กระทบหนักกม.ประมงฉบับใหม่ นายกสมาคมประมงวอนรัฐแก้ปัญหาอย่างเข้าใจ
นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย-นักวิชาการ ระบุ ชาวประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายประมงฉบับใหม่ ชี้รัฐใช้ยาแรงโดยไม่ให้เตรียมตัว ย้ำเจรจาอียูอย่างไม่เข้าใจอาชีพและความเห็นจากชาวประมงเกิดปัญหาระยะยาวอย่างแน่นอน
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ประมงไทยไร้ทางออก ?” ณ ห้อง EC 5205 อาคารปฏิบัติการคณะเศรษฐศาสตร์
นายมาโนช รุ่งราตรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กล่าวว่า IUU (Illegal, Unreported and Unregulated) ไม่ใช่ของใหม่สำหรับประเทศไทย เพียงแต่ในปี 2553 สหภาพยุโรป หรือ อียู ออกกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่า หากใครจะส่งสัตวน้ำทะเลมาขายในอียูจะต้องปฏิบัติตามกฎของอียู เช่น มีการตรววจสอบย้อนกลับถึงที่มาของสัตว์น้ำ มีการรายงานความถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริงกฎเหล่านี้ปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติประมง พ.ศ.2490 ที่เคยใช้กันมาอย่างยาวนาน แต่ที่ผ่านมาชาวประมงไม่ได้รับความกดกันจากกฎหมายหรือพ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2490 มากนัก เนื่องจากอยู่กันแบบพี่น้องถ้อยทีถ้อยอาศัย
“กระทั่งวันดีคืนดีกระแสโลกให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำว่าจะต้องมีความยั่งยืน มีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้บังคับใช้ เพียงแต่ให้ใช้สามัญสำนึกในการดูแลทรัพยากร แต่ไม่มีใครปฏิบัติ อียูเป็นห่วงกลัวทรัพยากรจะหมดจึงออกกฎว่าจะต้องมีการรับรองว่าสัตวน้ำมีแหล่งที่มาจากไหน และทำผิดกฎหมายประมงหรือไม่ จึงทำให้ไทยต้องปรับตัว เนื่องจากหากตอบไม่ได้เขาก็จะไม่รับซื้อ และรัฐบาลไทยก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ยาแรง”
นายมาโนช กล่าวถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยการใช้มาตรการที่รุนแรงและเฉียบพลันส่งผลให้ชาวประมงปรับตัวไม่ทัน การควบคุมในเรื่องต่าง ๆ รวดเร็วเกินไป ซึ่งชาวประมงเองจะต้องหาวิธีปรับตัวว่าต้องทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้ ทางกรมประมงเองก็พยายามที่จะช่วยเหลือโดยใช้งานวิชาการเข้ามาช่วยเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวประมง
สำหรับเรื่องการให้เงินช่วยเหลือกับกลุ่มชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐที่ออกมานั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาว่าจะช่วยเหลืออย่างไร หากซื้อเรือคืนจะตีราคาเรือแบบไหน หรือถ้าชาวบ้านต้องการปรับเปลี่ยนอาชีพต้องช่วยอย่างไร ตอนนี้กำลังพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป
ด้านนายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดการแก้ปัญหาประมงของไทยไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เป็นเรื่องของระดับประเทศ เพราะฉะนั้นอย่าไปโทษใคร การที่เราได้ใบเหลืองอียูถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่เราจะใช้เพื่อมาจัดระเบียบเรือประมงที่ผิดกฎหมาย เปิดประตูให้คนผิดเข้ามา อาจจะผิดเพียง 30% เช่นอาชญาบัตรไม่ตรงกับเครื่องมือของเรือ แบบนี้ก็ให้โอกาสเข้าแก้ไข ลักษณะนี้คือการแลกเปลี่ยนและจะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลที่แท้จริงมาเป็นฐานข้อมูลทางราชการเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย แต่หากไปกำหนดกรอบหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานข้อมูลที่ไม่ตรงทุกอย่างก็จะผิดเพี้ยนไปหมด
“วันนี้เราอย่าโทษกัน ขอให้มีการจัดระเบียบเรือประมงให้ได้ทั้งหมดก่อน เพราะถ้าทำไม่ได้เราจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว”
นายภูเบศ กล่าวด้วยว่า สำหรับความรู้สึกของกลุ่มชาวประมงกับการได้รับใบแดงจากอียูนั้น ทุกคนรู้สึกเฉยๆ ถึงแม้จะได้ใบแดงประมงก็ยังอยู่ได้ แต่สิ่งที่ชาวประมงสนใจคือการที่รัฐควรจะต้องแก้ปัญหานี้อย่างมีส่วนร่วม ต้องมาร่วมกันคิดไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกรมประมงเพียงฝ่ายเดียว การดำเนินการของรัฐบาลตอนนี้คืออียูตั้งโจทย์ มีเงื่อนไขมา รัฐบาลแก้ไข แล้วก็ไปวางกรอบ โดยไม่ได้กลับมาถามชาวประมงเลยว่าแบบนี้ทำได้หรือไม่ได้
“อียูขอเราหนึ่งบาท แต่เราให้เขาสามบาท เช่นเรือขนาดหกสิบตันกรอสต้องติดเครื่องติดตามเรือ แต่เรือขนาดสามสิบตันกรอส อียูไม่เคยพูดถึง รัฐก็เอามากำหนด เวลาไปชี้แจงเรื่องจำนวนเรือก็ไปบอกเขาว่ามีเรือห้าหมื่นกว่าลำ แต่ไม่ได้แยกประเภทของเรือว่าเรืออวนลากมีเท่าไหร่ เรืออวนรุนมีเท่าไหร่ เรือพื้นบ้านเท่าไหร่ เมื่อไม่แยกอียูก็มองและเข้าใจประมงของไทยไปอีกแบบ”
นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ประมงเป็นเรื่องซับซ้อน หากคนแก้ปัญหามุ่งแก้ไขโดยไม่ดูพื้นฐานของอาชีพประมง ชาวประมงก็จะกลายเป็นผู้ร้ายในทันที ชาวประมงไม่เคยปฏิเสธเรื่องกฎหมาย หรือแนวคิดที่รัฐบาลคิด ขออย่างเดียวจะตั้งโจทย์แล้วเอากฎหมายมาแก้ต้องถามชาวประมงด้วยว่าไปได้ไหม
"วันนี้รัฐบาลไม่รู้ข้อมูลจริงๆ แต่ก็ไปเจรจากับเขาโดยไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และการแก้ไขปัญหาอย่างไม่เข้าใจอาชีพจะสร้างผลกระทบขึ้นในระยะยาวอย่างแน่นอน ตั้งแต่แก้ปัญหา ออกกฎหมายประมงแล้วประกาศใช้ทันทีโดยไม่ให้มีการเตรียมตัว ชาวประมงเจ็บกันเป็นระนาว และที่ผ่านมาเสียหายไปแสนล้านบาทแล้ว ส่วนเรื่องเงินช่วยเหลือจากภาครัฐก็ไม่มีอะไรชัดเจน ต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจังรัฐควรตั้งงบหรืออนุมัติงบมาจัดการปัญหา แค่ไม่เกิน 2 หมื่นล้านก็จัดการปัญหาได้ทั้งระบบแล้ว
ขณะที่รศ.ดร.กังวาลย์ จันทรโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงทางออกของประมงไทยคือในด้านวิชาการจะต้องมีการศึกษาร่วมระหว่างกรมประมง สมาคมประมง สถาบันการศึกษา แล้วนำผลการศึกษามากำหนดมาตรการเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่ใช่กรมประมงทำอยู่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีใครเข้าร่วม รวมทั้งการจัดการจะต้องอยู่ภายใต้ประมงไทยไม่ยึดติดกับโมเดลของต่างประเทศ อีกทั้งต้องสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการประมง และต้องมาช่วยกันระดมความคิดและใช้บริบทประมงไทยเป็นตัวตั้ง
ส่วนดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวถึงกฎหมายประมงฉบับใหม่ที่ประกาศออกมาแล้วมีผลกำหนดใช้ในทันที ซึ่งส่งผลกระทบกับชาวประมงค่อนข้างมาก อาจจะต้องมีการเข้าไปชี้แจงกับคณะอนุกรรมการสภานิติบัญญัติชาติถึงข้อกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะไม่มีการเคลื่อนไหวในระยะนี้ อาจจะทำหนังสือท้วงติงหรือส่งตัวแทนเพื่อไปทำความเข้าใจกับทางสนช.