"รสนา" โต้กลับ : ความคิดตกยุคของทุนผูกขาดล้าหลัง
"...เราควรตั้งคำถามว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้จึงกลัว "ระบบแบ่งปันผลผลิต"กันนักถึงกับมีบางคนเขียนบทความเชิดชู"ระบบสัมปทาน" ว่าดีที่สุด โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน แต่"ระบบแบ่งปันผลผลิต" มีแต่คอร์รัปชัน ไม่โปร่งใส ทั้งที่2ระบบมีโอกาสคอร์รัปชันได้เหมือนกันหมด หากไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดีพอ..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : ภายหลังจากที่ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ว่าด้วยข้อพิพาทพลังงาน(อีกสักครั้งหนึ่ง) (อ่านประกอบ : บรรยง พงษ์พานิช : ว่าด้วยข้อพิพาทพลังงาน (อีกสักครั้งหนึ่ง)) ล่าสุด นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ระบุถึงบทความของนายบรรยง เช่นกัน
--------------
"อย่าบิดเบือนการตรวจสอบของประชาชนด้วยความคิดตกยุคของทุนผูกขาดล้าหลัง"
ดิฉันได้อ่านบทความคุณบรรยง พงษ์พานิช "ว่าด้วยข้อพิพาททางพลังงานอีกครั้งหนึ่ง" เพราะมีเพื่อนส่งมาให้อ่านโดยปกติดิฉันไม่ได้สนใจที่จะไปหาอ่านงานเขียนของท่านหรือกลุ่มของท่าน ตั้งแต่ได้อ่านข้อเขียนก่อนหน้านี้ของท่านที่แสดงความคิดเห็นอันไม่สมควรต่อคนเพศแม่
ในบทความวันที่22พฤศจิกายน2558ของท่านจงใจกล่าวพาดพิงเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ) และดิฉันตรงๆ ด้วยอาการดูถูกดูแคลนแบบเดิมๆตามนิสัยส่วนตัวของท่าน
เนื้อหาโดยสรุปในบทความท่านคือการเร่งเร้าให้รัฐบาลรีบตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งของนโยบายพลังงาน ซึ่งก็คือแนวทางของพวกท่านใน"กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" นั่นเองโดยอ้างว่าแนวทางของตนคือ "ทุนนิยมเสรี"(Capitalism)เป็นแนวทางปฏิบัติในสากลโลกที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ส่วนแนวทางของคปพ.เป็นแนวทางที่ล้มเหลวโดยยกตัวอย่างบรรดาประเทศฝ่ายซ้ายมาเป็นตัวอย่างและเรียกแนวทางข้อเสนอของคปพ.ว่าเป็นแนวทาง สังคมนิยม&ชาตินิยม( Socialism&Nationalism) ที่จะพาการพัฒนาประเทศไปสู่หายนะ
คุณบรรยงกำลังปลุกผีให้สังคมเกลียดกลัว NGOs โดยวาดภาพNGOs ว่าเป็นพวกที่มีทักษะแค่"การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย" ซึ่งไม่ต่างจากยุคสมัยที่มีการปลุกผีคอมมูนิสต์ให้คนไทยเกลียดกลัว สมัยนั้นมีการวาดภาพคอมมูนิสต์เป็นรูปผีรูปยักษ์มีเขี้ยว มีการปลุกความกลัวความเกลียดชังไปถึงขั้น "ฆ่าคอมมูนิสต์ไม่บาป"
ประเทศไทยไม่เคยเป็นประเทศโซเชียลิสต์ และคนไทยก็ไม่เคยมีความชาตินิยมที่มีผลทางเศรษฐกิจต่อประเทศเหมือนประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่นที่แสดงความชาตินิยมทางเศรษฐกิจด้วยการใช้แต่สินค้าของตนเอง จนสมัยหนึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นต้องขอให้ประชาชนใช้สินค้าของประเทศอื่นบ้าง โดยที่ก่อนหน้านั้นสหรัฐอเมริกาก็เคยอาศัยลัทธิอเมริกันนิยม สร้างการตลาดทุนนิยมอันยิ่งใหญ่ให้อเมริกามาแล้ว ในยุคปัจจุบันกระแสชาตินิยมของเกาหลีใต้ก็ช่วยสร้างความเติบโตแบบก้าวกระโดดให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จริงอยู่แม้ประเทศทุนนิยมเหล่านั้นไม่เคยดำเนินนโยบายทุนนิยมโดยรัฐ(State Capitalism)เหมือนกับที่ไทยเคยสมาทานมาในยุคเผด็จการทหาร แต่เนื่องจากไทยเป็นชาตินิยมแต่ปาก หากไม่เคยมีความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจจริงจังอะไร เพราะมีค่านิยมซื้อสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยจากเมืองนอกและดูถูกสินค้าไทย
ดังนั้น แม้ทุนชาตินิยมของรัฐไทยจะมีอำนาจผูกขาด มีอภิสิทธิ์สารพัด แต่เพราะบริหารอย่างขาด
ธรรมาภิบาล ขาดการตรวจสอบและไร้ประสิทธิภาพ ทุนนิยมไทยจึงไปไม่ถึงไหน ส่วนที่เป็นรัฐวิสาหกิจก็ทะยอยล้มหายตายจากไปจนเกือบหมดเพราะแข่งขันสู้กับธุรกิจเอกชนไม่ได้ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดไร้คู่แข่งขัน อย่างเช่น การไฟฟ้า การประปา รวมถึงการปิโตรเลียมด้วย
โชคดีที่สังคมไทยไม่เคยสุดโต่งถึงขนาดกลายเป็นรัฐสังคมนิยม ซึ่งนอกจากจะไม่มีโอกาสพัฒนากลายเป็นรัฐสังคมนิยมที่มั่งคั่งร่ำรวยอย่างจีนที่รู้จักประยุกต์เศรษฐกิจทุนนิยมผสมคอมมิวนิสต์(Mixed Economic)แล้ว ก็อาจจะกลายเป็นแบบประเทศเกาหลีเหนืออย่างที่คุณบรรยงวิตกกังวลก็ได้ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันนะว่า ทุนนิยมที่สอดไส้อำนาจนิยมและการผูกขาดแบบไทยๆอย่างที่เป็นอยู่ สักวันหนึ่ง อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ไม่ดีไปกว่ารัฐสังคมนิยมที่พวกท่านดูแคลน
การยกทฤษฎีสุดโต่งสองขั้วที่ต่อสู้กันระหว่างสังคมนิยมชาตินิยม กับ ทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ตกยุคไปนานแล้ว เป็นการให้ร้ายป้ายสีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความต้องการคงการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานเอาไว้ภายใต้เสื้อคลุมทุนนิยมเสรี
ดิฉันไม่เคยสมาทานลัทธิสังคมนิยมคอมมูนิสต์
ดิฉันสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม สิ่งที่ดิฉันต่อต้านคือทุนนิยมผูกขาด แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา "ตลาดเสรี ต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่"
คุณบรรยงกล่าวหาว่า NGOs มีแต่ทักษะ "การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย" คงลืมไปแล้วหรือแกล้งจำไม่ได้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ทำลายบ้านเมืองแทบสิ้นเนื้อประดาตัวไม่ได้มาจาก NGOs หรือหนี้ของภาครัฐ แต่เกิดจากภาคเอกชนที่ไร้วินัยทางการเงิน ที่เพื่อนร่วมอาชีพของคุณบรรยงได้ทำไว้กับประเทศไทย เมื่อปี2540 และเป็นมรดกบาปให้กับประชาชนที่ต้องมาใช้หนี้ให้ภาคเอกชนของพวกคุณที่ล้มบนฟูก
NGOsส่วนใหญ่เป็นเพียงองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆ(เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชน) ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเหมือนพลเมืองทั่วไปในการตรวจสอบการใช้ภาษีของประชาชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม แน่นอนNGOsไม่ใช่องค์กรวิเศษวิโสอะไร แต่ก็พอมีผลงานพัฒนาและการตรวจสอบอันเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยตามสมควร ใครก็ตามที่มองว่าการทำงานตรวจสอบของNGOsเป็นการทำลาย ถ้าไม่มีอคติส่วนตัวหรือเป็นวัวสันหลังหวะเสียเอง ก็ควรกลับไปทบทวนเสียใหม่ว่า สิ่งที่ทำลายระบบหรือองค์กรนั้นล้วนมาจากความไร้ธรรมาภิบาลและความด้อยประสิทธิภาพจากภายในเอง หาใช่การตรวจสอบหรือการโจมตีจากภายนอกแต่อย่างใดไม่ ขอให้ดูตัวอย่างบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง Enron ที่ล้มละลายจากการตกแต่งบัญชีและการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรของตัวเอง
อันที่จริงสังคมประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยม-เสรีประชาธิปไตย ที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมประชาธิปไตยแบบอเมริกาหรือสังคมประชาธิปไตยแบบกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและเยอรมนี ล้วนเป็นสังคมที่เปิดกว้างให้มีกลไกการตรวจสอบอย่างเข้มข้นโปร่งใสทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในประเทศต้นแบบของเสรีทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา จึงเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้กับกลุ่มทุนผูกขาด และผู้ท่ีชูธงนำต่อต้านการควบรวมบรรษัท(Anti-Trust)ที่มีอำนาจเหนือตลาด ก็ไม่ใช่NGOsเสียงนกเสียงกาอย่างพวกดิฉัน แต่เป็นถึงประธานาธิบดีอย่างวู๊ดโรว์วิลสัน(Woodrow Wilson)ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง2สมัย8ปีเต็ม
ต้นเหตุที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายแอนตี้ทรัสต์ เกิดจากชาวอเมริกันไม่พอใจที่กลุ่มนายทุนผู้ขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเช่น น้ำตาลและน้ำมัน มาร่วมกันจัดตั้งทรัสต์(Trust) เพื่อลดการแข่งขันทางการค้าระหว่างกันและเพื่อผูกขาดการค้าด้วย ส่งผลให้สินค้าเหล่านั้นมีราคาสูงลิบลิ่ว ตามกฎหมายการแข่งขันการค้าของสหรัฐอเมริกา ถือว่าการควบรวมกิจการเป็นพฤติกรรมทางธุรกิจที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาดและถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง กฎหมายแอนตี้ทรัสต์ฉบับแรกของอเมริกาถือกำเนิดมากว่า100ปีแล้ว(Sherman Act : ค.ศ.1890) และยังมีกฎหมายควบคุมการควบรวมกิจการ(Merger Control)และห้ามการผูกขาดการค้า(Monopolization)ออกมาอีกหลายฉบับ ในขณะที่ไทยเพิ่งมีกฎหมายการแข่งขันทางการฉบับแรกและฉบับเดียวเมื่อปีพ.ศ.2542ซึ่งเป็นเสือกระดาษที่ยังจับสุนัขจิ้งจอกในเล้าไก่ไม่ได้สักตัว ดิฉันชื่นชมผู้นำทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยของอเมริกัน ที่กล้าต่อสู้กับการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่
บริษัทน้ำมันอเมริกันรายหนึ่งเคยมาให้ข้อมูลในกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตฯวุฒิสภา กล่าวว่าบริษัทของเขาถูกสั่งให้แยกบริษัทเมื่อมีอำนาจเหนือตลาดเกิน30% แต่ในประเทศไทย รัฐบาลกลับปล่อยให้มีการควบรวมบริษัทน้ำมันกับบริษัทปิโตรเคมี ทั้งยังแสดงความภาคภูมิใจว่าเป็นการควบรวมที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ซึ่งเป็นการควบรวมแนวดิ่ง (Vertical Integration) ทำให้เกิดการแย่งใช้ก๊าซแอลพีจีกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
คุณบรรยงปรามาสว่าถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะคงจะทำอะไรไม่เป็น คงจะเอาแต่สั่งลดราคาเอาใจประชาชนจนขาดทุน จนต้องไปเอาภาษีรัฐมาอุด
ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ สิ่งแรกที่ดิฉันจะทำคือ สั่งยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมาย แต่ล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมัน และก๊าซแอลพีจีจนสะสมเงินได้ถึง40,000ล้านบาท และยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่ก็ล้วงกระเป๋าคนใช้น้ำมันถึงปีละ8-9พันล้านบาท ปัจจุบันก็มีเงินอยู่ในกองทุนถึง40,000ล้านบาท แค่2กองทุนก็ล้วงกระเป๋าประชาชนไปถึง80,000ล้านบาท
แค่ยกเลิก2กองทุนนี้ก็ลดภาระบนหลังของประชาชนที่ต้องแบกได้พอสมควรแล้ว และด้วยการทำแบบนี้ ก็จะเป็นการสะท้อนราคาตามกลไกตลาดอย่างที่คุณต้องการ
ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ จะให้ปตท.แปรรูปเป็นเอกชน100% แต่ก่อนอื่นต้องจัดการนำท่อก๊าซ ท่าเรือ คลังก๊าซที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติกลับมาเป็นของรัฐเสียก่อน ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ผูกขาดของเอกชนรายใดรายหนึ่ง หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนหลายรายสามารถเช่าใช้ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามหลักเศรษฐกิจเสรี
นอกจากนี้กิจการก๊าซทั้งระบบซึ่งเป็นระบบที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจะปล่อยให้เป็นกิจการของเอกชนไม่ได้ กิจการนี้ต้องนำกลับมาเป็นของรัฐ ส่วนกิจการใดของปตท.ที่มีการแข่งขันให้เป็นเอกชนได้100%
ถ้าดิฉันนั่งหัวโต๊ะ จะจัดการไม่ให้มีกลไกผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่ ขอยกตัวอย่างสักเรื่อง สมัยที่อยู่สภาปฏิรูปแห่งชาติในปี2557 ในการประชุมสปช.ด้านพลังงานครั้งหนึ่ง มีบริษัทก๊าซแอลพีจีหลายบริษัทมาเสนอว่าต้องการให้กระทรวงพลังงานเปิดให้มีการประมูลการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ใครประมูลได้ถูกที่สุดก็ให้เป็นผู้ได้สิทธิในการนำเข้ามา ถ้าใช้วิธีนี้ ราคาก๊าซนำเข้าจะถูกกว่าที่เป็นอยู่แต่ตัวแทนกระทรวงพลังงานไม่สามารถตัดสินใจใดๆ
เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่กับผู้บริหารในกระทรวงพลังงาน ซึ่งหลายท่านนั่งเป็นบอร์ดปตท.จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เอื้อปตท.เช่น การอนุมัติให้เอากองทุนน้ำมันอุดหนุนค่าโสหุ้ยการนำเข้าแอลพีจีของ บริษัทปตท.80 เหรียญ/ตัน นอกจากนี้อุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างท่าเรือก็เป็นกรรมสิทธิผูกขาดของ บริษัทปตท.ใครมาใช้ต้องจ่ายค่าเช่าครั้งละเป็นแสนบาท ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางราคา จึงไม่เกิดการแข่งขันทางราคาที่เป็นจริง นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่มีการใช้กองทุนน้ำมันบิดเบือนกลไกราคา
ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงานเก็บเงินจากประชาชนที่ใช้น้ำมันลิตรละ25สต. ได้เงินปีละ 8,000-9,000ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินอยู่ถึง40,000ล้านบาทแล้ว ควรต้องหยุดเก็บเงิน และจะให้มีการตรวจสอบการใช้เงินและประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลว่า มีมรรคผลให้เกิดการประหยัดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างไร
คุณบรรยงเคยทราบไหมว่า "กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน" มีวิธีการสร้างความยั่งยืนอย่างน่าสนใจ กล่าวคือสมาชิกERS เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูง เพราะสมาชิกERSมีข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ทั้งอดีตปลัดและอธิบดีปัจจุบันที่เป็นกรรมการบริหารกองทุนอนุรักษ์พลังงานด้วย สมาชิกERS. ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมีอำนาจเป็นผู้กำหนดว่าเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะถูกใช้ไปทางใดบ้าง กองทุนอนุรักษ์พลังงานผูกขาดการให้ทุนผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานนับสิบปี โดยมีประธานERS มานั่งเป็นประธานมูลนิธิอีกด้วย สมาชิก ERS. หลายคนก็ไปเป็นกรรมการในกองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน บางคนก็ไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทปตท.และบริษัทลูกของปตท. รวมทั้งได้เป็นซูเปอร์บอร์ดดูแลบรรดารัฐวิสาหกิจ โครงข่ายของกลุ่มคุณบรรยงโยงใยเป็นหนวดปลาหมึก และมีที่ทางอยู่ในหน่วยงานที่มีทั้งอำนาจและงบประมาณมหาศาลแบบนี้ คุณบรรยงเห็นว่านี่คือวิถีทางแบบทุนนิยมเสรี ที่ไม่มีการผูกขาดและไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า Conflict of Interest !?!
น่าแปลกที่รัฐบาลคสช.ก็ไม่ยักตรวจสอบกองทุนพวกนี้อย่างเข้มข้นบ้าง ซึ่งเป็นกองทุน Ear Mark Tax แบบเดียวกับ สสส. และแต่ละกองทุนยังมีเงินมหาศาลถึง 40,000 ล้านบาท กองทุนสสส.ได้เงินปีละ4,000ล้านบาท มีการประเมินประสิทธิภาพ และผลงาน ต้องมีรายงานทุกปี แต่รัฐบาลคสช.ตรวจสอบอย่างเข้มข้นเอาเป็นเอาตาย ซึ่งดิฉันขอยกมือสนับสนุนการตรวจสอบดังกล่าว ได้ข่าวมาว่าจะออกระเบียบว่าใครที่มาเป็นกรรมการกองทุนสสส. และเป็นกรรมการมูลนิธิหรือสมาคมด้วย จะมีกฎเกณฑ์ห้ามองค์กรนั้นมาขอทุนสสส. ดิฉันก็อยากให้รัฐบาลประกาศใช้ระเบียบนี้กับทุกกองทุนด้วย จะได้ไม่มีข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติ
การออกอาการหงุดหงิด พาลพาโลหยิบยกเอาเรื่องทฤษฎีที่ตกยุคไปนานแล้วมาสาดโคลนกัน อ้างว่าเป็นประเด็นข้อพิพาทด้านนโยบายพลังงาน ดิฉันกลับมองว่าเป็นเพียงอาการที่คำพังเพยไทยเรียกว่า "สุนัขหวงราง"
การกล่าวหาข้อเรียกร้องของคปพ.เรื่องให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ว่าเป็นเรื่องชาตินิยม สังคมนิยม ถึงกับจะพาประเทศไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ไม่ลองหันไปมองประเทศใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซียบ้างหรือ มาเลเซียตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาดูแลบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำทำให้มาเลเซียกลายเป็นสังคมนิยมหรือเปล่า? ทำให้มาเลเซียกลายเป็นพวกชาตินิยมที่ยึดทรัพย์สินเอกชนมาเป็นของรัฐหรือเปล่า?
สมาชิกERSคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกสปช. ยอมรับว่าถ้ารัฐบาลเลือกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ก็ต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ การออกมาใส่ร้ายป้ายสีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มของคุณไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้ "ระบบแบ่งปันผลผลิต" ส่วนสมาชิกของERSที่เป็นระดับผู้บริหารในกระทรวงพลังงานอ้างว่าได้เพิ่มรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตไว้ในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมแล้วตามที่คปพ.เรียกร้อง ในขณะเดียวกันสมาชิกERS อีกส่วนก็ออกมาดิสเครดิต"ระบบการแบ่งปันผลผลิต" และ "บรรษัทพลังงานแห่งชาติ" การสักแต่บัญญัติในร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมว่ามีรูปแบบ "การแบ่งปันผลผลิต" และ"การจ้างผลิต" เอาไว้โดยไม่มีการสร้างกลไกรองรับรูปแบบดังกล่าว แสดงว่าเป็นเรื่องหลอกลวง ใช่ไหม?
เราควรตั้งคำถามว่าเหตุใดคนกลุ่มนี้จึงกลัว "ระบบแบ่งปันผลผลิต"กันนักถึงกับมีบางคนเขียนบทความเชิดชู"ระบบสัมปทาน" ว่าดีที่สุด โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน แต่"ระบบแบ่งปันผลผลิต" มีแต่คอร์รัปชัน ไม่โปร่งใส ทั้งที่2ระบบมีโอกาสคอร์รัปชันได้เหมือนกันหมด หากไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดีพอ
แต่คนกลุ่มนี้ไม่สนใจกลไกการตรวจสอบ มุ่งเน้นตัดสินดีชั่วไปที่ตัวรูปแบบเท่านั้น เพราะอะไร?ดิฉันคิดว่า เพราะหลักการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมที่พบ "ระบบแบ่งปันผลผลิต" กรรมสิทธิ์เป็นของประเทศ ส่วน"ระบบสัมปทาน" กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน ทุนพลังงานเอกชนไม่อยากให้เจ้าของทรัพย์รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์อยู่มากน้อยเท่าไหร่ และหว่านล้อมรัฐบาลว่า ไม่คุ้มหรอกที่รัฐจะลงทุนเพื่อรู้ว่าเรามีทรัพย์สินเท่าไหร่กันแน่
คนเหล่านี้ชี้นำทำนองว่า แหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยเหลือน้อย ถ้าเปรียบเป็นลูกสาวก็ไม่สวย ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถ้าเรียกสินสอดมากๆ จะขายลูกสาวไม่ออก ระบบแบ่งปันผลผลิตก็คือจะเรียกสินสอดแพง ทำให้คนไม่มาขอ ส่วนระบบสัมปทานเป็นสินสอดที่เหมาะสมแล้วกับลูกสาวขี้เหร่
การอ้างเรื่องคปพ.เขียนกฎหมายให้พวกตนเองได้เข้าไปเป็นกรรมการในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เป็นเพียงการเอาประเด็นเล็กมาโจมตีเพื่อปิดบังหลักการใหญ่เรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์จากของ
งเอกชนมาเป็นของประเทศเจ้าของทรัพยากร ซึ่งการมีระบบแบ่งปันผลผลิตและบรรษัทพลังงานแห่งชาติจะทำให้เอกชนไม่มีโอกาสโชติช่วงชัชวาลจากทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยเหมือนแต่ก่อนเท่านั้นเอง
คุณบรรยงน่าจะเข้าใจอะไรผิดที่หยิบยกประเด็นข้อพิพาทเรื่องนโยบายพลังงาน ว่าคปพ.และดิฉันไปมีข้อพิพาทกับพวกคุณ ดิฉันไม่ได้สนใจทะเลาะกับพวกคุณเลย สิ่งที่คปพ.และดิฉันทำคือ การบอกกับรัฐบาลที่กินเงินเดือนจากภาษีของเราให้กำหนดนโยบายพลังงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน
แนวคิดของพวกคุณที่ว่า Government owns is nobody owns, nobody owns is nobody cares ทรัพย์สินของรัฐคือทรัพย์สินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เมื่อไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็ไม่มีใครสนใจดูแล นอกจากเป็นแนวคิดล้าหลังแล้ว ยังควรเรียกว่าเป็นตรรกะบริโภคของกลุ่มทุนที่ต้องการครอบครองทรัพย์สินของประชาชนด้วยข้ออ้างว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็ยกให้เอกชนเป็นเจ้าของ
แต่สำหรับประชาชนอย่างดิฉันเราเชื่อว่า ความมั่นคงทางพลังงานสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชนที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน
รสนา โตสิตระกูล
25 พ.ย 2558