CTH กับ The Last Master Piece ของวิชัย ทองแตง?
ในวงการนักเล่นหุ้น หรือนักลงทุน ใครๆก็ต้องรู้จักคุณวิชัย ทองแตง ในฐานะเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เพราะสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้ เนื่องจาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร มีปัญหามากแค่ไหน หากได้คุณวิชัยเข้าไปจับ หรือเข้าไปซื้อ หรือเข้าไปร่วมลงทุน ตัวคุณวิชัยมักจะสามารถทำกำไรได้เสมอ ดังนั้น ใครๆจึงจ้องมองว่า คุณวิชัยจะตัดสินใจเข้าไปช้อน หรือเข้าไปลงทุนในธุรกิจอะไร จะได้ตามน้ำร่วมลงทุนไปด้วยโดยหวังว่า จะสามารถทำกำไรได้เช่นเดียวกับคุณวิชัยบ้าง
เข้ามาเกี่ยวข้องกับ CTH ได้อย่างไร
ในปี 2553 สมัยที่มีคุณเกษม อินทร์แก้ว เป็นนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยได้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ CTH ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นบริษัทกลางในการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำมาขายต่อให้กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 350 ราย โดยครั้งแรกมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เมื่อบริหารงานไปได้ระยะหนึ่ง มีการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการเข้ามามากขึ้น จึงมีความต้องการเงินลงทุนเพิ่มขึ้น
ในขณะนั้น คุณสุรพล ซีประเสริฐ (อดีตเลขาธิการสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการน้ำมันเขียว ผู้มีศักดิ์เป็นอาของคุณวิชัย ทองแตง มีบ้านอยู่ติดกันที่ริมแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสาคร) เป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น และเป็นกรรมการ CTH ด้วย จึงอาสาที่จะไปเชิญคุณวิชัยให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมเคเบิลท้องถิ่นให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เพื่อให้เคเบิลท้องถิ่นร่ำรวยตามไปด้วย ซึ่งเดิมคุณวิชัย ไม่เคยรู้จักธุรกิจเคเบิลท้องถิ่น และไม่เคยสนใจที่จะลงทุนในด้านนี้เลย แต่ด้วยความเกรงใจคุณสุรพล จึงส่งทีมงาน โดยมีคุณกฤษณัน งามผาติพงษ์ เข้ามาศึกษาการทำธุรกิจเคเบิลท้องถิ่น เพื่อนำเสนอแนวทางและหาช่องทางในการร่วมมือกันในอนาคต
โครงการ The Last Master Piece
หลังจากที่ทีมงานคุณกฤษณัน เข้ามาศึกษา มีการเจรจาและร่วมประชุมกันกับทีมงานผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นหลายครั้ง จึงมองเห็นช่องทางที่จะพัฒนา CTH ให้เป็นบริษัทที่จะนำเคเบิลท้องถิ่นให้เป็นเคเบิลทีวีระดับชาติเหมือนกับ True Vision ได้
คุณวิชัยจึงสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนใน CTH อย่างจริงจังโดยมีข้อเสนอว่า หากจะพัฒนา CTH ให้เจริญก้าวหน้าต่อไป จะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของ CTH ใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่ให้ CTH ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการแล้วเอามาขายต่อให้เคเบิลท้องถิ่น (Content Provider) เพื่อนำมาให้บริการกับสมาชิกในแต่ละสถานี ในระบบแอนะล็อกเหมือนเดิม ให้เปลี่ยนมาเป็นการใช้ CTH เป็นบริษัทแม่ ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลทีวีระดับชาติ (Operator) โดยให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นแต่ละรายทำหน้าที่เป็นสำนักงานสาขาหรือตัวแทน (Dealer) ประจำจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ รับสัญญาณเคเบิลทีวีในระบบดิจิทัลจาก CTH โดยตรง เพื่อความเป็นเอกภาพ และมีมาตรฐานเดียวกัน จากนั้นจึงส่งสัญญาณต่อไปให้บริการกับสมาชิก
สำหรับเรื่องการบริหารสถานีกลาง การบริหารการตลาด การประชาสัมพันธ์ การบริหารระบบบัญชี การหาแหล่งเงินทุน การหาลิขสิทธิ์ช่องรายการ การออกบิลเก็บเงิน และอื่นๆ ทาง CTH จะทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบเอง เพื่อให้ระบบการให้บริการเคเบิลท้องถิ่นมีความทันสมัย สามารถตรวจสอบได้ โดยผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ติดตั้ง และบริการหลังการขาย โดยจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก CTH ตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกัน
งานนี้คุณวิชัย มีความมั่นใจสูงมากว่า จะสามารถทำให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน โดยคุณวิชัย ตั้งใจไว้ว่า จะฝากผลงาน CTH ให้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของชีวิต โดยทุกคนจะรู้จักโครงการนี้ในนาม The Last Master Piece ของคุณวิชัย ทองแตง
เพิ่มทุนใน CTH
เมื่อทุกอย่างมีความชัดเจนแล้ว แนวทางการทำงานจึงถูกกำหนดออกมาในช่วงปลายปี 2554 ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใน CTH จากเดิมที่มีเฉพาะผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศร่วมกันเป็นผู้ถือหุ้นหลัก จำนวนประมาณ 120 ราย โดยมีทุนจดทะเบียนรวมกัน 50 ล้าน ต่อมาจึงมีการเพิ่มทุนเป็น 150 ล้านและ 300 ล้านตามลำดับ
สุดท้ายคุณวิชัยก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CTH และได้คุมอำนาจบริหารใน CTH อย่างเด็ดขาด และคุณวิชัยได้เป็นประธาน CTH ส่วนคุณสุรพล เป็นรองประธาน CTH
CTH ยึดสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
เมื่อจะเดินงานใน CTH แบบเต็มตัว โดยมีผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเป็นฐานที่สำคัญ CTH จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย คุณสุรพล ซีประเสริฐ ที่มีตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท CTH ในขณะนั้นจึงได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เพื่อจะได้ทำหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ให้อยู่ในเส้นทางที่ CTH ต้องการ
จากนั้น CTH ก็ใช้สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเป็นฐานกำลังในการวางแผนเดินสายตะเวนจัดประชุม พูดคุยกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ หรือเรียงตัวคุย เพื่อเชิญชวนให้เคเบิลท้องถิ่นทั้ง 350 รายทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการกับ CTH โดยคุณวิชัย ได้เสียสละเวลาลงมาพูดคุยกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศด้วยตนเองหลายครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจ และเชิญชวนให้ ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ เปิดให้บริการสัญญาณ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในระบบดิจิทัล โดยขอให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเห็นด้วยกับแนวทางการนำสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น ที่เคยใช้บริการในระบบแอนะล็อกอยู่เดิม ให้เปลี่ยนมาเป็นสมาชิกของ CTH ในระบบดิจิทัลแทนโดย CTH สัญญาว่า จะแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นตามสัดส่วนที่ได้ตกลงกัน
ประมูลการถ่ายทอดสดลิขสิทธิ์ฟุตบอลอังกฤษ (BPL)
ในช่วงปลายปี 2555 คุณวิชัยได้ชวนกลุ่มไทยรัฐ เข้ามาเป็นถือหุ้นใน CTH ด้วยโดยเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 300 ล้านเป็น 800 ล้าน จากนั้นจึงตัดสินใจไปร่วมประมูลซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษ (BPL) 3 ปี (2556-2558) และชนะการประมูลโดยใช้งบประมาณไปกว่า 10,000 ล้านบาท การชนะการประมูลในครั้งนั้น ได้สร้างความมั่นใจให้ฝ่ายบริหารของ CTH มากว่าจะสามารถนำ CTH ให้เป็นเคเบิลทีวีระดับชาติอันดับ 1 ของประเทศได้อย่างแน่นอน
ได้เคเบิลท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ 50%
ในความมั่นใจที่สูงของ CTH ทำให้การเจรจาเงื่อนไขต่างๆกับ CTH ทำได้ยากขึ้น แม้กระทั่งผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่เป็นผู้ร่วมริเริ่มโครงการมาแต่ต้น บางรายก็ไม่สามารถเจรจาได้สำเร็จ โดยเฉพาะ CTH ได้ตั้งเงื่อนไขกับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่จะเข้าร่วมโครงการว่า จะต้องส่งรายชื่อและที่อยู่ของสมาชิกทั้งหมดให้ CTH จะต้องให้สมาชิกเก่าทั้งหมดเปลี่ยนไปเป็นสมาชิกของ CTH และให้ CTH เป็นผู้ออกบิลเรียกเก็บค่าบริการจากสมาชิก หลังจากนั้น CTH จะเป็นผู้แบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น
เงื่อนไขเช่นนี้บางรายรับไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นกว่า 350 รายยอมเข้าร่วมโครงการกับ CTH เพียง 173 ราย หรือประมาณ 50% ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นรายเล็กที่ยังไม่พร้อมให้บริการระบบดิจิทัล โดย CTH มั่นใจว่า เมื่อมีการเปิดให้บริการ BPL ในเดือนสิงหาคม 2556 ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่เหลือ รวมทั้งผู้ประกอบกิจการรายใหญ่อื่นๆ จะต้องมาขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเอง
คงต้องมองย้อนหลังไปว่า ในวันที่ CTH เข้าร่วมประมูล BPL ทาง CTH ยังไม่มีระบบโครงข่ายการให้บริการโทรทัศน์ เป็นของตนเองเลย ความหวังเดียวของ CTH ที่จะส่งสัญญาณ BPL ไปให้สมาชิกได้รับชมคือ การใช้โครงข่ายสายเคเบิลของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเท่านั้น
นี่คือข้อผิดพลาดข้อที่ 1 ของ CTH
ฐานสมาชิก BPL
ความจริงที่คาดไม่ถึงคือ ในประเทศไทยมีคนดูทีวีที่มีกำลังซื้อเกินกว่า 1,000 บาท/เดือน มีประมาณ 500,000 ครัวเรือนเท่านั้น และสมาชิกกลุ่มนี้ในขณะนั้นเป็นฐานสมาชิกของ True Vision เป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะนิยมดู BPL แต่ก็ไม่ยอมจ่ายเงินค่าสมาชิกในการรับชม
ดังนั้นสมาชิกที่มีกำลังซื้อ และสามารถจ่ายเงินได้จริง จึงเป็นฐานสมาชิกของ True Vision ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพและปริมณฑลกว่า 50% ที่เหลือ กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่โครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่นในต่างจังหวัด สามารถให้บริการได้ในพื้นที่ที่จำกัด เฉพาะในเขตตัวเมืองที่มีความหนาแน่นของประชาชนสูงเท่านั้น ส่วนในกรุงเทพและปริมณฑล คนมีกำลังซื้อสูงก็อยู่ตามหมู่บ้านจัดสรรราคาแพง หรืออาคารสูงที่มีราคาแพง ที่เคเบิลท้องถิ่นไม่สามารถเดินสายเข้าไปให้บริการได้
การให้บริการ BPL ของ CTH ผ่านระบบสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่น จึงไม่ตอบโจทก์ของ CTH ตามที่ได้ตั้งใจไว้ ซึ่งเรื่องนี้ True Vision ได้เคยพิสูจน์มาแล้วว่า ระบบสายเคเบิลไม่สามารถเดินสายครอบคลุมฐานสมาชิกในทุกพื้นที่ได้ การให้บริการผ่านระบบจานดาวเทียมต่างหากที่จะสามารถให้บริการสมาชิกที่มีกำลังซื้อสูงได้อย่างทั่วถึง True Vision จึงพัฒนาจานแดง ขึ้นมาทดแทนระบบสายเคเบิล
สมาชิกเคเบิลท้องถิ่นไม่ได้ดู BPL
สมาชิกที่เป็นฐานเดิมของเคเบิลท้องถิ่น มีความเคยชินกับการจ่ายค่าบริการไม่เกิน 350 บาท/เดือนมากว่า 20 ปี การจะให้จ่ายค่าบริการรายเดือนเพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องยาก และเชื่อว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีกำลังซื้อไม่เกิน 500 บาท/เดือน แต่ CTH ไม่มีนโยบายที่จะเอาช่อง BPL มาให้บริการใน Package ที่มีราคาต่ำกว่า 500 บาท/เดือน สมาชิกเก่าของเคเบิลท้องถิ่นที่เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลของ CTH จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ CTH มีลิขสิทธิ์ BPL นอกจากสมาชิกจะต้องเลือกซื้อ Package ในราคาที่สูงขึ้น
ดังนั้นสมาชิกเก่าของเคเบิลท้องถิ่นที่เปลี่ยนมารับบริการในระบบดิจิตอลของ CTH จะได้เพียงช่องเพิ่มขึ้น ได้ภาพชัดขึ้น แต่ราคาเท่าเดิม ส่วนผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นจะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ CTH จำนวน 15% ซึ่งเดิมผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นไม่ต้องแบ่งให้ใคร แต่ก็หวังว่า เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัล จะสามารถหาสมาชิกได้เพิ่มขึ้น เก็บค่าบริการได้เพิ่มขึ้น แม้จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ CTH บ้างก็ยังคุ้มค่า แต่ในความเป็นจริงกลับไม่สามารถทำได้ เพราะช่องลิขสิทธิ์ที่ได้มาจาก CTH ที่ไม่ใช่ BPL ไม่มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นหาสมาชิกเพิ่มขึ้นได้
ฐานรายได้หลักควรมาจากระบบจานดาวเทียม
การให้บริการผ่านจานดาวเทียม เป็นบริการเสริมที่ CTH ต้องดำเนินการ แต่สิ่งที่ CTH พลาดในขณะนั้นคือ ไม่สามารถเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากดาวเทียมไทยคมได้ เพราะช่วงเวลาที่ CTH ประมูล BPL มาได้ช่องสัญญาณดาวเทียมของดาวเทียมไทยคม ถูก True Vision และผู้ให้บริการช่องดาวเทียมอื่นๆ เช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียมไทยคมไปหมดแล้ว CTH จึงไม่สามารถให้บริการ BPL ผ่านดาวเทียมไทยคมได้ จึงต้องเปลี่ยนไปเช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียม VINASAT ของเวียตนาม ซึ่งจะมีปัญหาในทางเทคนิคการให้บริการมากกว่าการใช้ดาวเทียมไทยคมมาก เพราะหน้าจานดาวเทียมหันไปคนละทิศทาง ทำให้ CTH พลาดโอกาสที่จะสอยสมาชิก True Vision หรือสมาชิกจากจานดาวเทียม PSI ให้เปลี่ยนมาเป็นสมาชิกของ CTH ในระบบจานดาวเทียมเพียงแค่เปลี่ยนกล่องรับสัญญาณดาวเทียมก็พอ งานนี้ CTH จะต้องมีการปรับหน้าจานดาวเทียมใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการติดตั้งมาก
นี่คือข้อผิดพลาดข้อที่ 2 ของ CTH
CTH มีเวลาเตรียมงานน้อยเพียง 7 เดือน
CTH ที่เริ่มต้นจาก 0 (ศูนย์) ในวันที่ประมูล BPL มีเวลาในการเตรียมตัวจากเดือนมกราคม 2556 ถึง 16 สิงหาคม 2556 เพื่อเปิดสัญญาณให้บริการช่อง BPL กับสมาชิก รวมเวลาในการเตรียมการเพียง 7 เดือน ที่ทุกอย่างต้องทำให้เรียบร้อย นับตั้งแต่ รับสมัครพนักงาน หาสถานที่ตั้งสำนักงาน ตั้งสถานีส่งสัญญาณ เจรจากับ Supplier ซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการอื่นๆ เจรจากับเคเบิลท้องถิ่นให้เข้าร่วมโครงการ เจรจาเช่าโครงข่ายสาย Fiber Optic เพื่อเชื่อมสัญญาณไปหาเคเบิลท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ เจรจากับผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณระบบดิจิตอล DVB-C ในต่างประเทศ เพื่อส่งให้เคเบิลท้องถิ่น เคเบิลท้องถิ่นต้องปรับปรุงโครงข่ายเพื่อให้รองรับระบบดิจิตอล ต้องสอนเคเบิลท้องถิ่นให้รู้จักระบบดิจิตอล ต้องสอนเคเบิลท้องถิ่นให้รู้จักการใช้ระบบ IT การใช้ Computer การทำเอกสารหลังบ้าน รูปแบบการให้บริการสมาชิก รูปแบบการทำการตลาด
ในส่วน CTH เองก็ต้องจัดเตรียมเอกสารหลังบ้าน จัดเตรียมระบบบัญชี จัดเตรียมระบบเก็บเงิน ระบบคลังสินค้า ต้องรับพนักงานเข้ามาทำงานใหม่ ต้องอบรมพนักงานให้รู้ว่าต้องทำอะไร ต้องสอนผู้บริหารให้รู้กับการทำธุรกิจเคเบิลทีวี และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 7 เดือน นี่คือข้อผิดพลาดข้อที่ 3 ของ CTH คงต้องบอกว่า เทวดาเท่านั้นที่จะเนรมิตรได้ แต่ CEO ในสมัยนั้นคือคุณ กฤษณัน งามผาติพงษ์ ก็สามารถทำได้สำเร็จ เพราะสัญญาณภาพ BPL สามารถเปิดให้บริการสมาชิกได้ในวันที่ 16 สิงหาคม 2556 แฟ้มบุคคลขอปรบมือให้และขอบอกว่า "นายแน่มาก" แม้ว่าในภายหลังจะพบว่ามีข้อผิดพลาดบ้างก็ตาม
ระบบการออกบิลเรียกเก็บค่าบริการล้มเหลว
คงต้องบอกว่า ทีมงานของ CTH ในชุดแรกที่เข้ามาดำเนินการ ต้องถือว่าทำได้ดีที่สุดเท่านี้ก็ถือว่าดีเยี่ยมแล้วเพราะ เมื่อมีการเปิดให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีในเดือนสิงหาคม 2556 พบว่ามีปัญหาในทางเทคนิคบ้าง แต่ก็พอรับได้
แต่ปัญหาใหญ่ได้เกิดขึ้นหลังจากนั้นในเดือน กันยายน 2556 เมื่อตรวจพบว่า เกิดจากความผิดพลาดของระบบการออกบิลเรียกเก็บเงินจากสมาชิก ซึ่งทำให้ CTH ไม่สามารถบอกได้ว่า ออกบิลให้สมาชิกครบหรือไม่ ยอดตรงหรือไม่ เงินที่เก็บมาได้มาจากสมาชิกรายใด ใครจ่ายเงินมาแล้วบ้าง ใครยังไม่จ่ายบ้าง ซึ่งสรุปได้ว่า CTH มีปัญหาในการออกบิลเรียกเก็บค่าบริการจากสมาชิก ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดเข้ามายังบริษัทตามจำนวนที่ควรจะเป็น จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ปัญหาเช่นนี้เป็นปัญหาปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ของผู้ให้บริการรายใหม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ ทำไมจึงแก้ปัญหาไม่ได้เสียที มีใครจงใจทำให้เกิดขึ้นหรือไม่ นี่คือข้อผิดพลาดข้อที่ 4 ของ CTH
ไม้ขีดไฟก้านแรกที่เผา CTH
ปัญหาการออกบิลผิดพลาด ถือเป็นไม้ขีดไฟก้านแรกที่ถูกจุดขึ้น เมื่อไม่สามารถดับได้ ไฟก็ลามไปยังจุดต่างๆ จนยากที่จะควบคุมได้ มีการต่อว่า กล่าวหา หรือโยนความผิดไปให้ส่วนอื่นๆ จนเสียกระบวนไปหมด เมื่อไม่สามารถเก็บเงินเข้าบริษัทได้ การเงินก็ติดขัด ผู้ถือหุ้นก็เดือดร้อน ฝ่ายบัญชีจึงถูกบีบ ผู้ถือหุ้นจึงส่งคนเข้ามาคุมฝ่ายบัญชี
ฝ่ายบัญชีและการเงินของ CTH จึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในบริษัท ไม่ใช้ CEO ที่ถูกแต่งตั้งให้อยู่ในโครงสร้างการบริหาร กระบวนการสั่งการจึงสับสน เมื่อฝ่ายบัญชีเก็บเงินไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด CTH จึงถูกสั่งไม่ให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับเคเบิลท้องถิ่น เคเบิลท้องถิ่นจึงขาดสภาพคล่องทางการเงิน การตีรวนของเคเบิลท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น การทะเลาะ การด่า การกล่าวหาจึงเกิดขึ้น จากปัญหาเรื่องนี้จึงลามไปถึงเรื่องอื่น
ยิ่งเวลาผ่านไป ระบบการออกบิลเก็บเงินยังแก้ไม่ได้ ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของ CTH ก็ยิ่งหนักขึ้น การจ่ายเงินให้ส่วนต่างๆที่มาทำงานร่วมกับ CTH เริ่มไม่ตรงตามข้อตกลง ปัญหาก็เริ่มบานปลายไปสู่ภายนอก ฝ่ายบัญชียิ่งเข้ามาควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารหนักขึ้น การแทรกแซงการทำงานมากขึ้น คำพูดของ CEO เริ่มไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายนโยบายต่างๆต้องรอไฟเขียวจากฝ่ายบัญชี จึงจะถือเป็นที่สุด
ปลายปี 2556 ความล้มเหลวของ CTH ปรากฏขึ้นแล้ว
ความจริงอยากจะบอกว่า โครงการของ CTH เป็นโครงการที่ดี ที่หาไม่ได้อีกแล้วในรอบ 10 ปี เพียงแต่ ฝ่ายบริหารมีเวลาในการทำงานน้อยไป การมีต้นทุน BPL ที่สูงเข้ามาเร็ว ทำให้การทำงานเสียกระบวน ความผิดพลาดของการทำระบบออกบิลเรียกเก็บเงินเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อไม่สามารถดับไฟในจุดนี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว ไฟในจุดนี้จึงลุกลามไปยังจุดอื่นๆจนไม่สามารถจะควบคุมได้ จนต้องปล่อยให้ไฟไหม้ไปจนหมดเชื้อ เหลือเท่าไหร่เอาแค่นั้น ความจริงในช่วงปลายปี 2556 เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วว่า ระบบการทำงานในฝ่ายต่างๆของ CTH เริ่มเสียกระบวนเคเบิลท้องถิ่นเริ่มไม่ไว้วางใจ การให้ความร่วมมือในการทำงานเริ่มลดลง ทุกคนหยุดรอไม่ติดตั้งกล่องรับสัญญาณของ CTH เพิ่ม ไม่หาสมาชิกเพิ่ม เนื่องจากไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ ยิ่งนานวันเคเบิลท้องถิ่นยิ่งตีรวน ทีมงาน CTH ยิ่งเสียกระบวน พนักงานมีการลาออกเปลี่ยนพนักงานไปหลายชุดเพราะทนภาวะความกดดันไม่ไหว และฝ่ายบริหารก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ปี 2557 CTH เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงภายใน
ความล้มเหลวของระบบการทำงานภายในของ CTH ไม่สามารถแก้ไขได้ การโยนความผิดไปให้อีกฝ่ายหนึ่งจึงเกิดขึ้น การพูดจาเริ่มไม่รู้เรื่อง ทีมงาน CTH เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานระดับต่างๆจนกระทั่งเปลี่ยน CEO เป็นคุณเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ เพื่อเข้ามากู้สถานการณ์ ซึ่งฝ่ายบริหารของ CTH ชุดนี้หมดความหวังกับเคเบิลท้องถิ่นไปแล้ว จึงปล่อยปัญหาที่เกิดขึ้นกับเคเบิลท้องถิ่นไว้ แล้วเปลี่ยนแนวทางไปให้ความสนใจในระบบจานดาวเทียม และ IPTV รวมทั้งช่องทางอื่นๆ เพื่อหวังจะนำรายได้จากส่วนอื่นมากอบกู้บริษัท เมื่อการหาทางออกร่วมกับเคเบิลท้องถิ่นหยุดลง เคเบิลท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนแนวการทำงาน หันกลับไปจับมือกับ True Vision ปล่อยปัญหา CTH ค้างไว้ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงหยุดนิ่ง ระหว่าง CTH กับเคเบิลท้องถิ่น ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันว่า จะเอาอย่างไรต่อไป
CTH ปล่อยโอกาสในการแก้ปัญหาไป 2 ครั้ง
หากจะว่าไปแล้ว ช่วงเวลาเดือนมิถุนายน 2557 เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ CTH ควรจะตัดสินใจว่า ควรจะเลือกทำเคเบิลทีวีต่อกันผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นรายใด และควรจะเลิกทำกับรายใดที่ไม่คุ้มทุน หรือควรจะหา Model ร่วมกันทำงานอย่างไร เพราะข้อเท็จจริงและปัญหาต่างๆได้มองเห็นหมดแล้ว และช่วงนี้เป็นช่วงหมด ฤดูการถ่ายทอดสด BPL การจะปรับเปลี่ยนใดๆ สมาชิกจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ CTH ก็ปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปโดยไม่ตัดสินใจใดๆ จนกระทั้งเปิดฤดูกาลที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2557 ทาง CTH ก็ไม่เข้ามาแก้ปัญหาใดๆกับเคเบิลท้องถิ่น ทุกอย่างจึงเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอเวลาระเบิดขึ้นมา จนกระทั้งเริ่มฤดูกาลที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2558 CTH ก็ยังปล่อยโอกาสนี้ให้ผ่านไปโดยไม่ตัดสินใจทำอะไร ไม่มีการพูดคุย ไม่มีการจ่ายเงิน ไม่มีการเพิ่มลูกค้า และดูเหมือนว่า CTH จะยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นกับเคเบิลท้องถิ่น
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า CTH เลือกที่จะไม่เดินร่วมทางกับเคเบิลท้องถิ่นอย่างแน่นอน เพราะในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา CTH ได้ตัดสัญญาณเคเบิลทีวีในระบบดิจิทัล ที่ส่งมาให้เคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นการทำตามที่ CTH ได้มีจดหมายแจ้งบอกเลิกการให้บริการสัญญาณ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น โดย CTH จะให้สมาชิกที่รับบริการผ่านโครงข่ายสายของเคเบิลท้องถิ่น เปลี่ยนมาใช้บริการผ่านโครงข่ายจานดาวเทียม GMMZ ซึ่งวันนี้เป็นของ CTH แทน
CTH เรียกค่าเสียหายจากเคเบิลท้องถิ่น
ในจดหมายแจ้งบอกเลิกการใช้โครงข่ายทางสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่น CTH ไม่ได้บอกเลิกธรรมดา แต่ CTH ได้เรียกค่าเสียหายจากเคเบิลท้องถิ่นด้วย โดยเรียกใน 3 ส่วนคือ ขอส่วนแบ่งรายได้ ขอให้คืน IP Gateway และขอให้คืนกล่องรับสัญญาณ CTH หากไม่คืนก็ให้ชำระเป็นตัวเงินแทน ทำให้รู้สึกงงว่า CTH เสียหายตรงไหน จะเรียกค่าเสียหายอะไรจากเคเบิลท้องถิ่นได้ เพราะผู้ที่ควรจะเรียกค่าเสียหายควรเป็นเคเบิลท้องถิ่นต่างหาก เพราะการบอกเลิกสัญญาในครั้งนี้ เคเบิลท้องถิ่นต่างหากที่จะเป็นผู้เสียหายอย่างแน่นอน ถูกลูกค้าด่าแน่นอน (ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นคนทำ) ส่วน CTH หากจะเสียหายก็คงจะเป็นเพราะทำธุรกิจเคเบิลทีวีผ่านโครงข่ายทางสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่นไม่เป็นเท่านั้น ทั้งๆที่มีผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำเคเบิลท้องถิ่นที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
เคเบิลท้องถิ่นไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก CTH
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า CTH เรียกเก็บเงินค่าบริการรายเดือน จากสมาชิกที่ใช้สัญญาณ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่นแต่ละรายไปจำนวนเท่าใด เพราะเท่าที่สอบถามดูจากผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นมีน้อยรายมากที่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก CTH เมื่อมีการทวงถามไปก็ไม่มีคำตอบเป็นเอกสาร มีแต่บอกว่าจะแจ้งให้ฝ่ายบัญชีทราบ เมื่อทวงหนักเข้า ก็ไม่รับสาย จนสุดท้ายก็ทราบว่าลาออกจาก CTH ไปแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนไม่มีใครอยากจะทวงเงินจาก CTH แต่ปัญหาคือ แม้ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จาก CTH เคเบิลท้องถิ่นก็ตัดสัญญาณที่ให้บริการกับสมาชิกไม่ได้ เพราะสมาชิกเป็นลูกค้าของ CTH กำลังรับชมสัญญาณอยู่ เมื่อ CTH ไม่ได้แจ้งตัดสัญญาณก็ไม่สามารถไปตัดสัญญาณสมาชิกได้ เพราะสมาชิกไม่ได้ผิด ก็ต้องรอจนกว่า CTH จะพร้อมชำระส่วนแบ่งรายได้ให้ จึงจะรวบรวมเก็บในครั้งเดียว และในระหว่างนี้ใครๆก็ทราบว่า CTH กำลังขาดทุนอยู่อาจจะดึงเงินเพื่อเอาไปชำระในส่วนอื่นก่อน
CTH ได้อะไรจากการบอกเลิกสัญญากับเคเบิลท้องถิ่น
หลายคนคงสงสัยว่า CTH จะได้อะไรจากการบอกเลิกสัญญากับเคเบิลท้องถิ่น จึงขอแยกแยะออกมาให้เห็นในเบื้องต้นดังนี้
1) CTH ประหยัดส่วนแบ่งรายได้
ตามข้อตกลงของ CTH กับเคเบิลท้องถิ่น หากสมาชิกรายใดใช้บริการ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่น CTH จะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น สำหรับ Package เล็กที่เป็นฐานสมาชิกเดิมของเคเบิลท้องถิ่น เคเบิลท้องถิ่นจะได้ส่วนแบ่ง 85% ส่วน CTH จะได้ 15% ถ้าเป็นสมาชิกที่สมัครใหม่ เคเบิลท้องถิ่นจะได้ส่วนแบ่ง 75% ส่วน CTH จะได้ส่วนแบ่ง 25% ของรายรับในแต่ละเดือน ส่วน Package ใหญ่ที่มีรายการ ถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษ (BPL) เคเบิลท้องถิ่นจะได้ส่วนแบ่งประมาณ 30% ส่วน CTH จะได้ 70% หากสมาชิก CTH ไม่ต้องใช้บริการผ่านโครงข่ายสายเคเบิลท้องถิ่น ทาง CTH จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อสมาชิกเหล่านี้ เปลี่ยนไปใช้บริการระบบจานดาวเทียม GMMZ ทาง CTH จะไม่ต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่นอีกต่อไป ทาง CTH จึงจะประหยัดรายจ่ายที่ต้องจ่ายให้เคเบิลท้องถิ่นนับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาเป็นต้นไป
2) CTH มีระบบโครงข่ายจานดาวเทียม GMMZ แล้ว
ในวันที่ระบบการให้บริการสัญญาณ CTH ผ่านจานดาวเทียมยังไม่สมบูรณ์ CTH จึงจำเป็นต้องพึ่งการให้บริการสัญญาณ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่น แต่ในวันนี้ CTH มีจานดาวเทียม GMMZ (CTH ซื้อมาจาก Grammy) ที่ให้บริการผ่านดาวเทียมไทยคม เป็นของตนเองแล้ว ความจำเป็นในการพึ่งโครงข่ายสายของเคเบิลท้องถิ่นจึงหมดไป ความจำเป็นในการยืมจมูกเคเบิลท้องถิ่นหายใจ จึงหมดไป สมาชิกรายใดต้องการรับชมช่องรายการของ CTH สามารถติดจานดาวเทียม GMMZ ได้ครบทุกพื้นที่แล้ว โดย CTH ไม่ต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ใครอีกต่อไป การแจ้งเปลี่ยนระบบการให้บริการจากสายเคเบิลเป็นจานดาวเทียมจึงเกิดขึ้น นี่คงเป็นกระบวนการลื้อนั่งร้าน และการปลดเปลื้องพันธนาการของ CTH จากเคเบิลท้องถิ่นนั้นเอง
3) CTH พร้อมที่จะสอยสมาชิกเคเบิลท้องถิ่นแล้ว
คงจำได้ว่า สมาชิกของ CTH ที่รับบริการสัญญาณ CTH ผ่านโครงข่ายสายเคเบิลท้องถิ่น เดิมเคยเป็นสมาชิกของเคเบิลท้องถิ่นที่รับบริการในระบบแอนะล็อก แต่ในช่วงเริ่มโครงการ CTH กำหนดให้เคเบิลท้องถิ่นต้องแจ้งชื้อ ที่อยู่ของสมาชิก และโอนชื่อสมาชิกรายนั้นให้ไปเป็นสมาชิกของ CTH โดย CTH จะแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น ในวันนี้เมื่อ CTH มีโครงข่ายดาวเทียมพร้อม การถ่ายโอนสมาชิกจากระบบสายเคเบิลมาเป็นระบบดาวเทียม จะทำให้ CTH ไม่ต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น ซึ่งเป็นกระบวนการยึดฐานสมาชิกของเคเบิลท้องถิ่นไปแบบไม่ให้เหลือเยื่อใย
4) ประหยัดค่าเช่าสาย Fiber Optic ประมาณ 200 ล้านบาท/ปี
ในการส่งสัญญาณ CTH ระบบดิจิทัลไปให้เคเบิลท้องถิ่นจำนวน 173 ราย CTH ต้องเช่าโครงข่ายสาย Fiber Optic เพื่อส่งสัญญาณไปให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกราย โดยเสียค่าเช่าประมาณ 200 ล้านบาท/ปี เมื่อบอกเลิกสัญญา จะทำให้ CTH ประหยัดเงินส่วนนี้ไปได้ทันทีประมาณ 200 ล้านบาท/ปี นี่คงเป็นเงินก้อนสำคัญอีกก้อนหนึ่งที่ CTH จะประหยัดได้อย่างแน่นอน
5) การเรียกเก็บกล่องรับสัญญาณ CTH
ในวันที่เคเบิลท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการกับ CTH ได้มีข้อตกลงว่า CTH จะให้สมาชิกของ CTH ที่รับบริการระบบดิจิทัล ยืมกล่องรับสัญญาณของ CTH แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย (ฟรี) โดยขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทำหน้าที่ช่างติดตั้ง ในการไปเบิกกล่องรับสัญญาณดังกล่าวจาก CTH เพื่อนำไปติดตั้งให้สมาชิกที่สนใจจะรับบริการระบบเคเบิลของ CTH ในการบอกเลิกสัญญาในครั้งนี้ CTH ต้องการให้เคเบิลท้องถิ่นต้องไปเรียกเก็บกล่องรับสัญญาณ CTH คืนจากสมาชิก หากเรียกเก็บคืนไม่ได้ เคเบิลท้องถิ่นจะต้องชำระค่ากล่องรับสัญญาณเป็นตัวเงินให้กับ CTH การทำเช่นนี้เป็นวิธีการปัดความรับผิดมาให้เคเบิลท้องถิ่น ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นผู้ปิดสัญญาณ และไม่ได้เป็นเจ้าของกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญกล่องรับสัญญาณดังกล่าวอยู่บ้านของสมาชิกของ CTH การเก็บกล่องคืนจึงไม่ควรเป็นหน้าที่ของเคเบิลท้องถิ่น แต่ถ้าต้องการให้เคเบิลท้องถิ่นเก็บกล่องคืนให้ CTH ควรต้องจ่ายค่าดำเนินการให้เคเบิลท้องถิ่น ซึ่งความจริง กล่องรับสัญญาณดังกล่าวแทบจะไม่มีมูลค่าทางการตลาดแล้ว เพราะเป็นกล่องที่ใช้แล้ว และไม่สามารถเอาไปใช้ในโครงข่ายประเภทอื่นได้ เพราะออกแบบมาเพื่อให้บริการผ่านโครงข่ายทางสายเคเบิลเท่านั้น (DVB-C) โดยเฉพาะกล่องรับสัญญาณระบบ SD แทบจะไม่มีการใช้งานในประเทศไทยแล้ว เก็บกลับมาก็ต้องเสียค่าเก็บ สุดท้ายก็ต้องเอามาทิ้งอยู่ดี
เคเบิลท้องถิ่นเสียอะไรจากการบอกเลิกสัญญา
1) ค่าปรับปรุงโครงข่าย
ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นทุกรายที่เข้าร่วมโครงการกับ CTH จะต้องลงทุนปรับปรุงโครงข่ายสายเคเบิลที่เดิมให้บริการในระบบแอนะล็อก ให้เปลี่ยนมารับบริการในระบบดิจิทัล แต่ละรายต้องเสียค่าใช้จ่าย 1-50 ล้านบาทขึ้นอยู่กับขนาดของโครงข่ายที่ให้บริการ หากรวมค่าปรับปรุงทุกโครงข่ายน่าจะมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
2) เสียฐานสมาชิกให้ CTH
เนื่องจากเคเบิลท้องถิ่นต้องโอนฐานสมาชิกไปเก่าไปให้ CTH ในวันที่เข้าร่วมโครงการ เคเบิลท้องถิ่นรายใดที่โอนเข้าไปให้ CTH มากก็จะมีโอกาสเสียฐานสมาชิกให้ CTH มาก เพราะ CTH สามารถติดต่อกับสมาชิกได้โดยตรง เพื่อเปลี่ยนไปใช้ระบบจานดาวเทียม GMMZ เท่าที่สอบถามผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น น่าจะมีการโอนฐานสมาชิกไปให้ CTH ประมาณ 30% ดังนั้นเคเบิลท้องถิ่นน่าจะได้รับความเสียหายในกรณีนี้ประมาณรายละ 30%
3) เสียส่วนแบ่งรายได้
ในจำนวนสมาชิกที่เปลี่ยนไปใช้กล่องรับสัญญาณของ CTH ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นจะมีส่วนแบ่งรายได้จาก CTH แม้เท่าที่ผ่านมา CTH จะแบ่งให้บางราย บางรายก็ไม่เคยได้รับส่วนแบ่ง แต่ก็ยังเป็นหน้าที่ของ CTH ที่ต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้เคเบิลท้องถิ่น เมื่อ CTH ยกเลิกสัญญา ส่วนแบ่งรายได้ในส่วนนี้ เคเบิลท้องถิ่นก็ไม่สามารถเรียกเก็บจาก CTH เพิ่มเติมได้อีก
4) ถูกสมาชิกด่าฟรี
การบอกเลิกสัญญาในครั้งนี้ จะมีผลทำให้สมาชิกของ CTH ที่ใช้โครงข่ายสายเคเบิลของเคเบิลท้องถิ่นรับสัญญาณ CTH ไม่ได้ แต่สมาชิกเข้าใจว่า เคเบิลท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสัญญาณ เคเบิลท้องถิ่นจึงถูกสมาชิกของ CTH ด่าฟรี เมื่ออธิบายให้สมาชิกฟังบางรายก็เข้าใจ บางรายก็ไม่เข้าใจ เมื่อแจ้งให้โทรไปหา CTH ที่เบอร์ 1619 ก็ไม่มีพนักงานรับสาย สมาชิกจึงไม่รู้จะทำอย่างไร โดยเฉพาะรายที่เลือกซื้อ Package จ่าย 2 ปีดู 3 ปี เสียเงินไปกว่า 20,000 บาทแต่ได้ดูรายการไม่ครบตามสัญญา
5) ปิดกิจการ
เคเบิลท้องถิ่นบางราย ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ และเตรียมตัวไม่ทัน เพราะ CTH ให้เวลาก่อนตัดสัญญาณเพียง 30 วัน บางรายจึงต้องปิดกิจการ บางรายต้องรีบลงทุนปรับปรุงระบบใหม่ เพื่อให้มีสัญญาณเคเบิลทีวีให้บริการกับสมาชิก ความเสียหายนี้ยังประเมินยาก เพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น คงต้องติดตามดูว่า ความเสียหายในส่วนนี้จะมีมากเพียงใด แต่เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีผู้ปิดกิจการประมาณ 50 ราย ที่เหลือต้องขายกิจการในราคาถูก หรือต้องเสียเงินปรับปรุงห้องส่งอีกครั้ง
ความจริงแล้วคุณวิชัย ควรจะรู้ตั้งแต่ปลายปี 2556 แล้วว่า การเดินไปสู่เป้าหมาย The Last Master Piece ร่วมกับเคเบิลท้องถิ่น ไม่มีทางไปสู่ความสำเร็จได้แน่ หากคุณวิชัย วางแผนร่วมกับเคเบิลท้องถิ่นที่จะยุติการเดินทางร่วมกันในเวลานั้น ต่างฝ่ายต่างจะได้รับความเสียหายไม่มาก ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถแยกทางกันเดินโดยยังเป็นมิตรต่อกัน ประชาชนก็จะไม่ได้รับความเสียหายมากเท่าวันนี้ แต่เมื่อเรื่องเดินมาถึงวันนี้ ต่อไปคงต้องไปคุยกันที่ศาลว่า ใครควรเป็นผู้เรียกค่าเสียหายจากใคร เพราะ CTH ปิดประตูที่จะคุยกับเคเบิลท้องถิ่น ในวันนี้คงต้องปล่อยให้ CTH เบ่งกล้าม เรียกค่าเสียหายไปก่อน เคเบิลท้องถิ่นไม่ชอบฟ้องศาล จึงต้องรอรับหมายศาลอย่างเดียว เพราะถึงอย่างไร เคเบิลท้องถิ่นยังเชื่อว่า ศาลท่านน่าจะให้ความยุติธรรมกับเคเบิลท้องถิ่นได้
บทสรุป
ความฝันของคุณวิชัย ที่จะทำให้โครงการ CTH เป็น The Last Master Piece สุดท้ายของชีวิต น่าจะยังคงเดินหน้าไปสู่เป้าหมายต่อไป ส่วนจะเดินไปเพียงคนเดียว หรือเดินไปกับพันธมิตรรายใหม่ ยังไม่มีใครทราบแผนในอนาคตของคุณวิชัยได้ แต่ที่ทราบแน่ๆคือ คุณวิชัย คงจะไม่เดินร่วมกับเคเบิลท้องถิ่นอีกแล้ว การเลิกทำ CTH คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะคนระดับคุณวิชัย คงจะไม่ยอมลงจากหลังเสือในช่วงเวลาแบบนี้แน่ การทิ้งเคเบิลท้องถิ่น เป็นเพียงการสลัดปัญหา และการลดภาระบางส่วนให้หมดไป เพื่อจะก้าวเดินต่อไปให้คล่องตัวยิ่งขึ้นเท่านั้น
ส่วนคำมั่นสัญญาต่างๆที่คุณวิชัยเคยให้คำสัญญาไว้กับผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ก็ขอให้คิดว่าเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อตื่นขึ้นมา จากนี้ไปทุกคนก็ต้องพบกับความจริงที่ต้องเดินหน้าด้วยลำแข้งของตนเองต่อไป
ดั่งคำโบราณที่ว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" และจะต้องไม่เสียใจกับอดีตที่เพิ่งผ่านไป ขอให้เคเบิลท้องถิ่นทุกคน... สู้ต่อไปนะครับ