ผู้บริหารสื่อพลิกตำราเขียนข่าว 5w1h แนะอนาคตต้องคำนึงถึงผลกระทบด้วย
เวทียุทธศาสตร์อนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 11 บก.บห.ฝ่ายข่าว ไทยรัฐทีวี แนะใช้โซเซียลมีเดียกับสื่อกระแสหลัก เสนอเร็วได้ แต่ต้องจริง ด้าน ผอ.ศูนย์พัฒนาสื่อใหม่ ไทยพีบีเอส ระบุคำพาดหัวสำคัญ ให้คนคลิกอ่าน บิดได้ ห้ามหลุดภาษาข่าว ใส่จริตนักขายเข้าไปด้วย
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดประชุมยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 11 หัวข้อ ถอดบทเรียนคอนเวอร์เจ้นท์จากอดีตสู่อนาคต ณ อาคารนวมินทราธิราช นิด้า
โดยช่วงเช้ามีเวทีเสวนาย่อย เรื่อง ทิศทางวารสารศาสตร์ไทย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว ไทยรัฐทีวี กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของวารสารศาสตร์ไทยว่า พื้นฐานหลักของนิเทศศาสตร์ 5W 1H คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่อนาคตต้องคำนึงถึง มีมากมายขนาดไหน ผลกระทบอะไร และสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเซียลมีเดียด้วย ทั้งนี้ เปรียบโซเซียลมีเดียกับข่าวหลัก เหมือนโลกมนุษย์กับวิญญาณ ในลักษณะมิติที่ซ้อนกัน ดังนั้น ปีหน้าต้องนำมาล้อกับสื่อกระแสหลักให้ได้
“ในไทยรัฐบางเรื่องก็ช้าได้ เพราะต้องตรวจสอบก่อน ไม่ว่าต้องการความเร็วขนาดไหน จำเป็นต้องผ่านระบบบรรณาธิการ” บรรณาธิการฝ่ายข่าว ไทยรัฐทีวี กล่าว และว่า เร็วได้ แต่ต้องจริงด้วย เราจะทำให้คนในโลกโซเซียลอ่านข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบไม่ได้
ด้าน น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล ผอ.ศูนย์พัฒนาสื่อใหม่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในอดีตหลายหน่วยงานไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญเรื่องโซเซียลมีเดียมากนัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดมากขึ้น โดยเพิ่มจำนวนบุคลากร งบประมาณ เกี่ยวข้องกับด้านนี้ แต่นักข่าวและผู้บริหารองค์กรสื่อต้องเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งยอมรับว่าเปลี่ยนคนค่อนข้างยาก จึงจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจ
“โซเซียลมีเดียจะมีความสำคัญมากในช่วงวิกฤติ ดังเช่น เหตุการณ์อุทกภัย ปี 2554 ดังนั้น องค์กรที่ไม่มีการเตรียมการเรื่องโซเซียลมีเดียในช่วงวิกฤติจะเสียโอกาสได้” ผอ.ศูนย์พัฒนาสื่อใหม่ กล่าว และว่า คำพาดหัวมีความสำคัญมาก เชิญชวนให้คนคลิกอ่าน จึงอาจปรับภาษาได้ แต่ต้องไม่หลุดจากภาษาข่าว ฉะนั้นนักข่าวโลกออนไลน์ต้องไม่ใช่สื่อดั้งเดิม แต่ควรผสมผสานภาษาการตลาด และต้องมีจริตของนักขายเข้าไปด้วย
ขณะที่ นายจักรพงษ์ คงมาลัย Vice President Content Business ของเว็บไซด์ Sanook.com กล่าวเสริมถึงผู้ผลิตคอนเทนต์มาเก็ตติ้งว่า ไม่จำเป็นต้องศึกษาจบนิเทศศาสตร์โดยตรง ขอให้มีใจรัก อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาจบนิเทศศาสตร์มีข้อดีสามารถมองประเด็นได้ แต่สิ่งที่มีไม่เท่ากับผู้ศึกษาจบสายวิชาอื่น คือ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ .