ร่างกม.Thai PBOถึงมือครม.แล้ว อดีตสปช.ขี้สำเร็จยาก อุปสรรคเพียบ
รองประธานสนช.ชี้ไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงานอิสระวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดิน ระบุกลไกเก่ายังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ด้านอดีตสปช.แนะคัดเลือกคนทำงานเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ย้ำต้องปราศจากฝ่ายการเมือง
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาเรื่อง “การจัดตั้งสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภาในบริบทสังคมและการเมืองไทย” ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง กล่าวถึงสาเหตุทำไมต้องมีสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา(Thai PBO) ว่า หลายประเทศติดกับดักในการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เงินจากหลายภาคส่วนไม่มีส่งกลับคืนมายังแผ่นดิน การตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณเป็นหน้าที่ของของฝ่ายประจำ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งฝ่ายบริหารมีข้อมูลงบประมาณ การวิเคราะห์ผลกระทบและบุคคลากรมากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้การทำงานขาดการถ่วงดุล ที่ผ่านมาการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน การติดตามการตรวจสอบงบประมาณแผ่นดินมุ่งเน้นไปในเรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ใช้จ่ายไปทุจริตหรือไม่ แต่หน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบเงินที่ใช้ไปว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมหรือไม่ สะท้อนประสิทธิภาพการใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน และระบบกลไกที่มีอยู่ทุกวันนี้ยังไม่สามารถตอบคำถามหรือสะท้อนประสิทธิภาพการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าได้
“ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่เป็นอิสระเข้ามาทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ร่างงบประมาณแผ่นดิน ตรวจสอบและต้องสะท้อนภายใต้ปรัชญาที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดผลมหาศาลกับประเทศชาติ”
สำหรับร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา นายสุรชัย กล่าวว่า เรื่องอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว รอครม.พิจารณาและส่งกลับมาให้สนช.อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภานั้นถือเป็นตัวช่วยหนึ่งให้กับรัฐสภา เนื่องจากการวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินทั้งในแบบเชิงโครงสร้าง ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ผลกระทบต่อการใช้จ่ายต่าง ๆ ตอบสนองกับผลของนโยบาย และจะสามารถนำพาประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่ จำเป็นต้องใช้การวิเคราะห์จากสายตาที่แหลมคม การที่จะหวังว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่ทุกคนจะติดอาวุธและมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ทั้งหมดไม่ได้ ฉะนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาจำเป็นที่จะต้องมีคนที่สนับสนุนวิเคราะห์เชิงนโยบาย เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้กับเขาได้
นอกจากนี้ ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า การตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาจะทำให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลความคิดเห็นจากนักวิชาการที่มีความเป็นกลาง อีกทั้งธนาคารโลกก็ให้ความสำคัญและมีการสนับสนุนเงินวิจัยให้กับหลายประเทศเพื่อสนับสนุนให้แต่ละประเทศมีองค์กรมามาสนับสนุนทางวิชาการที่เข้มแข็งและเพียงพอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำเป็นภายใต้การจัดตั้งองค์การนี้นักวิชาการจะต้องเผยแพร่ผลงานวิจัยให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าสนับสนุนการทำงานของกลุ่ม ส.ส. ส.ว. เพื่อให้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน
ส่วนคำถามที่ว่าแล้วทำอย่างไรถึงจะสำเร็จ อดีตสปช. กล่าวว่า หากมองในบริบทของเมืองไทยค่อนข้างยากเช่นเดียวกัน เพราะการทำงานของสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาจะทำงานได้ดี คือต้องได้นักวิชาการที่เป็นกลางจริง ๆ ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคใดพรรคหนึ่ง
“ต้องบอกว่านักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เขามา จะลำเอียงไม่ได้เลย เพราะถ้าลำเอียง หรือเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ไปไม่รอด และต้องคัดเลือกคนที่มีความสามารถสูง ๆ เข้ามา คือเน้นคุณภาพ ไม่ต้องเน้นปริมาณ ที่สำคัญคือต้องให้ค่าตอบแทนเขาอย่างเพียงพอ ถ้าจ่ายแบบราชการรับรองเขาไม่อยู่ ต้องให้เงินเขาตามผลงาน”
ขอบคุณภาพจากทีดีอาร์ไอ