พ.ร.บ.ตัดแต่งพันธุกรรมกำลังกลับมาอาละวาดอีกที.....
"แม้ผมจะไม่ได้เป็นนักกฏหมาย แต่ตลอด 6 ปีในช่วงที่เป็น ส.ว. ก็ไม่พบว่า มีกฏหมายฉบับไหนที่ไปปกป้องผู้ก่อความเสียหาย แต่ไม่ปกป้องผู้ได้รับผลกระทบ"
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....
นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสงขลา และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ตอนเป็น สปช. มีการอภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. ตัดแต่งพันธุกรรม หรือ พ.ร.บ. GMO นี้ในประเด็นที่มีบางมาตราได้ระบุในทำนองว่าผู้ก่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพืชหรือสัตว์ GMO ต่อระบบพันธุกรรมและระบบนิเวศธรรมชาติอาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หากเป็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย
"แม้ผมจะไม่ได้เป็นนักกฏหมาย แต่ตลอด 6 ปีในช่วงที่เป็น ส.ว. ก็ไม่พบว่า มีกฏหมายฉบับไหนที่ไปปกป้องผู้ก่อความเสียหายแต่ไม่ปกป้องผู้ได้รับผลกระทบ"
อีกทั้งจากการมีพื้นฐานเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางเกษตร ก็ได้อภิปรายยืนยันว่า การปนเปื้อนทางทางพันธุกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและพร้อมจะถูกอธิบายว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะไม่ใช่เรื่องยากเลยที่พันธุกรรมในธรรมชาติจะถูกปนเปื้อนจากพันธุกรรมที่ดัดแปลง (GMO) ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การอ่อนแรงและอ่อนด้อยของพันธุกรรมในธรรมชาติและส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบนิเวศธรรมชาติในที่สุด
นอกจากนี้หลายประเทศที่รับซื้อผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรจากประเทศไทย ก็ได้ประกาศให้พืชและสัตว์ GMO เป็นผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต้องห้าม (Ban) จึงไม่มีประโยชน์อันใดต่อเกษตรกรไทยที่จะไปส่งเสริมให้มีการผลิตพืชหรือสัตว์ GMO โดยเฉพาะพืชหรือสัตว์ที่บริโภคเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะจะทำให้ถูกเหมารวมจากประเทศนำเข้าสินค้าเกษตรไทยว่าผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรไทยเป็น GMO หรือปนเปื้อนจาก GMO ไปเสียทั้งหมดโดยใช่เหตุ
และสุดท้าย ผมได้อภิปรายว่าผู้ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ. GMO นี้โดยแท้หาใช่เกษตรกรชาวนาชาวไร่โดยทั่วไปไม่ ไม่ว่าในประเทศไทยหรือประเทศที่การเกษตรมีความก้าวหน้าอย่างอเมริกา ซึ่งผมได้ไปศึกษาทางเกษตรมาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก แต่ประโยชน์จะตกแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเกษตรทั้งในประเทศไทยและในอเมริกา ที่เป็นผู้ผลิตและหรือจำหน่ายเมล็ดพันธ์พืช GMO ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ และเคมีภัณฑ์ที่ต้องใช้คู่กันกับเมล็ดพันธ์นี้ เพื่อให้พืชพันธ์ GMO เหล่านี้ได้ให้ผลผลิตดีที่สุด
สรุปแล้ว พ.ร.บ ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. สนับสนุนการตัดต่อพันธุกรรมพืชและสัตว์นี้ ประเทศไทย การเกษตรไทย และเกษตรกรไทยเสียเปรียบและเสียอธิปไตย ทั้งในเกษตรกรรมวิถี ชีวภาพวิถี และนิเวศวิถี หลายประเทศที่เขาระมัดระวังเรื่องนี้เขาจึงคัดค้านต่อต้านการเกษตร GMO กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขั้น Ban กันทั้งประเทศเลยทีเดียว
มีเพื่อน สปช. อีก 5-6 คนร่วมอภิปรายสนับสนุนความเห็นผม จนสุดท้ายกรรมาธิการที่เสนอร่าง พ.ร.บ. นี้เห็นท่าไม่ดี ต้องขอถอนเรื่องนี้ออกจากที่ประชุม
มาวันนี้ไม่มี สปช.พ.ร.บ.นี้ จะกลับเข้าสภาใหม่และตรงไปที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. เลย ผมไม่มีตำแหน่งหน้าที่ที่จะไปอภิปรายให้เหตุผลเช่นที่ผ่านมา ผลจะออกมาอย่างไร ก็ขอให้ถือเป็นชะตากรรมหรือในทางร้ายก็ให้ถือเป็นเวรกรรมของประเทศไทยไปก็แล้วกัน
อ่านประกอบ:วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ:เงื่อนงำชัดเจนดันร่างกม.จีเอ็มโอผ่าน ครม.
ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ....
เอ็นจีโอ ชี้ 'ประยุทธ์ มองให้ออก GMO ปัญหาความมั่นคงชาติ ทำลายเกษตรกรรายย่อย
ปลุกผู้บริโภคตื่นรู้ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ชี้พืช GMOs กระทบฐานผลิตระบบอาหาร
มูลนิธิชีววิถีหวั่นรบ.ชั่วคราว สอดไส้ผลักดันปลูกพืชจีเอ็มโอถูกกฎหมาย