ละเลง 4 หมื่น ซื้อผ้าห่ม'ขนมิ้ง'แจกคนแก่! สตง.ชี้งบอุดหนุนอ.ละ 6.5 แสน รั่วไหลเพียบ
สตง.สรุปผลตรวจสอบโครงการสนับสนุนการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ ประจำปี 56 อำเภอละ 6.5 แสนบาท พบปัญหารั่วไหลเพียบ ยกกรณี อ.ท่าศาลา เบิกจ่ายเงินปรับปรุงห้องประชุมศูนย์ข้อมูลข่าวสารเก๊! พัทลุง ควัก 4 หมื่น ซื้อผ้าห่มขนมิ้ง แจกผู้สูงอายุ จี้ อธิบดีกรมการปกครองทบทวนด่วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อเสนอให้ทบทวนการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอประจำปี 2556 หลังพบว่า มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ส่อว่าจะมีปัญหาการรั่วไหลจำนวนมาก และบางโครงการฯ เห็นสมควรให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนแจ้งผลการตรวจสอบให้สตง.รับทราบด้วย
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2556 กรมการปกครองได้จัดทำโครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เพื่อมุ่งเน้นให้อำเภอเป็นหน่วยบูรณาการงานในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจำ เป็นเร่งด่วนของประชาชนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง และเพื่อสนับสนุนการบริหารราชการของอำเภอ เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
กรมการปกครอง จึงโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของกรมการปกครอง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ตามโครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จากแผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
ผลผลิตเสริมสร้างสมรรถนะของอำเภอในการบริการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกิจกรรมหลัก การบริหารงานอำเภอ งบรายจ่ายอื่น ค่าใช้จ่ายในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอและท้องที่ ให้แก่ที่ทำการปกครองอำเภอทุกแห่ง จำนวน 878 อำเภอ ๆ ละ 650,000 บาท มาตั้งจ่ายที่ที่ทำการปกครองจังหวัด และขอให้จังหวัดควบคุม กำกับ ดูแล และให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการของอำเภอให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดอย่างโปร่งใส และเกิดความคุ้มค่า รวมทั้งกำกับให้อำเภอถือปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเคร่งครัด และควรบูรณาการกับภาคส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน หรือองค์กรอื่น ๆ ในพื้นที่
แต่จากการสุ่มตรวจการดำเนินงานโครงการในบางพื้นที่ พบว่า หลายโครงการตรวจสอบพบปัญหาหรือความเสี่ยงบางประการที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อดำเนินงานตามโครงการ โดยเฉพาะ แนวทางปฏิบัติบางขั้นตอนของกรมการปกครองยังไม่มีความชัดเจน การดำเนินงานบางโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย บางโครงการมีรายละเอียดข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ไม่สามารถวัดความสำเร็จของโครงการได้ การปฏิบัติงานบางขั้นตอนไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ตัวอย่างเช่น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบที่ว่าการอำเภอและห้องประชุมศูนย์ข้อมูลข่าวสารอำเภอท่าศาลาของที่ทำการปกครองอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช งบประมาณ 60,000 บาท วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์รอบที่ว่าการอำเภอท่าศาลาและบริเวณโดยรอบศูนย์ราชการให้สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อปรับปรุงห้องประชุมข้อมูลข่าวสารอำเภอท่าศาลาให้สามารถ รองรับผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน ห้องประชุมมีวัสดุอุปกรณ์ - เครื่องมือ เครื่องใช้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และเพื่อตอบสนองนโยบายกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามโครงการอำเภอใส - สะอาด
แต่จากการตรวจสอบ พบว่า มีการเบิกจ่ายเงินเพื่อพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์รอบที่ว่าการอำเภอเป็นเงิน 60,000 บาท แต่ไม่มีการปรับปรุงห้องประชุมศูนย์ข้อมูลข่าวสารอำเภอท่าศาลา ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของโครงการแต่อย่างใด
หรือกรณี โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ของที่ทำการปกครองอำเภอป่าบอนจังหวัดพัทลุง งบประมาณ 44,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้และสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลคุ้มครองและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเพื่อให้อำเภอสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงทีและรวดเร็ว และเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โครงการได้กำหนดกิจกรรมโดยการจัดซื้อผ้าห่มขนมิ้ง จำนวน 176 ผืน เป็นเงิน44,000 บาท แจกให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งสตง.มองว่าเป็นการทำโครงการสนับสนุนที่ไม่ยั่งยืน
เบื้องต้น สตง. ได้เสนอแนะให้ ปลัดจังหวัด กำชับให้นายอำเภอในฐานะผู้พิจารณาอนุมัติโครงการให้ความสำคัญในการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่การกำหนดปัญหา ขั้นตอนวิธีการดำเนินงานการใช้จ่ายงบประมาณ ว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และสามารถวัดผลสำเร็จของโครงการได้ ส่วนโครงการปรับภูมิทัศน์รอบที่ว่าการอำเภอและห้องประชุมศูนย์ข้อมูลข่าวสารอำเภอท่าศาลาที่เบิกจ่ายเงินโดยไม่มีการปรับปรุงห้องประชุมศูนย์ข้อมูลข่าวสารอำเภอท่าศาลา ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และแจ้งผลการตรวจสอบให้สตง.รับทราบเป็นทางการ
ส่วนข้อเสนอแนะต่อ อธิบดีกรมการปกครอง พิจารณาทบทวนการดำเนินการใน 2 ประเด็น คือ 1.วัตถุประสงค์ของโครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ พร้อมทั้งให้มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดการดำเนินโครงการอย่างชัดเจนให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์และวัตถุประสงค์ของโครงการ 2. พิจารณาทบทวนถึงความเหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณระหว่างการจัดสรรงบประมาณเท่ากันทุกอำเภอกับการจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของขนาดพื้นที่ของอำเภอและนำผลการดำเนินงานที่ผ่านมาประกอบการพิจารณา เพื่อกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความคุ้มค่า และมีความเหมาะสมกับการบริหารงานของอำเภอมากขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากโครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ ประจำปี 2556 ที่มีการสรุปผลการตรวจสอบไปแล้ว สตง.จะขยายผลการตรวจสอบไปในปี 2557-2558 ด้วย โดยในปี 2558 พบว่า มีการจัดสรรงบประมาณออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. อำเภอขนาดเล็ก (1 - 5 ตำบล) จำนวน 700,000 บาท 2. อำเภอขนาดกลาง (6 - 10 ตำบล) จำนวน 750,000 บาท 3. อำเภอขนาดใหญ่ (11 ตำบลขึ้นไป) จำนวน 800,000 บาท