วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ:เงื่อนงำชัดเจนดันร่างกม.จีเอ็มโอผ่าน ครม.
“ร่างกฎหมายที่เพิ่งผ่าน ครม.นั้น เปิดกว้างมาก และมีเนื้อหาเปิดทางให้บริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นหัวใจของการคัดค้านครั้งนี้”
ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ กำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรม หรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่ที่ได้จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือวิธีการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ไม่ใช้บังคับกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นยาสำหรับมนุษย์หรือสัตว์ตามที่มีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว พร้อมให้กำหนดหลักการควบคุมการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในลักษณะที่ห้ามมิให้มีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใด ๆ สู่สิ่งแวดล้อม
เว้นแต่สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวผ่านการใช้ในภาคควบคุมและการใช้ในภาคสนาม เพื่อทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ และได้มีการขึ้นบัญชีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้แล้ว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีดังกล่าวว่า การผ่านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ) มีเงื่อนงำชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวจากบริษัทข้ามชาติในนามสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในประเด็นการหารือมีเรื่องจีเอ็มโอรวมอยู่ด้วย
นอกจากนี้ยังมีกระบวนการขนานใหญ่ส่งผู้แทนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นักวิชาการ ศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 สปช.มติถอนร่างออกจากการพิจารณา เนื่องจากมีกระบวนการเร่งรัดมากเกินไป ไม่เปิดให้สมาชิกพิจารณาเนื้อหา ซึ่งมีช่องโหว่หลายประการเอื้ออำนวยต่อบริษัท
“อยู่ ๆ ร่างกฎหมายถูกเข้าไปสู่การพิจารณาของ ครม. โดยไม่ฟังเสียงหรือข้อเสนอท้วงติง โดยเฉพาะจากหน่วยงานราชการที่สำคัญอย่างกระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ” เขาแสดงความผิดหวัง ก่อนระบุว่า ครม.กลับมีมติเห็นชอบและเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ยังเห็นว่า ร่างกฎหมายที่เพิ่งผ่าน ครม.นั้น เปิดกว้างมาก และมีเนื้อหาเปิดทางให้บริษัทผู้ผลิตจีเอ็มโอไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นหัวใจของการคัดค้านครั้งนี้ โดยยังไม่จำเป็นต้องพูดถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะกรณีดังกล่าวยังมีการถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ ในโลกต่างออกมาปฏิเสธแล้ว ดังเช่น กลุ่มสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯ ที่มีความตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น
“ร่างกฎหมายกลับไม่มีการเขียนหลักประกันกรณีเกิดความเสียหายจากการดำเนินการจีเอ็มโอตามที่กระทรวงพาณิชย์และสภาพัฒน์ฯ เสนอ นั่นแสดงว่า มีพลังวิเศษมากกว่าที่เห็นอยู่ก็ได้ ทำให้ขาข้างหนึ่งเหยียบเข้าไปในดินแดนจีเอ็มโอแล้ว” เขาระบุ
แล้วสถานการณ์หลังจากนี้จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายได้หรือไม่ นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันร้ายแรงยิ่งกว่ารัฐบาลในอดีต โดยก่อนหน้านี้แม้จีเอ็มโอจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แม้กระทั่งในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเมืองแม่จีเอ็มโอ ก็มีกระแสลุกขึ้นต่อต้านของประชาชน
จึงน่าสนใจว่า เราอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ แล้วเหตุใดจึงนำเข้ามาอยู่ในประเทศไทย สวนทางกับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินหน้าสู่ประเทศเกษตรกรรมอินทรีย์ ทั้งนี้ มีโอกาสอ่านแถลงการณ์ของประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย รวมถึงนักธุรกิจหลายท่าน ต่างผิดหวังอย่างมากกับการตัดสินใจครั้งนี้ของ ครม.
เขาบอกต่อว่า มูลนิธิชีววิถีและเครือข่ายเคยยื่นเรื่องคัดค้านเนื้อหาร่างกฎหมายไปแล้ว แต่กลับไม่มีการนำมาพิจารณาในการประชุม ครม. ฉะนั้นจึงไม่มั่นใจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สนช. และเลขาธิการ ครม. จะพิจารณารับฟังความคิดเห็นขององค์กรภาคประชาชน กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มธุรกิจเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มเกษตรกร มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ทางทฤษฎีมีช่องทางขอแก้ไขได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับ 2 เงื่อนไข คือ พลังของประชาชน กลุ่มธุรกิจ ผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จะสามารถทำอะไรที่ส่งเสียงถึงรัฐบาลได้ ขณะที่ สนช.จะรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเหล่านี้เข้าไปมากน้อยเพียงใดในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย
“มีโอกาสติดตามการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอ แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กลับไม่มีรัฐบาลใดเลยที่จะเตรียมการเปิดพื้นที่เท่ากับรัฐบาลปัจจุบัน
ขนาดรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีผู้แทนบริษัทข้ามชาติเข้าพบเช่นกันก็ยังไม่มีมติเลย หรือในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อนุญาตให้ทดลองปลูกได้ แต่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด ฉะนั้นเรื่องนี้จึงค่อนข้างแปลกประหลาดมาก” นายวิฑูรย์ กล่าว .
อ่านประกอบ:เอ็นจีโอ ชี้ 'ประยุทธ์ มองให้ออก GMO ปัญหาความมั่นคงชาติ ทำลายเกษตรกรรายย่อย
ปลุกผู้บริโภคตื่นรู้ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ชี้พืช GMOs กระทบฐานผลิตระบบอาหาร
มูลนิธิชีววิถีหวั่นรบ.ชั่วคราว สอดไส้ผลักดันปลูกพืชจีเอ็มโอถูกกฎหมาย
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/biothai.net