ผู้หญิงชายแดนใต้ขอมีพื้นที่ปลอดภัยในตลาดและบนถนน
23 องค์กรเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จัดกิจกรรมรณรงค์ในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล วันที่ 25 พฤศจิกายน พร้อมออกแถลงการณ์ “ขอพื้นที่ปลอดภัยและปราศจากความรุนแรงในตลาดและบนถนน” รวมทั้งวอนขอยุติความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อความสงบในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
พลังผู้หญิงกว่า 500 คนร่วมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ริ้วขบวนเน้นลูกโป่งสีขาว อันเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัย พร้อมจัดสานเสวนาเรื่อง “เสียงของผู้หญิงในพื้นที่ ข้อห่วงใยและความหวังของผู้หญิงเพื่อความปลอดภัย” ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อช่วงเช้าของวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2558
เอกสารเผยแพร่ภายในงาน ระบุสถิติความรุนแรงตลอด 11 ปีไฟใต้ พร้อมชี้ว่าความสูญเสียที่เกิดกับผู้หญิงมีตัวเลขที่น่าตกใจ โดยมีสตรีเสียชีวิต 431 คน บาดเจ็บ 1,651 คน
ระยะเวลาเพียง 7 เดือนของปี 2557 (มกราคม-กรกฎาคม) มีผู้หญิงถูกสังหารไป 32 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน ในจำนวนเหยื่อเหล่านี้บางคนเป็นนักศึกษา บางคนกำลังตั้งครรภ์ บางคนกำลังใส่บาตร บางคนกลายเป็นคนพิการ (อ่านรายละเอียดในหมวด “สถิติย้อนหลัง”)
ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ผู้อำนวยการสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) ในฐานะผู้หญิงที่เผชิญกับความสูญเสียของคนในครอบครัว แต่ก้าวข้ามความทุกข์โศกมาทำงานให้กำลังใจและเยียวยาคนที่เจอสถานการณ์เดียวกัน บอกว่า ขอเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงทุกคนที่มีความรู้สึกเหมือนกัน เมื่อเริ่มต้นด้วยความเจ็บปวดแล้วแปรเปลี่ยนเป็นความเข้มแข็ง กลับไปหยิบยื่นกำลังใจให้ผู้ได้รับผลกระทบมีพลังมากขึ้น ผู้หญิงจึงต้องได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิที่ควรมี เรียนรู้กฎหมาย พัฒนาศักยภาพ แม้ผู้หญิงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก็ต้องทำเช่นกัน
เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีพลังในการส่งเสียงความต้องการ ทุกคนไม่อยากเห็นความสูญเสียอีกต่อไป อยากขอพื้นที่ที่ปลอดภัยในตลาดและท้องถนน ตลาดเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงไปจับจ่ายซื้อของ ตลาดคือชีวิตที่สามารถก่อเหตุง่ายที่สุด รวมทั้งบนถนนสายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขอให้นำไปเป็นประเด็นและข้อเสนอบนโต๊ะในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ซาวียะห์ มูซา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจาก ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ชุมชนพหุวัฒนธรรมของพี่น้องพุทธและมุสลิม กล่าวว่า ความเข้าใจและความสนิทสนมเป็นรากฐานที่ยังมีอยู่ของชุมชน ด้วยลักษณะของผู้หญิงสามารถเข้าถึงชุมชนมากกว่าผู้ชาย
เธอยกตัวอย่างชุมชนท่าสาปว่า อยู่กันมาแบบพี่เป็นเป็นน้อง ทั้งพุทธและมุสลิม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จัดงานเลี้ยงก็แยกเต็นท์ในงานเดียวกัน เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น ต้องทำความเข้าใจต่อกัน ความเข้าใจและความสนิทสนมเป็นรากฐานที่ยังมีอยู่ พยายามสานต่อความเป็นพี่น้อง คอยประสานงานให้กับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้หญิงเข้าถึงมากขึ้น และขอเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยให้มีทุกตารางนิ้ว
เปิดแถลงการณ์ “ขอมีพื้นที่ปลอดภัย”
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เรื่อง “ข้อเสนอว่าด้วยพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง” สรุปว่า ผู้หญิงต้องการให้พื้นที่สาธารณะ อันได้แก่ ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ปลอดภัยมากที่สุด เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวมีผู้หญิงเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งในการเดินทางสัญจรไปมา เป็นแหล่งทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย จัดหาสิ่งของจำเป็นสำหรับคนในครอบครัว เป็นจุดนัดพบ พักผ่อนหย่อน รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุตรหลานด้วย
ดังนั้นคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงขอเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยและผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่าย รวมทั้งคนในชุมชนสังคมว่า
1.ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบ ที่นำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และขาดพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อผู้หญิงและทุกคนในครอบครัว
2.ขอให้ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายหาทางออกโดยวิธีการทางการเมือง หลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธที่ทำให้ผู้หญิงและกลุ่มเป้าหมายเปราะบางได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดและไม่สร้างเงื่อนไขยั่วยุให้อีกฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ
3.ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรมประชาหารือสานเสวนา เพื่อหาทางออกในวิถีทางสันติ พร้อมลงมือดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและทุกคนในชายแดนใต้ร่วมกัน
เปิดตัว 23 องค์กรผู้หญิงชายแดนใต้
23 องค์กรเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ประกอบด้วย กลุ่มเซากูน่า, กลุ่มด้วยใจ, กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้, กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี, เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women), เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ, เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้, เครือข่ายชุมชนศรัทธา, เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี, เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก, เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ, เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้, ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส, ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส, มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า, สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)
สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา, สภาประชาสังคมชายแดนใต้, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้, ศูนย์ฟ้าใส, เครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา, ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กิจกรรมรณรงค์และสานเสวนาเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้