคยมี
ติงสื่อบันเทิงก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคล ‘ปอ ทฤษฎี’
สื่ออาวุโส ยังกล่าวถึงกรณีการนำเสนอข่าว ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดง ซึ่งเชื่อว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจะหยิบเป็นตัวอย่างการสอนได้หลายเรื่อง ไม่เฉพาะการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเท่านั้น
“มีความจำเป็นหรือไม่ที่คณะแพทย์ รพ.รามาธิบดีต้องแถลงข่าวอาการของคนไข้อย่างละเอียดทุกวัน ขณะที่คนไข้รายอื่นกลับไม่เคยต้องเป็นเป้าของการแถลงข่าวนี้เลย” ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อ ตั้งคำถามให้ฉุกคิด และว่า มีคนสอบถามเข้ามา เหตุใดคนไข้ชื่อนาย ก. นาย ข. จึงไม่มี เพราะบุคคลเหล่านั้นยืนยันเป็นสิทธิส่วนบุคคลและเรื่องภายในครอบครัว
“แม้สื่อจะอ้างคุณปอเป็นบุคคลสาธารณะ แต่เขายืนยันว่า บุคคลสาธารณะก็มีสิทธิส่วนบุคคล โดยในหลักทฤษฎีหรือหลักที่เราสอน บุคคลสาธารณะไม่ใช่เป็นของประชาชน 100% แต่ยังมีสิทธิส่วนบุคคลอยู่”
ดังนั้น กรณีของดารานักแสดงรายนี้ ห้องข่าวต้องจัดระเบียบใหม่ การป่วยจำเป็นต้องส่งนักข่าวสายบันเทิงไปทำข่าวเท่านั้นหรือไม่ เหตุใดไม่ส่งนักข่าวสายแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ไป
“เมื่อไปก็เป็นแบบ pack journalism ทั้งวันทั้งคืน เพียงเพื่อนำเสนอว่า มีดารานักแสดงกี่คนมาเยี่ยมเท่านั้นเอง”
‘สุทธิชัย’ บอกด้วยว่า สองสามวันแรกห้อง CCU กับ ICU ยังอธิบายไม่ได้เลย เพราะนักข่าวบันเทิงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เฉพาะรายงานข่าวเกี่ยวกับอาการของโรคไข้เลือดออก นักข่าวบันเทิงก็ไม่เกี่ยว จะรายงานเพียงลูกสาวดารานักแสดงคนนี้เป็นอย่างไร มีดารานักแสดงมาเยี่ยมอาการกี่คน ฉะนั้นจึงเป็นวิกฤติของสื่ออย่างแท้จริง
“คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ออกมานั่งหัวโต๊ะ แถลงข่าว ซึ่งความจริงเฉพาะโฆษกประชาสัมพันธ์ของ รพ.น่าจะเกินไปแล้ว และเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องทราบละเอียดขนาดนั้น แม้สื่ออ้างประชาชนต้องการและมีสิทธิรู้ ซึ่งไม่เชื่อว่า ประชาชนมีสิทธิจะรู้ทุกอย่างของดารานักแสดงคนนี้ได้”
นี่จึงเป็นวิกฤติที่ไม่มีกติกา หรือเส้นแบ่งให้ชัดเจน การบริหารงานข่าวยังเป็นรูปแบบเดิม ทั้งที่เราอ้างว่า เป็นยุคศตวรรษที่ 21 มีสังคมโซเซียลมีเดีย ประชาชนเขียนข่าวเองได้ แต่วิธีการบริหารยังเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน
เขาระบุว่า นักข่าวบันเทิงไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมไปมากกว่า ดาราคนนี้ทะเลาะกับใคร เตียงหักกับใคร หนังมีชื่อเรื่องว่าอะไร แสดงเมื่อไหร่ ทำไมนักข่าวบันเทิงไม่ต้องเรียนรู้กับเรื่องจรรยาบรรณแพทย์ หรือทำไมต้องส่งนักข่าวบันเทิงทำข่าวกรณีเช่นนี้
นักข่าวต้องครบสูตร สัมภาษณ์-รายงาน-วิเคราะห์
‘สุทธิชัย’ กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยเสนอให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยลองเปลี่ยนนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีทราบ อาจส่งนักข่าวสายเศรษฐกิจที่เก่งไป สามารถซักถาม โดยไม่ต้องทะเลาะ อ้อน หรืออ้อ ๆ แอ้ ๆ ถ่ายรูปเซลฟี่กับผู้นำ
“ทำไมไม่ให้นักข่าวสายการเมืองสลับกับสายการศึกษาหรือเศรษฐกิจ ไปที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับตกลงกับนายกรัฐมนตรีขอสัมภาษณ์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ขอเป็น 2 ครั้งที่ประชาชนได้รับประโยชน์จริง ๆ จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบาย แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น เพราะสมาคมนักข่าวฯ ไม่กล้าคุยกับบก.ของสื่อทั้งหลาย ทั้งที่เป็นภารกิจของพวกเรา”
ภาพบรรยากาศการทำงานของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ถูกฉายขึ้น ผู้บริหารสื่ออาวุโส อธิบายว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีก่อน มีบุคลากรไม่เกิน 20 คน ผลิตหนังสือพิมพ์ทุกวัน มีจำนวนหน้าไม่น้อยกว่าปัจจุบัน แต่ทุกคนทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์เพลิงไหม้ ทุกคนต้องเรียนรู้ทำข่าวนั้นได้ ภาษาต้องดี ยิ่งไม่รู้จะต้องขวนขวาย เป็น Convergence ในตัวนักข่าวเอง
เมื่อมาถึงยุคกลางที่มีการแบ่งสายงานเฉพาะและเกิดโซเซียลมีเดียขึ้น ยังเป็นการหลอมรวมสื่อ เพื่อให้เห็นว่า การทำงานของสื่อที่หลากหลายสามารถผ่านระบบกลางได้ แต่สื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์มาก่อน เมื่อไปทำสื่อออนไลน์ หรือทีวี หลายคนกลับไม่ปรับตัว
“การปรับตัวของสื่อที่เกิดใหม่ แรกเริ่มเหมือนอยู่ท่ามกลางพายุกลางทะเล จึงต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเพื่อความอยู่รอด แต่ขณะนี้กลับมีสึนามิ ดินถล่ม เข้ามาด้วย ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นทุก 3-6 เดือน” เขากล่าว และว่า หากเราไม่อยู่บนยอดคลื่น เราต้องพร้อมในภาวะสั่นไหวตลอดเวลา เราไม่รอด ไม่เฉพาะธุรกิจ แต่เนื้อหา บทบาทของสื่อเปลี่ยนจุดที่เรากลายเป็นอยู่ขอบ ไม่ใช่แกนสำคัญของการสื่อสารอีกต่อไป
‘สุทธิชัย’ แสดงความเป็นห่วงด้วยว่า หากนักข่าวไม่ปรับตัว เรียนรู้ หรือฝึกฝนจริงจัง จะกลายเป็น pack journalism เหมือนทุกวันนี้ มีนักข่าวเยอะ กล้องถ่ายทำเยอะ ใช่ว่าจะได้ข่าวดีขึ้น นี่จึงเป็นปัญหาต้องถามตัวเองกำลังเกิดอะไร ฉะนั้น Convergence อาจเป็นแค่การแห่ตามกัน ถามว่ามีการทำข่าวเองกี่ชิ้น ซึ่งเราไม่เห็นการลงทุนจากสื่อต่าง ๆ ในการสร้างข่าวออริจินัลเลย
“ต้นตอของข่าวทำจากสื่อเพียงไม่กี่องค์กร และหนังสือพิมพ์ยังเป็นที่มาของข่าวส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือวิทยุ”
ทั้งนี้ จริยธรรมสื่อเป็นเรื่องสำคัญมาก และทุกคนต้องเอาใจใส่ มิใช่เพียงการคอมเมนท์ในเฟซบุ๊กเมื่อเกิดเรื่องเท่านั้น แต่ต้องสร้างจิตสำนึกด้วย และยืนยันว่า ต่อจากนี้ไปไม่มีใครจะชนะการนำเสนอข่าวด้วยความเร็ว ประเภท Breaking news ตรงกันข้าม ช้า แต่ถูกต้อง ลึก และให้ข้อมูล กลับดีมากกว่า
ปัญหาใหญ่ที่สุดของสื่อ ‘สุทธิชัย’ ชี้ให้เห็นว่า เราไม่รู้อะไรบ้าง ฉะนั้นต้องแสวงหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อรู้ว่าเราไม่รู้อะไร ถือเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง พร้อมแนะนำนักข่าวต้องสัมภาษณ์ได้ รายงานข่าวได้ และวิเคราะห์ข่าวได้ ไม่เพียงเฉพาะเขากล่าวว่า หรือเธอกล่าวว่าเท่านั้น
ท้ายที่สุด การจะก้าวสู่นักข่าวในอนาคตที่ดี “ทุกวันตื่นเช้าจงอ่านในสิ่งที่คนอื่นไม่อ่าน ทุกวันจงคิดในสิ่งที่คนอื่นไม่คิด ทุกวันจงทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ เราจะไม่เป็นแค่เม็ดทรายที่มีอยู่เกลื่อนกลาดทุกแห่ง แต่เราต้องการเห็นการสร้างคนที่เป็นภูผาแข็งแกร่งให้คนอื่นพึ่งพิง จะเป็นจริงได้ต้องไม่ทำอย่างทุกวันนี้” ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อ ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ฝากข้อคิด .
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/pathompong.mongkolpornpiroj.9?pnref=story