ไทยเล่นเกมเสี่ยง! ส่ง2คนจีนกลับประเทศ
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านความมั่นคง ชี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงเผชิญกับการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ หลังมีข่าวส่งตัวนักเคลื่อนไหวชาวจีน 2 คนกลับประเทศ ทั้งๆ ที่มีสถานะต้องได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์
หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของยูเอ็น หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง กรณีที่ไทยส่งคืนผู้เห็นต่างชาวจีน 2 คน คือ นายเจียง ยี่เฟย (Jiang Yefei) และ นายดอง กวงปิง (Dong Guangping) กลับประเทศ ทั้งๆ ที่มีเอกสารลงทะเบียนกับยูเอ็นเอชซีอาร์แล้วว่ามีสถานะเป็นผู้ต้องได้รับการคุ้มครอง
แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่งว่า มีความเป็นห่วงอย่างมากกับการบังคับส่งตัวผู้ที่ได้รับการรับรองแล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศ ทั้งที่รู้ว่าจะต้องถูกลงโทษหรือทำร้าย และว่าทั้งสองคนได้รับการรับรองแล้วจะให้ไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นนอกประเทศไทยและจีน โดยทั้งคู่ถูกจ้บขณะกำลังจะออกเดินทางในอีกไม่กี่วัน และส่งกลับอย่างไม่เปิดเผย
นอกจากยูเอ็นเอชซีอาร์แล้ว องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ออกแถลงการณ์ประณามในเรื่องเดียวกัน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บุคคลทั้งสองเคยถูกจับกุมและถูกละเมิดสิทธิในจีนมาก่อน จากนั้นจึงเดินทางเข้าประเทศไทย และได้รับการรับรองสถานะจากยูเอ็นเอชซีอาร์ แต่ทางการไทยกลับจับกุมทั้งคู่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ในข้อหาวีซ่าหมดอายุ และส่งกลับอย่างไม่เปิดเผย โดยครอบครัวของทั้งสองก็ไม่ทราบเรื่อง
พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การผลักดันชาวจีน 2 คนกลับประเทศต้นทาง เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย หลังทั้งสองถูกจับกุมได้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ในความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงต้องถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
ส่วนกรณีที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทางการสหรัฐ ออกมาประณามการส่งตัวชาวจีนทั้ง 2 คนว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทั้งสองได้สถานะผู้ลี้ภัยนั้น พล.ต.ท.ณัฐธร กล่าวว่า ทุกขั้นตอนดำเนินการไปตามกฎหมาย และทำตามหลักสากล เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงเผชิญกับการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ทั้งจากคู่ขัดแย้งโดยตรงในกรณีนี้ และมือที่สาม หลังจากเพิ่งเกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 3 เดือนก่อน คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20 คน และบาดเจ็บกว่า 100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน
เหตุระเบิดในครั้งนั้น มีการจับกุมคนเชื้อสายอุยกูร์ในฐานะมือระเบิดและผู้ร่วมขบวนการได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อศาล ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าการลอบวางระเบิดอาจเป็นผลจากการที่ทางการไทยตัดสินใจส่งชาวอุยกูร์ 109 คนให้กับรัฐบาลจีน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่ามูลเหตุจูงใจในการลอบวางระเบิดเป็นเรื่องการเสียประโยชน์ของขบวนการค้ามนุษย์
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล