เปิดหนังสือ อดีตเลขาฯ กศน.กรณีตรวจแบบเรียน เขาว่าขั้นตอนไม่เยอะกว่าปัจจุบัน?
“คนที่มานั่งดำรงตำแหน่งเลขา ฯ กศน. มองเก้าอี้นี้เหมือนเป็นเพียงแค่ทางผ่านที่จะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่าเท่านั้น จึงทำให้การบริหารงานของ กศน. มีปัญหา”
กรณี นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. ทุกจังหวัด เมื่อ 6 พ.ย. 2558 เรื่อง กำหนดแนวทางการจัดหาหนังสือเรียนรายวิชาเลือกของสถานศึกษาในสังกัด สำนักงาน กศน. โดยระบุสาระสำคัญ คือ
สำนักพิมพ์เอกชนจะต้องมีใบอนุญาตใช้หนังสือเรียน กศน.ในสถานศึกษา โดยผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามโดยปลัด ศธ. และให้สำนักงาน กศน.จังหวัด รวบรวมส่งให้ กศน.ภาค ตรวจกลั่นกรองคุณภาพก่อน
สำหรับหนังสือที่ ‘ผ่าน’ การพิจารณาจากสถาบัน กศน.ภาคแล้ว จะต้องดำเนินการจัดส่งไปยังสำนักงาน กศน. เพื่อให้เสนอต่อ ปลัด ศธ. ลงนามในใบอนุญาต ต่อไป
ส่วนกรณี ‘ไม่ผ่าน’ สถานศึกษาจะต้องนำกลับไปปรับปรุงแก้ไข ตามคำแนะนำของคณะกรรมการ ฯ
หนังสือดังกล่าว ระบุอย่างชัดเจนว่า ในระยะที่ยังไม่มีการตรวจสอบกลั่นกรองคุณภาพจาก กศน.ภาค ให้สถานศึกษาแก้ไขปัญหาโดย การนำต้นฉบับจัดทำเป็นเอกสารประกอบการเรียนการสอน (Sheet) แจกให้ผู้เรียนไปก่อนได้ หรืออาจจัดทำเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนอื่นได้ตามความเหมาะสม
ขณะที่ แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้าหนังสือรายหนึ่ง ยืนยันต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า "หนังสือสั่งการของ เลขาฯ กศน. ที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 58 ซึ่งเด็กจะเปิดเทอม วันที่ 15 พ.ย. 58 จะต้องนำหนังสือไปตรวจผ่านขั้นตอนอีกหลายขั้น สรุป เด็กคงไม่มีโอกาสได้ใช้หนังสือเรียนที่เป็นหนังสือเรียน (ไม่ใช่ Sheet) และไม่มีการตรวจรับรองจากใคร หน่วยงานไหน ทำให้คุณภาพในการเรียนลดลงอีก"
(อ่านประกอบ : โวย!คำสั่งบิ๊ก กศน.‘ตรวจแบบเรียน-แจกชีทได้’ทำเดือดร้อน แถมไร้คุณภาพ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบหนังสือซักซ้อมแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือของ กศน.ของนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขา ฯ กศน. (ขณะนั้น) ลงวันที่ 25 พ.ค. 2558 ถึง ผอ.สถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากบริษัทผู้ค้าหนังสือว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกีดกันและถูกเอารัดเอาเปรียบ ในส่วนที่มีการจัดซื้อจัดจ้างหนังสือแบบเรียน ตามหลักสูตร กศน. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก และต้องการให้ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด
โดย เนื้อหาสาระสำคัญ มีดังนี้
1.หนังสือที่จะต้องจ้างพิมพ์ เป็นหนังสือแบบเรียนที่ กศน. ได้ทำต้นฉบับไว้ เพื่อใช้ในสถานศึกษาสังกัด กศน. โดยทั้งหมดเป็นวิชาบังคับ และลิขสิทธิ์เป็นของสำนักงานปลัด ศธ. ส่วนการที่มีบริษัทนำหนังสือต้นฉบับไปพิมพ์ และนำมาขายให้สถานศึกษาสังกัด กศน. จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ตรวจสอบก่อนที่จะซื้อ และหากตรวจสอบพบว่า มีการดำเนินการเช่นนี้ จะถูกดำเนินการทางวินัย โดยทันที ส่วนบริษัทจะถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์
2.หนังสือวิชาบังคับ เป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์เอกชนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก กศน. รับรองว่า ให้ใช้เป็นแบบเรียนในสถานศึกษาในสังกัดได้ โดย เอกชนเป็นต้นฉบับ แต่ต้องจัดทำตามโครงสร้างหลักสูตรของ กศน. ก่อนจะนำมาขายให้กับสถานศึกษาในสังกัด
3.หนังสือรายวิชาเลือก
(3.1) สถานศึกษาจัดทำขึ้น และส่งให้สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นผู้ตรวจและผ่านการพิจารณา ถ้าจะนำไปใช้ต้องดำเนินการโดยวิธีจ้างพิมพ์
(3.2) เอกชนจัดทำขึ้น ตามเนื้อหาวิชาที่สถานศึกษากำหนด ต้องผ่านการตรวจของสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยก่อน บริษัทเอกชนจึงจะนำไปขายให้สถานศึกษาได้ ส่วนกรณีไม่ผ่านการตรวจ ถ้าจะนำไปใช้ในการเรียนการสอน ให้สำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา จำนวน 5 คน เพื่อพิจารณาให้ใช้ได้เป็นครั้ง ๆ ไป
4. กรณีการจ้างพิมพ์ การที่สถานศึกษากำหนดให้ ส่งหนังสือตัวอย่าง เพื่อประกอบการพิจารณา หรือมีการกีดกันไม่รับพิจารณาบริษัทที่ไม่ส่งผลงานการพิมพ์ หรือมีการกำหนดเวลาให้ส่งมอบหนังสือ น้อยกว่า 15 วัน ถือว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง หากเกิดความเสียหายต่อราชการจะถูกสอบสวนวินัยร้ายแรง
ทั้งนี้ แหล่งข่าวผู้ประกอบการค้าหนังสืออีกรายหนึ่ง ระบุว่า คนที่มานั่งดำรงตำแหน่งเลขา ฯ กศน. มองเก้าอี้นี้เหมือนเป็นเพียงแค่ทางผ่านที่จะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงกว่าเท่านั้น จึงทำให้การบริหารงานของ กศน. มีปัญหาอาจจะบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม สรุปการประชุมแนวทางการตรวจสื่อวิชาเลือก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 58 ระบุว่า ให้ กศน.ภาค ดำเนินการตรวจต้นฉบับสื่อรายวิชาเลือก ที่ส่งมาจาก กศน.จังหวัด โดย แบ่งการส่งตรวจ ฯ ปีละ 2 ครั้ง คือ ภาคเรียนที่ 1 ภายในวันที่ 15 ม.ค.ของทุกปี ทังนี้ กศน.ภาค จะดำเนินการตรวจภายในเดือน มี.ค.ของทุกปี และภาคเรียนที่ 2 ภายในวันที่ 15 ส.ค.ของทุกปี โดยจำดำเนินการภายในเดือน ก.ย. ของทุกปี และเมื่อ กศน.ภาค ดำเนินการตรวจ เสร็จสิ้นแล้ว สรุปผลประการใด ให้แจ้ง กศน.จังหวัด ทราบผล และเผยแพร่ทางเว็บไซต์
ทั้งหมด คือ ข้อมูลการเผยแพร่แนวทางการจัดหาหนังสือเรียนของเลขา ฯ กศน. ทั้งคนก่อนและคนปัจจุบัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งพบว่า มีขึ้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการค้าหนังสือหลายแห่งมองว่า ทำให้เกิดความล่าช้า และมีผลกระทบต่อผู้เรียน
อ่านประกอบ :
เลขาฯ กศน.สั่งสอบ ปมจัดซื้อหนังสือแบบเรียน ขีดเส้น7 วัน ลั่นทำผิดเจอฟ้องร้อง
ตารางรายชื่อ‘ผู้ซื้อซอง-ผู้ชนะ’จัดซื้อหนังสือ กศน.19 โครงการ-เงื่อนปมที่ยังไม่เคลียร์?
เจาะจัดซื้อหนังสือ กศน. ‘สำนักพิมพ์เอมพันธ์’ 17 สัญญา - 4 เครือข่ายเป็น'คู่เทียบ'
เปิด‘ไทยบุ๊คฯ-พวก’คู่เทียบจัดซื้อหนังสือ กศน.16 โครงการ อยู่บ้าน‘หลังเดียวกัน’
‘เอเซียมีเดียบุ๊ค-พวก’คว้าจัดซื้อหนังสือ กศน.10 ล.‘สนพ.เอมพันธ์’โผล่เป็นคู่เทียบ
เปิดตัว‘สนพ.เอมพันธ์’ผู้ค้าหนังสือ กศน.78 ล. แจงแค่ ‘เฉพาะกิจ’ - 2 หจก.คู่เทียบ
ร้องสอบปม กศน. 21 แห่งจัดซื้อหนังสือเรียนบริษัทใหญ่ -โยงใยบิ๊ก ก.ศึกษาฯ
สรรพากรบี้ภาษี‘เอกพิมพ์ไท’ผู้ค้าใหญ่แบบเรียน กศน.-พบคว้าอื้อ‘ราชบุรี-กำแพงเพชร’
พบ กศน.29 แห่งผูกจ้าง บ.ใหญ่พิมพ์แบบเรียน 121.3 ล.-ใช้‘ผู้สอบบัญชี’คนเดียวกัน